เลือกตั้งและการเมือง

เปิดคำวินิจฉัย ‘ทวีเกียรติ’ 1 ใน 3 เสียงข้างน้อย ชี้ ‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกฯครบ 8 ปีแล้ว หลังศาลรธน.นับจากปี 60

โดย petchpawee_k

1 ต.ค. 2565

356 views

เปิดคำวินิจฉัย ‘ทวีเกียรติ’ 1 ใน 3 เสียงข้างน้อย ชี้ ‘ประยุทธ์’ เป็นนายกฯครบ 8 ปีแล้ว หลังศาล รธน.ชี้วาระ 8 ปีนับจากปี 60


เมื่อวานนี้ (30 ก.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ เพราะยังไม่ถือว่าครบวาระ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญกำหนดแม้จะดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2557 แต่ต้องนับดระยะเวลา นับตั้งแต่ รธน. 60 บังคับใช้


โดยศาลรัฐธรรมนูญ ให้เหตุผลว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว 2557 เมื่อ 24 ส.ค. 2557 แต่การแต่งตั้งดังกล่าว เป็นการแต่งตั้งตามมติ สนช. จึงเห็นได้ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ นายกรัฐมนตรี ตามมติของสภาผู้แทนราษฎร ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ ส่วนที่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 จะบัญญัติให้ ครม. ที่บริหารราชการแผ่นดิน อยู่ก่อน รัฐธรรมนูญ 2560 เป็น ครม.


ตามบทบัญญัติแห่ง รัฐธรรมนูญ 2560 จนกว่า จะมี ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้งครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 กรณีนี้เป็นปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า ครม. ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 เป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยหรือไม่

โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 264 แม้ ครม. จะเข้าสู่ตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่น แต่ย่อมเป็น ครม. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ อีกทั้ง มาตรา 264 ดังกล่าว มีความมุ่งหมายตามหลักการบังใช้ใช้กฎหมายคือ กฎหมายจะมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ


จากหลักกฎหมายดังกล่าว จึงวินิจฉัยได้ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 เป็น นายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วย และบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้กำหนดให้ นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง ย้อนหลังได้


ส่วน เรื่องบันทึกการประชุมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 500 ระบุให้นับระยะเวลา รวมกับระยะเวลาก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการประชุมดังกล่าวเป็นการพิจารณาความมุ่งหมายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ และ เป็นเพียง การอธิบายแนวความคิดของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น และเป็นการพิจารณาหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ อีกทั้งแนวคิดดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุไว้ในความมุ่งหมายด้วย


 ดังนั้น การกำหนดเวลา 8 ปี จึงมีความหมายเฉพาะ ตามรัฐธรรมนูญ2560 นั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ ตั้งแต่ 6 เม.ย.2560 และ นายกรัฐมนตรี ซึ่ง บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงถือเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 นับวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ด้วย


 ผู้ถูกร้องจึงดำรงนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ถึง 24 ส.ค. 2565 และเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ครบกำหนดเวลา 8ปี ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด


ศาลจึงมีมติเสียงข้างมาก 6:3 เห็นว่าความเป็นรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรี จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ


 สำหรับ มติ 6 ต่อ 3 เสียง ประกอบด้วย 6 เสียงข้างมาก ประกอบด้วย


1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, และ 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน


ส่วน 3 เสียงข้างน้อย ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์, และ 3.นายนภดล เทพพิทักษ์
----------------------------------------------------

ด้าน มติชนออนไลน์ ได้เปิดเผย คำวินิจฉัย ของ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ 1 ใน 3 เสียงข้างน้อย ซึ่งวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 และครบ 8 ปีไปแล้วเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 โดยระบุตอนหนึ่งว่า การที่บ้านเมืองอยู่ได้โดยปกติสุขมีความสงบเรียบร้อย มิใช่เป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมาย แต่เพียงอย่างเดียวซึ่งมีผลต่อการควบคุมพฤติกรรมของบุคคลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากต้องอาศัยสำนึก ที่ดี (good conscience) จริยธรรม (moral) และสิ่งที่พึงประพฤติปฏิบัติ (tradition) ซึ่งมีผลควบคุมพฤติกรรมของบุคคลเป็นส่วนใหญ่ด้วย หลายเรื่องที่แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่ผิดศีลธรรม (not illegal but it is wrong or immoral) ก็ไม่ควรทำ เช่น การพูดเท็จอันเป็นต้นเหตุแห่งการปิดบังหรือบิดเบือน ความจริงทั้งมวล แม้ส่วนใหญ่จะไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย

แต่ผู้ที่มีจริยธรรมหรือมีจิตสำนึกที่ดีแม้รู้ว่าไม่ผิดกฎหมายก็จะไม่ทำ ยิ่งหากเป็นผู้นำหรือผู้ที่มีตำแหน่งระดับสูงเป็นที่เชื่อถือของประชาชนยิ่งต้องประพฤติปฏิบัติให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป

บางครั้งเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญที่หาทางออกไม่ได้ เหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการที่มีผู้ไม่นำพาหรือไม่นับถือหรือยำเกรงกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมือง ทุจริตฉ้อฉลบิดเบือนอำนาจหรือขาดความตระหนักสำนึกรับผิดชอบต่อประเทศชาติและประชาชนจนทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผลซึ่งจำต้องป้องกันและแก้ไขด้วยการปฏิรูปการศึกษาและการบังคับใช้กฎหมายและเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบคุณธรรมและจริยธรรม แต่เหตุอีกส่วนเกิดจากกฎเกณฑ์การปกครองบ้านเมืองที่…ให้ความสำคัญแก่รูปแบบและวิธีการยิ่งกว่าหลักการพื้นฐานในระบบประชาธิปไตยหรือไม่อาจนำกฎเกณฑ์ที่มีอยู่มาใช้แก่พฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ในยามวิกฤตที่มีรูปแบบและวิธีการแตกต่างไปจากเดิมให้ได้ผล…”

ผู้มีอำนาจดังกล่าวทั้งหลาย จึงควรประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้ “จริยธรรมนำกฎหมาย หรือเคร่งครัดตน ผ่อนปรนคนอื่น” มิใช่เคร่งครัดคนอื่น ผ่อนปรนตนเองเพื่อจะได้บรรเทาหรือระงับวิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อจริยธรรม กฎหมายและผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายในบ้านเมืองลงได้บ้างอนึ่ง การไม่อดทนที่จะเคารพกติกา เปลี่ยนแปลง “สัญญาประชาคม” อยู่เรื่อยๆ ทำให้คนทั้งหลายขาดศรัทธาในการเคารพสัญญานั้นๆ

ส่วนประเด็นการพิจารณาตามคำวินิจฉัยส่วนตนของนายทวีเกียรติ โดยสรุปว่า เจตนารมณ์ของวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ให้เกิน 8 ปี คือการควบคุมและจำกัดอำนาจของผู้ใช้อำนาจไม่ให้เกิดการผูกขาดทางการเมือง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีซึ่งมีอำนาจสูงสุดในการบริหารอำนาจรัฐ ทั้งยังปรากฏว่าบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ให้รวมระยะเวลาดำรงตำแหน่งคณะรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้ด้วย โดยไม่มีข้อยกเว้นบัญญัติไว้ “หากไม่ต้องการให้ใช้บังคับก็ควรเขียนยกเว้นไว้ให้ชัด ”

การจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีเพื่อต้องการมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจทางการเมืองยาวนานเกินไป ยิ่งอยู่นานก็จะยิ่งสามารถสร้างรากฐานอำนาจไว้กับตนและพวกพ้อง นำไปสู่การผูกขาดอำนาจ ยึดมั่นในตัวบุคคลมากกว่าหลักการประชาธิปไตย อันอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดวิกฤตทางการเมืองได้

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมายถูกต้องต่อเนื่องกันมาโดยตลอด และเมื่อมีการเข้าสู่ตำแหน่งโดยชอบอย่างเป็นทางการแล้วและได้มีการใช้อำนาจบริหารประเทศตามความเป็นจริงระยะเวลาหรือวาระการดำรงตำแหน่งจึงต้องเริ่มนับทันที


สำหรับที่มานายกรัฐมนตรีตามเงื่อนไขมาตรา 158 วรรคสองและวรรคสาม ที่ให้มาจากสภาผู้แทนราษฎรนั้น รัฐธรรมนูญมาตรา 263 วรรคแรก ให้สภานิติบัญญัติทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างที่ยังไม่มีได้ ซึ่งการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 จึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย

หลักการจำกัดวาระแปดปีของนายกรัฐมนตรีในระบบการเมืองไทยมีประกาศให้รับรู้โดยทั่วไป และมุ่งใช้ต่อเนื่องตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ซึ่งผ่านประชามติเจตจำนงของประชาชน ที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญฯ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 จึงไม่ใช่การบังคับใช้กฎหมายย้อนหลัง แต่ยังเป็นประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


ข้อเท็จจริงปรากฏเป็นที่ชัดเจนว่า เมื่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ก็ได้มีบทบาทและใช้อำนาจหน้าที่บริหารประเทศตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ รับเงินเดือนและผลประโยชน์ต่าง ๆ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตลอดจนไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเมื่อเข้าสู่ตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง


“จึงถือว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ถูกร้องทั้งในข้อเท็จจริงและในข้อกฎหมาย ถูกต้องต่อเนื่องกันมาโดยตลอดแล้ว และเมื่อมีการเข้าสู่ตำแหน่งโดยชอบอย่างเป็นทางการแล้ว และได้มีการใช้อำนาจบริหารประเทศตามความเป็นจริง ระยะเวลาหรือวาระการดำรงตำแหน่งจึงต้องเริ่มนับทันที ยิ่งเมื่อรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดระยะเวลาดังกล่าวไว้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่า หากมีการดำรงตำแหน่งดังกล่าวมาเป็นระยะเวลากว่า 8 ปีแล้ว ไม่ต้องการให้ผู้นั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญใหม่นี้อีก”


ชมผ่าน YouTube ได้ที่นี่ : https://youtu.be/KVR1elVhMJg

คุณอาจสนใจ

Related News