เลือกตั้งและการเมือง

'ชัยวุฒิ' ปัดวิเคราะห์ พท.พลิกเกมใช้ยุทธการแตกแบงค์พัน ปมสูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หาร 500

โดย weerawit_c

9 ก.ค. 2565

110 views

วานนี้ 8 ก.ค.2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์กรณีที่สภามีมติใช้สูตรคำนวนส.ส.บัญชี ปาร์ตี้ลิสต์ จาก 100 เป็น 500



โดยเพื่อไทยพลิกเกมใช้วิธีแตกแบงค์พัน ตั้งพรรคสาขาขึ้นมาอีก 1 พรรค เพื่อเก็บส.ส.บัญชีรายชื่อ จะมีผลอะไรกับพรรคหรือไม่ ว่า ตนยังคิดไม่ออกว่าเขาจะทำอย่างไร เพราะกฎหมายยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เอาไว้รอให้มีผลบังคับใช้ค่อยมาวิเคราะห์



"แต่เขาก็ไม่ใช่คนที่พลิกเกมได้คนเดียวหรอก คนอื่นก็พลิกเกมได้เหมือนกัน มันไม่ได้ยากอะไร และกว่าจะถึงวันนั้นก็คงจะมีพรรคการเมืองหลายพรรคที่เสนอตัวเข้ามาให้ประชาชนเลือก ผ่านระบบบัญชีรายชื่อ และมีนโยบายมีอุดมการณ์ต่างๆมาแข่งขันกัน คงไม่ได้มีครอบครัวเพื่อไทยพรรคเดียว ก็ต้องมีพรรคของประชาชนคนอื่นเข้ามาแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติและผมก็ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องแปลกอะไร" นายชัยวุฒิ กล่าว



เมื่อถามว่าพรรคพปชร.จะแก้เกมด้วยการแตกแบงค์พันด้วยหรือไม่ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่ถึงเวลา แต่โดยธรรมชาติก็มีหลายพรรคอยู่แล้ว มีคนลงสมัครเยอะอยู่แล้วไม่ต้องห่วง คงไม่ได้มีครอบครัวเพื่อไทยครอบครัวเดียว สำหรับพรรค พปชร.นั้น ไม่ใช่พรรคครอบครัวก็คงไม่มีครอบครัว พปชร. ใครเป็นพรรคครอบครัวก็ปล่อยเขา แต่เราไม่ใช่พรรคครอบครัว คนละแบบกัน อย่างไรก็ตามสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเขาพูดเขาทำ เขาก็ทำกันทุกพรรคอยู่แล้ว ทุกพรรคเขาก็มีอุดมการณ์ เสนอตัวมาให้ประชาชนเลือกกันเยอะแยะ ในบัญชีรายชื่อไม่ต้องห่วง



ผู้สื่อข่าวถามว่าสูตรหาร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 500 นั้น พรรค พปชร. ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วใช่หรือไม่ว่าพรรคจะไม่เสียเปรียบ นายชัยวุฒิ กล่าวว่า อย่าไปคิดเลยว่าการออกกฎหมายมาใครจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เพราะกฎหมายที่ออกมาเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนที่มาเลือก ส.ส. พรรคไหนมีคะแนนนิยมของประชาชน 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ควรจะมี ส.ส. ในสภา 20 เปอร์เซ็นต์ นี้คือหลักการของกฎหมาย ที่หาร 500 เท่านั้นเอง มันไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ



ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงมติที่ประชุมรัฐสภาในประเด็นสูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อหาร 500 ว่า เมื่อสภามีมติเป็นอย่างไรก็ต้องปฏิบัติตาม ในส่วนตัวที่ยืนในหลักการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะรู้ว่า ไม่ว่าจะแก้ไขไปในทางใด ต้องดำเนินการตามมาตรา 132 คือ ส่งให้องค์กรอิสระ หรือ กกต. พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งเมื่อ กกต. พิจารณาอีกครั้ง คาดว่า กกต. จะแสดงความคิดเห็นชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือให้แก้ไขประเด็นใด ก่อนส่งกลับมาที่สภา และสภาจะมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบตามที่ กกต. เสนอมา และส่งให้นายกรัฐมนตรี โดยมีเวลา 5 วัน เพื่อรอนำขึ้นทูลเกล้าฯ หากในระหว่างนี้ มี ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าชื่อ 1 ใน 10 ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ



ทั้งนี้ เมื่อเอาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อมาคิดแบบสัดส่วนผสมหาร 500 คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดปัญหา ทั้งเรื่องสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ซึ่งห่วงว่าเมื่อไปถึงขั้นตอนการตีความแล้วจะเป็นเช่นไร รวมถึงจะมีผลต่อการเมืองเช่นกัน เพราะถ้าวางหลักให้หารด้วย 500 จะทำให้เกิดการแตกแบงค์พัน ที่ไม่อยากให้มี แต่หากเกิดการแตกแบงค์พันก็มีความชอบธรรมตามกฎหมาย และคิดว่า คนที่คาดหวังว่าจะทำให้พรรคการเมืองหนึ่ง ไม่ได้รับคะแนนเสียงแลนด์สไลด์นั้น ส่วนตัวมองว่า กลับทำให้พรรคการเมืองนั้นได้คะแนนเสียงแลนด์สไลด์มากยิ่งขึ้น และจะทำให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อสูงขึ้นด้วย



นายชินวรณ์ ยังย้ำว่า ส่วนตัวไม่อยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง แต่ควรแก้อยู่บนหลักการ ซึ่งการเสนอให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะต้องการให้การเมืองเข้มแข็งขึ้น ลดการซื้อเสียง ลดประเด็นการปัดเศษ หรือการแตกแบงค์พัน แต่เมื่อกลับไปสู่จุดเดิมเชื่อว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องแลนด์สไลด์ที่กลัวกันได้ พร้อมยืนยัน กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ตรงไปตรงมา ยึดหลักนิติธรรม เป็นกระบวนการที่ดีที่สุด


https://youtu.be/Pqwi-lPCwLo

คุณอาจสนใจ

Related News