เลือกตั้งและการเมือง

'ชลน่าน' ตอกกลับ 'ผู้การแต้ม' หลังชงถอดพ้น รมต. ยันกฎหมายยาบ้า 5 เม็ด กลั่นกรองจากทุกภาคส่วน

โดย thichaphat_d

9 มี.ค. 2567

651 views

วานนี้ (8 มี.ค.) พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 หรือกฎหมายใหม่ ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าการครอบครองยาเสพติดต่ำกว่ากำหนด เช่น ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดหรือยาไอซ์ไม่เกิน 100 mg เป็นการครอบครองเพื่อเสพ ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ป่วย โดยมี พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับหนังสือ

พล.ต.ต.วิชัย กล่าวว่า ตนมาในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เห็นว่ากฎกระทรวงนี้เป็นผลร้ายต่อประชาชนมากกว่าผลดี เพราะเป็นการเปิดช่องให้เกิดผู้ค้ารายย่อยจำนวนมากขึ้น จำนวนคนเสพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อสังคม สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดวางหลักไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ครอบครองยาเสพติดจะต้องได้รับโทษ ส่วนคนเสพก็เข้าสู่กระบวนการบำบัด แต่ทว่ากฎกระทรวงนี้เปิดช่องให้ผู้ครอบครองยาเสพติด 5 เม็ดเป็นผู้เสพ ต้องเข้าสู่กระบวนการบำบัด ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด

นอกจากนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวจะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตเรียกรับเงินจากผู้กระทำความผิด ครอบครองยาเสพติด ให้สามารถปรับข้อหาสถานหนักให้กลายเป็นสถานเบาได้ เมื่อกฎหมายเปิดช่องเช่นนี้ ก็จะทำให้เกิดผู้ค้ารายย่อยเพิ่มมากขึ้น ผู้ติดยาเพิ่มมากขึ้น ยาเสพติดถูกนำเข้ามามากขึ้น และส่งผลให้อาชญากรรมเกิดมากขึ้น

ดังนั้น ตนจึงถือว่ากฎกระทรวงดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยและขัดศีลธรรมอันดีของประชาชน อีกทั้งขัดต่อกฎหมายอื่นๆ ได้แก่ ประมวลกฎหมายยาเสพติด วันนี้ตนจึงมายื่นหนังสือให้ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนินการแก้ไขปัญหาและตรวจสอบเรื่องนี้ก่อนพิจารณาส่งศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนกฎกระทรวงดังกล่าวไม่ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

พล.ต.ต.วิชัย ระบุต่อว่า ในฐานะที่ตนเป็นอดีตนายตำรวจ การลดอาชญากรรมและปัญหายาเสพติดที่ถูกต้อง คือต้องลดจำนวนผู้เสพลง ไม่ใช่เพิ่มจำนวนยาที่ทำให้ถูกกฎหมาย กฎกระทรวงฉบับนี้ไม่ก่อประโยชน์อันใดแก่ประชาชน เพราะถึงขนาดทำให้เฮโรอีน ซึ่งถือเป็นยาเสพติดร้ายแรงและไม่สามารถบำบัดได้ ต้องมาพิจารณาว่า หากครอบครองไม่เกิน 300 มิลลิกรัม ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้เสพนั้น ตนมองว่า ยาเสพติดต่อให้เข้าสู่ร่างกายก็ถือว่าเป็นผู้เสพแล้ว จะมากำหนดจำนวนทำไม อีกทั้งผลงานวิจัยที่บอกว่า หากเสพเกิน 5 เม็ดขึ้นไป จะทำให้ผู้เสพเกิดอาการคลุ้มคลั่งนั้น ตนมองว่านี่เป็นเรื่องในเชิงวิชาการ แต่ในความเป็นจริงนั้น มันไม่มีใครที่เสพเกินห้าเม็ดทีเดียว มีแต่เสพวันละเม็ดสะสมไปเรื่อยๆ จนทำให้เกิดอาการคลุ้มคลั่ง จะมาพูดจาสวยหรูว่า มียาเสพติดเม็ดเดียวถือว่าจำหน่าย มันไม่ใช่ มียาเสพติดแค่เสี้ยวเดียวก็ถือว่าจำหน่ายได้ ต้องไปดูกฎหมายให้ชัดว่า แค่การแจกจ่ายก็ถือว่าเป็นการจำหน่าย

ส่วนที่ว่ามีกฎกระทรวงฉบับนี้เพื่อลดปริมาณคนล้นคุกนั้น ตนมองว่ายิ่งทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะกลายเป็นการปล่อยให้คนเสพยาหลุดออกมาใช้ชีวิตในสังคม ก็ทำให้อาชญากรรมพุ่งขึ้น ตอนนี้แต่ละสถานีตำรวจต้องควบคุมคนคุมคลั่ง 4-5 รายต่อวัน และสิ่งที่น่าสงสัยก็คือ ถ้ามีนโยบายนำผู้เสพไปบำบัด แล้วทางรัฐบาลมีข้อมูลตัวเลขไหมว่าสามารถบำบัดผู้เสพยาเสพติดไปแล้วเท่าไร และศูนย์บำบัดยาเสพติดอยู่ที่ไหน ดังนั้นตนยืนยันว่า จะต่อสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุด

----------------------------------------------

'ชลน่าน' ตอบกลับ 'ผู้การแต้ม' ยันทุกขั้นตอนทำตามกฎหมาย บอกที่ผ่านมาลงพื้นที่ตลอด จนเป็นข้อมูลคนเสพกว่า 1.9 ล้านคนในชุมชน 

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวตอบโต้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือผู้การแต้ม ว่า ประเด็นที่ว่ากฎกระทรวงขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น จริงๆ กฎกระทรวงออกตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 107 ซึ่งให้ รมว.สาธารณสุข กำหนดปริมาณยาเสพติดฯ ซึ่งกฎหมายให้อำนาจ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปออกกฎกระทรวงได้เลย ต้องผ่านกระบวนการ มีคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้ง ป.ป.ส. ทหาร ตำรวจ แพทย์ มาร่วมยกร่าง โดยจะมีกำหนดปริมาณชัดเจนตามประเภทยาเสพติด ซึ่งจริงๆ มี 20 รายการ โดยมีการกำหนดปริมาณให้ได้ แต่ละตัวจะไม่เหมือนกัน

“คณะกรรมการยกร่างจะพิจารณาเป็นตัวๆ ไป เช่น ยาบ้า มีการพิจารณาตั้งแต่ 10 เม็ด 15 เม็ด 5 เม็ด หรือ 1 เม็ด โดย 15 เม็ด กับ 1 เม็ด เคยเสนอแต่ไม่ผ่าน ดังนั้น ตัวเลขสุดท้ายคณะกรรมการกำหนดอยู่ที่ 5 เม็ด ซึ่งเหมาะสมที่สุด และอิงจากฐานเดิมที่เคยกำหนดและประกาศใน คสช. ปี 2557 ประกาศ คสช.ฉบับที่ 108/2557 กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษประเภท 1 คือ ยาบ้าอยู่ที่ 5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่าเอาไปเสพ และให้เข้าสู่การบำบัด มีที่มาที่ไปเยอะ” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จริงๆ เรื่องยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ก็มีเงื่อนไข แต่หากครอบครองย่อมมีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ซึ่งชัดเจนอยู่แล้ว จะกี่เม็ด 1 เม็ด 2 เม็ด 5 เม็ด ยิ่งหากไปตรวจเจอว่า มีพฤติการณ์ค้าอีก แต่หากเสพก็จะเข้าสู่บำบัดได้ หากสมัครใจ การบำบัดก็ไม่ใช่ว่าบำบัดแล้วจบ จะมีขั้นตอนต่างๆ อีก อย่างไรก็ตาม การออกกฎกระทรวงฯ มีขั้นตอน มีการสอบถามความคิดเห็นประชาชน 15 วัน ซึ่งแสดงความเห็นหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สัดส่วนเห็นด้วย 5 เม็ดว่าเหมาะสม

“พวกที่ออกมาคัดค้านช่วงหลัง ช่วงที่ให้แสดงความคิดเห็น ไม่เห็นออกมาแสดงความคิดเห็นเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรารับฟังความเห็นแล้ว สรุปร่างก็นำเข้า ครม. จนมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566 หลังจากนั้นส่งให้กฤษฎีกาตรวจร่างดังกล่าว จากนั้นผมลงนามวันที่ 31 ม.ค. และประกาศในราชกิจจาฯ วันที่ 9 ก.พ. 2567 จะเห็นว่าเราทำตามขั้นตอน ส่วนจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ผมว่าจะขัดหรือไม่ จริงๆ ศาลจะไม่วินิจฉัยกฎหมายลูก แต่จะวินิจฉัยตัวกฎหมายใหญ่ที่ผ่านรัฐสภา” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนการยกเลิกกฎกระทรวงนั้น การออกมาก็ตามขั้นตอนที่กล่าว ซึ่งผู้มีอำนาจ ถ้าจะปรับเปลี่ยนก็จะเป็นไปตามขั้นตอนดังกล่าว โดยยกร่างมาใหม่ ผ่านความคิดเห็นต่างๆ และเสนอ ครม. ก็จะมีขั้นตอนอีก ส่วนกรณีจะให้ลงไปถามประชาชนเรื่องนี้ จริงๆ ตนลงพื้นที่มาตลอด ถามชาวบ้านเรื่องนี้ตลอด ปัจจุบันได้ลงไปดูเรื่องการบำบัดรักษา ซึ่งพบว่ายังมีกว่า 1.9 ล้านคน ที่แฝงอยู่ในชุมชน หากไม่เอากลุ่มนี้ออกมาจากวงจรเดิม คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นเครื่องมือของผู้ค้ารายย่อยทันที เราต้องรีบแก้ไข นอกจากบำบัดรักษา ยังต้องร่วมกับชุมชนในการช่วยเหลือ เรียกว่า ชุมชนล้อมรักษ์ มีสถานบำบัด โดยหากมีอาการก็เข้าบำบัดสถานพยาบาล มินิธัญญารักษ์ ซึ่งกลุ่มนี้มีอาการ 4 แสนกว่า แต่ไม่มีอาการอีกกว่า 1.4 ล้านคน เราต้องปลุกชุมชน

“อย่างท่านนายกฯ บอก 3 ป. ปลุกชุมชน อย่างวันที่ 18 ก.พ. นี้ ตนจะลงไป จ.น่าน ที่มีการทำชุมชนล้อมรักษ์ด้วย ทั้งหมดคือ การช่วยให้พวกเขากลับสู่สังคมได้ ไม่เช่นนั้นหากยังทำแบบเดิมๆ ตีตราเป็นคดี พอหาย จะกลับไปสมัครงานก็ไม่มีใครรับ ถูกตีตราขี้ยา แล้วจะกลับคืนอย่างไร แต่กฎหมายนี้ เราต้องการให้เขากลับมาได้ เน้นฟื้นฟูสังคม คือ ฟื้นฟูสุขภาพ ปัญหา และอาชีพ เราต้องเติมให้พวกเขา 3 เรื่อง มีอาชีพกลับคืนสู่สังคม และขอย้ำว่า หากสมัครใจไปบำบัด แต่หากหนี ก็ยังเป็นคดี และยิ่งไม่สมัครใจบำบัด ก็จะเป็นคดีอยู่แล้ว ดังนั้น จะเห็นว่า หากเรากันคนกลุ่มนี้กว่า 1.4 ล้านคน ก็จะตัดวงจรจากผู้ค้ารายย่อยได้” นพ.ชลน่าน กล่าว

https://youtu.be/a3S4tJoecek

คุณอาจสนใจ

Related News