เลือกตั้งและการเมือง

"วุฒิสภา" กัดไม่ปล่อย เตรียมถล่ม "ก.ยุติธรรม-ดีเอสไอ" เล่นใหญ่ญัตติปมเลือกปฏิบัติ "ผู้ต้องขัง"

โดย nutda_t

2 มี.ค. 2568

154 views

2 มี.ค. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภาในวันอังคารนี้ (4 มี.ค.68) นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมวุฒิสภา โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจคือ การเสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย ที่เสนอโดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธานคณะกรรมมาธิการ (กมธ.) กิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยในญัตติดังกล่าว มีใจความสำคัญคือ ขอให้วุฒิสภาพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติให้รัฐจัดระบบบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ ปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใดๆ ซึ่งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมของไทย ยังขาดประสิทธิภาพ มีความล่าช้าในการดำเนินคดี อีกทั้งยังมีการแทรกแซงครอบงำจากฝ่ายการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการดำเนินคดีพิเศษของกระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาความผิดอาญาที่มีความซับซ้อน คดีความผิดอาญาที่มีหรืออาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความสงบเรียบร้อยและศีลและทำอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ระบบเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ หรือคดีที่มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ หรือเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรมที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ เป็นต้น

ในญัตติดังกล่าว ระบุด้วยว่า ในการดำเนินคดีพิเศษที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงกระบวนการยุติธรรมที่ยังขาดประสิทธิภาพ มีการดำเนินคดีที่ล่าช้า ไม่สามารถทำให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษอย่างแท้จริง รวมถึงไม่สามารถป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดและการปกป้องรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนได้ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของสังคม ว่ากระบวนการยุติธรรมอาจไม่เป็นที่พึ่งได้ เช่น การดำเนินคดีกับนายทุนชาวจีนสีเทาในข้อหายาเสพติดฟอกเงิน และการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การดำเนินคดีมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมาอย่างยาวนาน และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ การสืบสวนสอบสวนคดีความผิดดังกล่าวจึงเต็มไปด้วยความท้าทายต้องอาศัยความรู้ความชำนาญในการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน โดยเจ้าหน้าที่มืออาชีพเพื่อให้ได้พยานหลักฐานที่มีความถูกต้องครบถ้วน สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ในการดำเนินกระบวนยุติธรรม ยังมีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่น การให้สิทธิ์แก่ผู้ต้องขัง ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน

"ที่ผ่านมา มีการดำเนินการที่มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยผู้ต้องขังบางคน ได้รับสิทธิ์ในการเข้ารับการรักษาพยาบาลที่พิเศษกว่าผู้ต้องขังคนอื่นๆ จึงสมควรที่วุฒิสภาจะได้มีการอภิปรายระดมความเห็น เพื่อพิจารณาปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายและเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อพิจารณาดำเนินการ" พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ กล่าว

คุณอาจสนใจ

Related News