เลือกตั้งและการเมือง
เปิดแถลงการณ์ร่วมองค์กรนักศึกษา ประณามคำวินิจฉัย 'นายกเถื่อน' ชี้เป็นการย่ำยีวงการนิติศาสตร์
โดย weerawit_c
2 ต.ค. 2565
1.3K views
วานนี้ (1 ต.ค.) สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมองค์กรนักศึกษา 15 องค์กร เรื่องคำวินิจฉัย “นายกเถื่อน” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายหลังจากที่วานนี้ (30 ก.ย.) มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อนั้น
สำหรับ แถลงการณ์ร่วม 15 องค์กรนักศึกษา ระบุว่า ตามคําวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2565 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อไปได้ แม้ว่าจะดํารงตําแหน่งครบ 8 ปีไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2565 ซึ่งหมายความว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถดํารงตําแหน่งถึงวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2568 หรือดํารงตําแหน่ง ต่อเนื่องถึง 10 ปี 7 เดือน และ 12 วัน
ศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารง ตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง” ชี้ให้เห็นว่า การดํารงตําแหน่งของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ครบ 8 ปี โดยให้เริ่มนับวาระ การขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2560 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลบังคับใช้ มิใช่วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นวันที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มทําหน้าที่เป็นนายกรัฐมนตรีตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
อย่างไรก็ดี ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ความว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลัง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นําความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดํารงตําแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม” เป็นการรับรองหลักการความต่อเนื่อง ของนายกรัฐมนตรีหรือไม่ การเริ่มนับเวลาดํารงตําแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 เป็นการละเลยเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่
นอกจากนี้ พิจารณาจากเจตนารมณ์ตาม มาตรา 158 วรรคสี่ การกําหนดระยะเวลาก็เพื่อมิให้ผูกขาด อํานาจในทางการเมือง (สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ, 2562, น. 275) รวมทั้งเหตุผลในการยึดติดอํานาจมากเกินไป ซึ่งทั้งสองเหตุผลเป็นเจตนารมณ์พื้นฐานของกรอบการใช้อํานาจ การเริ่มนับเวลาการดํารงตําแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ พ.ศ.2560 เป็นการพิจารณาเพียงตัวอักษร แต่กลับมิได้เหลียวแลสภาพแวดล้อมในความเป็นจริง
สุดท้าย หากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มดํารงตําแหน่งตั้งแต่ พ.ศ.2560 ก็กลายเป็นว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนในฐานะนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ใช่หรือไม่
ในตอนท้ายของแถลงการณ์ ระบุอีกว่า องค์กรนักศึกษาทั้ง 15 องค์กร ขอประณามการใช้กฎหมายที่ไม่เป็นไปตามหลักการ และเพื่อประโยชน์ของประชาชนไทย ซึ่งเป็นการย่ำยีวงการนิติศาสตร์ ซึ่งคําพิพากษาที่เคยประกาศออกไปจะคงอยู่เรื่อยไป
รับชมทางยูทูปที่ : https://youtu.be/ZIrluTGM0sI
แท็กที่เกี่ยวข้อง แถลงการณ์ ,นายกเถื่อน ,แถลงการณ์ร่วมองค์กรนักศึกษา