เลือกตั้งและการเมือง

'ไอติม' อภิปรายชวนผ่าตัดหัวใจงบ ก.ศึกษาฯ 'วิโรจน์' ซัดอยู่ในยุค รมต.ชื่อเพิ่มพูน แต่การศึกษาไทยถดถอย

โดย thichaphat_d

6 ม.ค. 2567

49 views

'ไอติม' ชวนผ่าตัดหัวใจงบการศึกษา ซัดจัดงบไม่แก้วิกฤต ชงผ่าตัดใหญ่-ปฏิรูปกระทรวง ตั้งข้อสังเกต สส.เขตมาจากพรรคเดียว รมต. ได้งบสูงพุ่ง 24% แนะ เพิ่มงบอุดหนุนเด็กยากจนที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 มาถึงช่วงบ่าย ในเวลา 12.57 น. นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  อภิปรายงบประมาณด้านการศึกษา โดยระบุว่า วิกฤตที่ตนเชื่อว่า สส.ทุกคนในที่นี้ และประชาชนทุกเฉดสีที่ไม่ได้อยู่ในสภาแห่งนี้ เห็นตรงกันว่าเป็นวิกฤตจริงและเป็นวิกฤตลำดับต้นๆ นั่นคือ วิกฤตด้านการศึกษา ซึ่งผลการประเมินระบบการศึกษาหรือ PISA ได้ตอกย้ำ 3 วิกฤตการศึกษาไทยที่เรื้อรัง ได้แก่

1.วิกฤตสมรรถนะ คือ การที่เด็กไทยมีทักษะสู้ต่างชาติไม่ได้และลดลงมาเป็นอันดับที่ 60 จาก 70 กว่าประเทศ

2.วิกฤตความเหลื่อมล้ำที่เด็กไทยมีโอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน

3.ความเป็นอยู่ คือ นักเรียนไม่มีความสุขในโรงเรียน ซึ่งไทยอยู่ในลำดับต้นๆ เรื่องความทุกข์ของนักเรียนไทย และมีความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยในโรงเรียนเป็นอันดับ 4 ของโลก

นายพริษฐ์ ระบุว่า ที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่ว่าไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา แต่หากเราไม่เร่งจัดการเรื่องการจัดสรรทรัพยากร วิธีการใช้เงิน เราจะเพิ่มงบประมาณอีกกี่ล้านบาท เราจะทอดผ้าป่าด้านการศึกษาอีกกี่ครั้ง ก็แก้ปัญหาด้านการศึกษาในประเทศนี้ไม่ได้  เหมือนคนไข้ที่มีปัญหาด้านหัวใจจะเพิ่มเลือดให้เขาเท่าไหร่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ หากเราไม่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเขา

ตนจึงชวนทุกคนมาร่วมผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่มีชื่อว่างบประมาณด้านการศึกษา ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ห้องตามประเภทการใช้จ่าย  

โดยหัวใจห้องที่ 1 มีชื่อว่า งบบุคลากร เป็นห้องที่ใหญ่ที่สุด มีขนาด 64%

ห้องที่ 2 ชื่อเงินอุดหนุนนักเรียนมีขนาด 26% โดยครอบคลุมถึงการเรียนฟรี 15 ปีหรือโครงการ กศศ.

ห้องที่ 3 ห้องงบลงทุน ที่ครอบคลุมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ห้องเรียนต่างๆ มีขนาด 4%

ห้องที่ 4 งบนโยบายมีขนาด 6%  แม้ปีนี้จะมีงบประมาณเพิ่มมา 1,000 กว่าล้านบาท  แต่จะเห็นความพยายามที่รัฐบาลลดงบลงทุนลง เพื่อไปเติมให้ห้องอื่น โดยเฉพาะห้องงบอุดหนุนนักเรียน ซึ่งหากจะดูแค่นี้ไม่เพียงพอ เพราะปีศาจอยู่ในรายละเอียดเสมอ

นายพริษฐ์ กล่าวว่า สำหรับห้องงบนโยบายนั้น เป็นห้องที่รัฐบาลมีอำนาจในการปรับเปลี่ยนการจัดสรรหรือออกแบบงบประมาณใหม่ได้ทันที โดยงบในส่วนนี้ถูกกระจายไปให้โครงการต่างๆ ในลักษณะเป็นเบี้ยหัวแตก  ตนเห็นด้วยที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการศึกษา แต่วันนี้ที่ท่านมาของบจากสภาฯ ตนต้องขอให้รับประกัน 2 อย่าง คือ การพัฒนาแพลตฟอร์มจะไม่ทำซ้ำซ้อนกันในแต่ละหน่วยงานและกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับจัดทำแพลตฟอร์มจะดำเนินการโปร่งใส  บริษัทที่จะเข้ามาพัฒนาแพลตฟอร์มต้องถูกคัดเลือกจากผลงานและความคุ้มค่าจากสิ่งที่เสนอ ไม่ใช่ความสัมพันธ์ใกล้ชิดของผู้บริหาร ส่วนปัญหาที่เจอในงบส่วนนี้ คือโครงการที่ไม่ควรมีแต่ยังมีต่อ เช่น โครงการรวมมิตรความดี ที่ทำให้เด็กจบออกมาเป็นคนดี เกี่ยวข้องกับจริยธรรม คุณธรรม ซึ่งปีนี้เพิ่มขึ้นมา 160 ล้านบาท ทั้งนี้ ตนไม่ได้ต่อต้านการสร้างศีลธรรม สุจริต  แต่ต้องทบทวนในประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวข้อง เช่น แป๊ะเจี๊ยะ, ไม่ลงโทษครูที่ทำผิดจริยธรรมหรือกฎหมาย เป็นต้น

ส่วนห้องงบลงทุนที่ตนกังวล คือ ใช้เกณฑ์อะไรที่จะปรับงบลงทุนส่วนไหน และใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินว่าจังหวัดไหนจะได้งบมากกว่าหรือน้อยกว่า แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าจังหวัดไหนที่มี สส.เขตมาจากพรรคเดียวกับรัฐมนตรีจึงได้งบสูงถึง 24% แต่จังหวัดที่ไม่มีสส.เขตที่มาจากพรรคเดียวกับรัฐมนตรีที่ดูแลกระทรวงศึกษาจึงได้งบน้อยกว่า ตนหวังว่าการพิจารณาให้งบแต่ละจังหวัดจะอยู่บนพื้นฐานความเดือดร้อนของนักเรียน  โดยไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนกันทางการเมือง  

สำหรับห้องเงินอุดหนุนนักเรียนนั้น เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐบาลจัดสรรงบในส่วนนี้มากขึ้นถึง 5.2% แต่ก็ยังห่างไกลจากการศึกษาที่ฟรีจริง เพราะอย่างเช่น ใน 100 บาทที่รัฐบาลให้นั้น เป็นเงินของรัฐบาล 70 บาทและผู้ปกครองยังต้องจ่ายเพิ่มอีก 30 บาท จึงมีข้อเสนอ 3 อย่างคือ 1.เพิ่มเงินอุดหนุนให้นักเรียนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา  //  2.การตัดค่าใช้จ่ายด้านศึกษาที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อลดภาระผู้ปกครอง เช่น การลดการบังคับใส่ชุดลูกเสือเนตรนารี  //  3.ปรับวิธีการใช้งบอุดหนุนไปที่โรงเรียน

ส่วนห้องงบบุคลากรนั้น ควรแก้ปัญหาเรื่องครูกระจุกและแก้ปัญหาอำนาจกระจุก โดยการปฏิรูปกระทรวง เพื่อให้การทำงานที่ซ้ำซ้อนลดน้อยลงมาและกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาอย่างเต็มที่

“ย้ำว่าการแก้วิกฤตการศึกษาต้องผ่าตัดโครงสร้างใหญ่ คือ เรื่องบุคลากร คืนครูให้ห้องเรียน รวมถึงปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงลดความซ้ำซ้อน และกระจายอำนาจ, จัดทำหลักสูตรการศึกษาใหม่, กระจายงบลงทุนด้านการศึกษาให้กับจังหวัด ขณะที่เงินอุดหนุนนั้นต้องเพิ่มให้กับเด็กยากจนที่มีแนวโน้มหลุดจากการศึกษา วิกฤตการศึกษาที่เผชิญแก้ไม่ได้จากการจัดงบประมาณแบบเดิมๆ แต่ต้องผ่าตัดใหญ่ รื้อโครงสร้าง โดยไม่ต้องรอให้พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลเพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้ลูกหลาน” นายพริษฐ์ กล่าว

-----------------------------------------------------

'วิโรจน์' สาวไส้งบ ก.ศึกษาฯ หลังคะแนน PISA ไทยรั้งท้าย ต่ำสุดในรอบ 20 ปี นับวันยิ่งถ่างออกจากประเทศกลุ่มพัฒนาแล้ว ลั่นอยู่ในยุค รมต.ชื่อเพิ่มพูน แต่การศึกษาถดถอย

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล  เป็นอีกคนที่อภิปรายงบของกระทรวงศึกษาธิการ โดยลุกขึ้นอภิปรายในช่วงเวลา 13.34 น.  กล่าวถึงวิกฤติการศึกษาไทยที่ตกต่ำถดถอยแนวโน้มคะแนนประเมินผลนักเรียนระหว่างประเทศ หรือ PISA ของประเทศไทย ลดต่ำลงเรื่อยๆ อย่างปี 2022 ที่ผ่านมา ไทยยังอยู่ในกลุ่มรั้งท้ายเหมือนเดิม แต่ที่น่าตกใจคือเราได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ทั้งการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เราเข้าร่วมการทดสอบตั้งแต่ปี 2000 ผ่านมา 20 กว่าปีแทนที่สอบแล้วจะได้คะแนนดีขึ้นนับวันมีแต่สาละวันเตี้ยลง หัวทิ่มลงไปเรื่อยๆ แบบโงหัวไม่ขึ้น นำซ้ำผลต่างคะแนนระหว่างประเทศไทยกับประเทศ OECD หรือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว นับวันจะทิ้งห่างไปเรื่อยๆ เหมือนเข้าสอบไปอย่างนั้น ไม่อ่านหนังสือ 20 กว่าปี จมปลักอยู่กับปัญหาเดิม จนรัฐบาลมองปัญหากลายเป็นเรื่องปกติแล้ว หลอนตัวเองว่าการศึกษาแบบนี้เป็นอัตลักษณ์ของประเทศไปแล้ว จึงถือเป็นวิกฤติระบบการศึกษา

ยิ่งมาฟังการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีศึกษาธิการ ยิ่งต๊กกะใจ และยืนยันว่าเราอยู่ในภาวะวิกฤตจริงๆ คงไม่เทียบกับมาตรฐานประเทศอื่น นี่เป็นปัญหาที่คนระดับรัฐมนตรีมองปัญหาไม่เป็นปัญหา แต่เป็นสไตล์ จึงไม่แปลกใจที่งบกระทรวงศึกษาในปี 67 จะเป็นงบที่ทำงานแบบเดิมๆ ถ้าคาดหวังการเปลี่ยนแปลงอะไรก็คงจะยากลำบาก

“ทุกวันนี้การศึกษาไทย ไม่ใช่แค่เดินตามประเทศอื่น แต่เรากำลังเดินหลงทาง  เดินตามหลังแย่นะ แต่มองไปข้างหน้าก็ยังเจอผู้เจอคน อาจจะถึงช้าหน่อย แต่ก็ยังไปถึงจุดหมาย แต่ที่รัฐมนตรีบอกว่า ของเราเป็นตัวเราเอง นี่คืออะไรรู้หรือไม่ คือ มองข้างหน้าก็ไม่เจอใคร มองไปข้างหลังก็ไม่เจอคน มองซ้ายเจอฮวงซุ้ย มองขวาเจอป่าช้า แต่ยังจะเดินหน้าต่อไป ยิ่งเดินต่อเสบียงก็ร่อยหรอ ยิ่งเดินเข้ารกเข้าพง เหมือนใช้งบไปเรื่อยๆ แต่ไม่สะท้อนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา”

นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า ตอนนี้เราอยู่ในยุค ที่มีรัฐมนตรีชื่อเพิ่มพูน แต่การศึกษาไทยถดถอยล้าหลัง พร้อมชี้ให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เมื่อเปรียบเทียบคะแนนระหว่างโรงเรียนสาธิต ที่สังกัด อว. กับโรงเรียนที่อยู่ในสังกัด สพฐ. นับวันมีแต่จะถูกถ่างให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะโรงเรียนสาธิตสามารถออกแบบหลักสูตรได้เอง ในขณะที่โรงเรียน สพฐ. มีจำนวนไม่น้อยที่เต็มไปด้วยอำนาจนิยมและการบูลลี่  มีวิชาที่บังคับให้เรียน เรียนเยอะสอบแยะ นับวันจะมีแต่ดึงเด็กออกมานอกห้องเรียน เพื่อมาทำกิจกรรมสร้างหน้าสร้างตาให้ผู้บริหารสถานศึกษา รอคนส่วนกลางมาตัดริบบิ้น

นอกจากนี้ การบูลลี่ในโรงเรียนยังส่งผลเสียต่อการสอบ PISA ในวิชาวิทยาศาสตร์ 35-55 คะแนน แต่ในงบปี 67 ตนไม่เห็นงบที่จะใช้แก้อำนาจนิยมและการบูลลี่ในโรงเรียน  เท่ากับว่ารัฐบาลจะปล่อยให้มีการบูลลี่กันต่อไป แก้กันแบบตามมีตามเกิด

นายวิโรจน์ ยังชี้ให้เห็นถึงงบดำเนินงานและรายจ่ายอื่นๆ ที่ถือเป็นตัวแสบที่สุด กว่า 8,256 ล้านบาท ซึ่งแฝงไปด้วยโครงการที่ไม่จำเป็นและทับซ้อนกับกระทรวงอื่น ซึ่งบางโครงการอาจมีการหวังเงินทอนด้วย เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจากวงเงินต้องสงสัยนี้ ตัดได้อย่างน้อย 2,117 ล้านบาท

สำหรับวิกฤตโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ประสบปัญหางบไม่พอ ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ แต่กระทรวงศึกษาไม่เคยคิดแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เหมือนป่วยเป็นโรคร้าย แต่ให้กินแค่ยาพารา ปล่อยให้ลุกลามตายไปเองตามยถากรรม  การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กไม่เป็นไปตามเป้า สะท้อนว่ารัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้เลย

------------------------------------------

‘เพิ่มพูน’ ยันรัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเรียนรู้ทุกช่วงวัย วางเป้าหมาย "เรียนดี มีความสุข" ยอมรับมีปัญหามาจากรัฐบาลที่แล้ว งบลงทุนน้อยเป็นความท้าทาย

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลุกขึ้นชี้แจงประเด็นต่างๆ  โดยระบุว่า เรื่องที่สมาชิกอภิปรายเป็นเรื่องที่เกิดก่อนรัฐบาลนี้จะเข้ามา  แต่อย่างไรก็ตามทุกข้อห่วงใย ขอชี้แจงว่า งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ 5 ปีย้อนหลัง มีแนวโน้มที่ลดลง แม้ในปีนี้รัฐบาลมีการปรับเพิ่มงบประมาณ 0.31% ถ้าดูโครงสร้างงบประมาณส่วนใหญ่จะไปอยู่ที่งบบุคลากรและเงินอุดหนุน รวมถึงค่าใช้จ่ายเงินลงทุนอีกส่วนหนึ่ง  ซึ่งจากที่มีสมาชิกอภิปรายว่าเป็นปัญหา แต่ตนเชื่อว่า มันคือความท้าทายด้านการศึกษา ที่เราจะต้องประเมินร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเสมอภาคทางการศึกษา หรือผลคะแนน PISA ที่ลดลง ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก รวมถึงบุคลากรคุณภาพการศึกษาที่ไม่เพียงพอ

ที่สำคัญที่สุด คือ ความคาดหวังของสังคมต่อการศึกษาไทย  ซึ่งรัฐบาลนำมาเป็นแนวคิดที่จะกำหนดงบประมาณในการแก้ไข  ยืนยันว่า ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ กระทรวงการศึกษาไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่พยายามสร้างโอกาสการศึกษา โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก พร้อมกำหนดนโยบาย เพื่อให้นักเรียนเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีความรู้ที่เท่าเทียมกัน  ภายใต้นโยบายเรียนดี มีความสุข เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา และขยายการเรียนรู้ทุกช่วงวัย  อีกทั้งกระทรวงศึกษาฯมีความตั้งใจที่จะนำระบบสอบเทียบกลับมาใช้อีกครั้ง  เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ที่ศึกษานอกระบบสามารถกลับมาสอบเทียบได้


https://youtu.be/rGHNC7e1jJU

คุณอาจสนใจ

Related News