เลือกตั้งและการเมือง

“ไอซ์ รักชนก” แฉพิรุธการใช้เงิน “ประกันสังคม” ตึกราคาประเมิน 3,000 ล้าน แต่ทุ่มซื้อในราคา 7,000 ล้าน

โดย paranee_s

10 มี.ค. 2568

779 views

นางสาวรักชนก ศรีนอก สส.กทม. และ นายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน เดินทางมาที่อาคารสกายไนน์ เซ็นเตอร์ (SKYY9 Centre) ถนนพระราม 9 เพื่อแถลงข่าว ในประเด็นการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ที่นำเงินกว่า 7 พันล้านบาท ไปเข้าซื้อตึกที่มูลค่า 3 พันล้านบาท ทำไมมีเงินส่วนต่างที่กองทุนประกันสังคมต้องจ่ายมากถึง 4,000 ล้านบาท


นางสาวรักชนก ศรีนอก กล่าวว่า การแถลงข่าววันนี้จะมาพูดเรื่องการลงทุนของกองทุนประกันสังคม เพราะการที่กองทุนจะอยู่ได้หรืออยู่ไม่ได้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเกี่ยวกับการลงทุนของกองทุน เพราะมีเม็ดเงินของกองทุนสูงถึง 2.6 ล้านล้านบาท


ดังนั้นสิ่งที่จะมาพูดในวันนี้ เป็นเรื่องของธรรมาภิบาลของการลงทุน เรียกง่ายๆ ว่าสำนักงานประกันสังคมเล่นแร่แปรธาตุ ในการซื้อตึกที่มีมูลค่า 3,000 ล้านบาท ในราคา 7,000 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้ออย่างถูกต้องตามระเบียบทุกอย่าง แต่ต้องถามถึงความคุ้มค่าในการซื้อจะเป็นอย่างไร


การตัดสินใจซื้อตึกนี้ในปลายปี 2565 ทั้งที่มีข้อมูลว่า ทั้งตึกมีคนเช่าพื้นที่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ก่อนจะมีการซื้อตึกนี้ กองทุนประกันสังคมได้ทำแผนที่สวยหรูเกินจริง โดยระบุว่าตามแผนจะได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม แต่เมื่อเริ่มดำเนินการจริง มีผู้เช่าในปีแรกเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น หลังจากนั้นผ่านไปสองปี มีผู้เช่า ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ตามรายงานของสำนักงานประกันสังคม แต่ 40 เปอร์เซ็นต์ ก็เป็นตัวเลขที่น่าสงสัย ตัวเลขจริงอาจจะต่ำกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องการบอกตัวเลข 40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ดูว่ามีคนเช่าพื้นที่จำนวนมาก


หากมาดูรายได้ในปี 2567 พบว่ากองทุนประกันสังคมมีรายได้จากการลงทุนนี้ 40 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการตึกรวม 50 ล้านบาท หมายความว่าถ้าทำธุรกิจกิจการแบบนี้ต่อไปจะติดลบทุกปี เท่ากับว่าเงิน 7,000 พันล้านบาท ที่นำไปลงทุนไปในการซื้อตึกนี้ เป็นเม็ดเงินลงทุนที่สูญเปล่า


สำนักงานประกันสังคม ได้ประเมินการลงทุนจากการซื้อตึกอย่างสวยหรู แต่ในความเป็นจริงทุกอย่างต่ำกว่าเป้าหมดเลย อย่างเช่น การประเมินว่าภายในสองปี จะมีคนใช้พื้นที่ตึก 60 เปอร์เซ็นต์ แต่พบว่าการเช่าพื้นที่จริง มีอยู่ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ประกันสังคมแจ้งว่ามีคนมาเช่าพื้นที่ 40 เปอร์เซ็นต์ คิดง่าย ๆ แม้จะมีคนมาเช่าพื้นที่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องใช้เวลา 30 ปี ถึงจะคืนทุนได้ กว่าจะถึงวันนั้นกองทุนประกันสังคม น่าจะเจ๊งไปแล้ว แต่ตึกที่ซื้อยังไม่คืนทุน


การที่สำนักงานประกันสังคม อนุญาตให้กองทุนประกันสังคม ไปลงทุนในลักษณะนี้ น่าจะมีปัญหาในเรื่องธรรมาภิบาล สิ่งที่ต้องถามคือทำไมกองทุนประกันสังคม ถึงต้องใช้เงิน 7,000 ล้านบาท ซื้อตึกแห่งนี้เพียงอย่างเดียว ทำไมไม่กระจายไปลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ด้วย เพราะในสินทรัพย์อื่น ๆ ล้วนแต่มีผู้เชี่ยวชาญดูแล แต่ทำไมถึงเลือกตัดสินใจลงทุน 7,000 ล้านบาท ซื้ออาคารเพื่อลงทุน โดยที่สำนักงานประกันสังคม ไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน


สิ่งที่ต้องตอบคือ อะไรคือเหตุผลให้กล้าใช้เงิน 7,000 ล้านบาท มาลงทุนในตึกที่มีผู้เช่าพื้นที่เพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของตึกเท่านั้น


สำหรับตึกสกายไนน์ เซ็นเตอร์ (SKYY9 Centre) ชื่อเดิมว่าอาคารไอซีอี ในช่วงที่มีโควิดระบาด มีการประเมินมูลค่าตึกอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท แต่กองทุนประกันสังคมยอมจ่ายเงิน 7,000 ล้านบาท เพื่อซื้อตึกแห่งนี้


ดังนั้นสื่อมวลชน ต้องช่วยกันไปขุดคุ้ยประวัติของตึกแห่งนี้ ว่าเจ้าของเจ้าแรกเป็นใคร และเจ้าของคนถัดไปเป็นใคร มีชื่อของใครเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดปรากฏอยู่บ้าง หรือมีชื่อนักการเมืองคนใด ที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองของคนที่อยู่ในป่ามาเกี่ยวข้อง หรือหากพูดกันตรง ๆ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่กำกับดูแลสำนักงานประกันสังคม และในขณะนั้นรัฐมนตรีคนนี้ สังกัดในพรรคพลังประชารัฐ


ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าตึกสกายไนน์ เซ็นเตอร์ ปรับปรุงเสร็จในปี 2565 หลังจากปรับปรุงเสร็จ เจ้าของตึกก็ขายต่อให้สำนักงานประกันสังคม แม้จะมีข้อมูลว่าสำนักงานประกันสังคม ได้ย้ายสำนักงานบางส่วนมาอยู่ในตึกแห่งนี้ แต่ลักษณะดังกล่าวเป็นการโยกเงินจากกระเป๋าสตางค์ซ้าย ไปไว้ในกระเป๋าสตางค์ข้างขวา เพื่อต้องการทำให้เห็นว่าตึกแห่งนี้มีผู้เช่าใช้พื้นที่จำนวนมาก ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด เป็นการตั้งข้อสงสัยในเรื่องธรรมภิบาลของผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมในยุคนั้น


สส.รักชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเปิดโปงความผิดปกติ การใช้เงินของสำนักงานประกันสังคมในหลายเรื่องที่ผ่านมา วันนี้สังคมค้างคาใจในหลายเรื่องหลายประเด็น แต่ทางฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรียังไม่ออกแอ็คชันใดๆ ไม่มีการตั้งกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงใดๆ


ดังนั้นจึงต้องเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายกรัฐมนตรี ควรตั้งกรรมการตรวจสอบหากข้อเท็จจริง เกี่ยวกับความผิดปกติที่เกิดขึ้นในสำนักงานประกันสังคม เพื่อลดแรงปะทะของผู้ประกันตน กับสำนักงานประกันสังคม ถึงเวลานายกรัฐมนตรีต้องออกมาแอ็คชันในเรื่องนี้


และหวังว่าการออกเปิดโปงข้อมูลความผิดปกติใช้เงินกองทุนประกันสังคมจะเงียบไป อยากให้มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ไม่อยากให้กองทุนประกันสังคมเป็นบุฟเฟต์ ที่คนเวียนกันเข้ามาหาผลประโยชน์ และอยากได้คำตอบว่าเงินส่วนต่างที่ซื้อตึก 4,000 ล้านบาท ที่ขายได้กำไรไป เงินไปอยู่ที่ใคร ใครได้ประโยชน์ เพราะในช่วงนั้นเป็นช่วงต้องใช้เงิน ก่อนการเลือกตั้งพอดี มีพรรคการเมืองใด เอาเงินจากกองทุนประกันสังคมไปใช้ในการเลือกตั้งหรือไม่


สำหรับการประชุมบอร์ดประกันสังคมในวันพรุ่งนี้นั้น จะมีการคุยเรื่องปรับสูตรการคำนวณเงินบำนาญชราภาพ ของผู้ประกันตนจากมาตรา 33 ไปเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 และจะมีการหารือกันเรื่องการลงทุนของกองทุนประกันสังคมด้วย ดังนั้นตนเองจะไปติดตามการประชุมในวันพรุ่งนี้ด้วย พร้อมยืนยันว่า การซื้อตึก 7,000 ล้านบาท จะมีการร้องเรียนในเรื่องนี้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน เพราะบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นคนที่มาจากการเมือง


ด้าน สส.สหัสวัต ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ระบุว่าปกติแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะทำแผนการลงทุนในกรอบ 5 ปี เป็นการวางกรอบอย่างกว้างๆ แต่คนตัดสินใจจริง ๆ ในการเลือกลงทุน และเป็นคนที่เซ็นซื้อสิ่งต่าง ๆ คือเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม


จากการตรวจสอบ พบว่าในช่วงปี 2565 มีความพยายามให้กองทุนประกันสังคม ไปลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ จึงอยากตั้งคำถามว่า ความต้องการดังกล่าว มีการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองหรือไม่ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่มีอำนาจโยกย้ายราชการในตอนนั้น ก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เนื่องจากมีการแต่งตั้งเด็กหน้าห้องของตนเอง มาอยู่ในส่วนบริหารความเสี่ยงการลงทุน ของสำนักงานสำนักงานประกันสังคม ว่าควรจะซื้ออะไร


นอกจากนั้นยังพบจุดสังเกตว่า กองทุนประกันสังคมมีการตั้งงบสำหรับลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ สิ่งที่ผิดปกติ คือมีเด็กหน้าห้องของรัฐมนตรีว่าการแรงงานในขณะนั้น ได้เข้าไปอยู่ในอนุกรรมาธิการเกี่ยวกับการลงทุนด้วย เช่นเดียวกับที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในยุคนั้น ก็เข้าไปอยู่ในอนุกรรมาธิการชุดดังกล่าวด้วยเช่นกัน ทำให้มีทั้งที่ปรึกษาและเด็กหน้าห้องของรัฐมนตรีในยุคนั้น เข้ามาอยู่ในอนุกรรมาธิการการลงทุนนอกตลาด ย่อมมีส่วนในการตัดสินใจให้เลือกลงทุนด้วยการซื้อตึกดังกล่าว


นายสหัสวัต คุ้มคง ตั้งข้อสงสัยว่า การซื้อตึกดังกล่าวน่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ เพราะมีทั้งเด็กค่าห้องและที่ปรึกษาของรัฐมนตรี มาอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการ ดังนั้นเมื่อประชาชนต้องตั้งข้อสงสัยเรื่องการใช้เงินกองทุน เพราะที่ผ่านมาการลงทุนของสำนักงานประกันสังคม ไม่เคยถูกเปิดเผยและให้ผู้ประกันตนรับทราบมาก่อน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ ถ้ากองทุนประกันประกันสังคมยังอยู่ในมุมมืด จะทำให้มีนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์จากกองทุน ที่มีจำนวนเงินมหาศาล


ดังนั้นต้องย้อนไปดูว่าการโยกย้ายข้าราชการในปี 2565 มีผลประโยชน์ทางการเมืองเกี่ยวข้องหรือไม่ การจะยืนยันว่าการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม มีลงทุนอย่างโปร่งใสและไม่เอื้อผลประโยชน์ทางการเมือง จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างการบริหารของกองทุนประกันสังคม ด้วยการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม


ในเรื่องนี้นายกรัฐมนตรี ควรตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าการเข้าซื้อตึกนี้เกี่ยวข้องผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ พร้อมทั้งควรเชิญผู้ที่เซ็นให้ซื้อตึกนี้ คือนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงานคนปัจจุบัน เข้ามาให้ข้อมูลด้วย เพราะขณะนั้นนายบุญสงค์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม บุคคลคนนี้จึงเป็นคีย์แมนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้


และต้องถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในขณะนั้นด้วย เกี่ยวข้องกับการซื้อตึก 7,000 ล้านด้วยหรือไม่ เพราะเงินประกันสังคม ถือเป็นเบาะรองสุดท้ายของผู้ประกันตนในวัยเกษียณหรือวัยชรา เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก นายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้มีอำนาจในรัฐบาลสูงสุด จะต้องตรวจสอบในเรื่องนี้


และต้องทำความเข้าใจว่า การซื้อตึกดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับรัฐมนตรีแรงงานคนปัจจุบัน และไม่เกี่ยวข้องกับเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมคนปัจจุบัน แต่ในฐานะผู้บริหารกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีฯ ก็ควรตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้


สุดท้าย สส.สหัสวัต ย้ำว่าถ้าคิดว่าการเปิดโปงความผิดปกติ การซื้อตึก 7,000 ล้านสนุกแล้ว รับรองการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะหนักกว่านี้ และมีข้อมูลเชิงลึกมากกว่านี้แน่นอน

คุณอาจสนใจ

Related News