เลือกตั้งและการเมือง
"อดีตบอร์ด สปส." ให้กำลังใจ "ไอซ์ รักชนก" ผลักดันสิทธิประโยชน์เทียบเท่าบัตรทอง
โดย nutda_t
27 ก.พ. 2568
232 views
น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ในฐานะอดีตกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) นำผู้ประกันตน ม.39 และ ม.40 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ จากพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เดินทางมามอบดอกไม้ให้กำลังใจ น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.พรรคประชาชน ที่อาคารรัฐสภา พร้อมยื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบประกันสังคม (สปส.) ให้โปร่งใส และสิทธิการรักษา ให้เทียบเท่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทอง
น.ส.อรุณี บอกว่า ส่วนตัวเป็นผู้เดินหน้ารณรงค์เรียกร้องให้มีประกันสังคม มาตั้งแต่ ปี 2533 และยังเป็นอดีตบอร์ด สปส. ฝ่ายผู้ประกันตนมานาน 8 ปี ซึ่งทำงานส่งเงินสมทบมาจนเกษียณอายุ แต่กลับได้เงินบำนาญเพียง 1,580 บาทเท่านั้น และยังไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ จึงมองว่า บอร์ด สปส. ควรจะมีการถ่วงดุลอำนาจ และระบบไตรภาคีก็ต้องปฏิรูปเหมือนกัน โดยขอเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม เป็นองค์กรอิสระ แยกออกจากระบบราชการ ที่มีระเบียบกฎเกณฑ์ซับซ้อน ล่าช้า ยากต่อการปฏิบัติ แต่หากเป็นองค์กรอิสระ จะสามารถจ้างคนเก่งเข้ามาบริหาร แม้จะเงินต้องจ่ายค่าตอบแทนสูง แต่ก็ดีกว่าปล่อยให้เป็นระบบราชการ ซึ่งก็ได้แค่นี้ ไม่สนองต่อความต้องการของผู้ใช้แรงงาน และไม่ตรงกับสโลแกน “เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข” ในการดูแลผู้ประกันตนในฐานะเจ้าของเงินสมทบ จึงขอฝากความหวังไปยัง สส. นักการเมือง ตลอดจนรัฐบาล ให้ความสนใจระบบประกันสังคมมากกว่านี้ หากทำได้เชื่อว่าจะได้รับคำชื่นชมจากประชาชน และผู้ประกันตน
นอกจากนี้ ส่วนตัวอยากให้สำนักงานประกันสังคม ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อดูแลการใช้งบประมาณของประกันสังคมให้โปร่งใส คุ้มค่า การไปดูงานที่ต่างประเทศ หากได้ประโยชน์กลับมาก็ไม่ขัดข้อง แต่ไปแล้วไม่ได้อะไร ก็ควรจะประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ แล้วนำมาเพิ่มเป็นสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน
ส่วนที่มีการมองว่า ทำไมไม่ให้กองทุนประกันสังคมเป็นองค์กรอิสระมาตั้งแต่ต้น ยืนยันว่า ในขณะนั้นยังไม่มีใครรู้จักองค์กรอิสระ เนื่องจากเพิ่งมีกฎหมายเมื่อปี 2540
ด้าน น.ส.รักชนก บอกว่า ส่วนตัวอยากเรียกร้องให้ สปส. เปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณ ให้สามารถเข้าถึง และตรวจสอบได้ เพราะที่ผ่านมาสมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สปส. กลายเป็นหลุมดำ ไม่สามารถตรวจสอบการใช้งบลงทุนว่าเอาไปทำอะไรได้ แต่ขณะนี้เรามีบอร์ด สปส. และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ควรจะเปิดเผยข้อมูลของ สปส. ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และทำตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร หากไม่ได้กระทำผิด หรือทุจริตคดโกง ก็ไม่ต้องกลัว ให้เห็บหมัดที่เกาะเงินสมทบของกองทุนประกันสังคมเป็นผู้รับผิดไป
ขณะเดียวกัน น.ส.รักชนก ยังยืนยันว่า การออกมาพูดเรื่องประกันสังคม ไม่ได้ต้องการให้หยุดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ตรงกันข้ามส่วนตัวยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เข้าสู่ระบบกองทุนประกันสังคมมากขึ้น เพราะจะทำให้กองทุนมั่นคงและยั่งยืน แต่จะอาศัยคนเยอะอย่างเดียวไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการกองทุนด้วย
นอกจากนี้ ยังเรียกให้มีการผลักดันสิทธื์รักษาพยาบาลของกองทุน สปส. ให้เทียบเท่าสิทธิ์บัตรทอง ซึ่งตามกฎหมาย ประชาชนทุกคนทั่วประเทศ มีสิทธิ์ใช้กองทุน สปสช. แต่ทุกวันนี้ไม่มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้ผู้ประกันตนได้รับความเหลื่อมล้ำ โดยในเดือนหน้าจะมีการเลือกตั้งบอร์ดแพทย์ชุดใหม่ ซึ่งควรจะผลักดันให้สัดส่วนผู้ประกัน สัดส่วนนายจ้าง และสัดส่วนข้าราชการมีความสมดุลกัน ไม่เป็นเหมือนแบบ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต. ที่ถูกตั้งคำถามอย่างมาก
นอกจากนี้ น.ส.รักชนก ยังเรียกร้องให้ น.ส.แพทองธาร ลงมาสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน ได้ประชุมหารือกันถึงกลไกในการควบรวม 3 กองทุน 3 สิทธิรักษาพยาบาลให้ สปสช. เป็นผู้ดูแล หรือยกงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ที่บอร์ดแพทย์ ประกันสังคมดูแลอยู่ มาให้ สปสช. เป็นผู้บริหาร โดยต้องกำหนดกรอบการทำงานให้ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลควรจะออกกฎหมายปฏิรูปกองทุนประกันสังคม โดยให้เป็นร่าง ครม. นำเข้าสู่ที่ประชุมสภา ซึ่งพรรคประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือ
ขณะเดียวกัน ยังมีกลุ่มลูกจ้างเหมาบริการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องต่อ นายสุราวาท ทองบุ สส.พรรคประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นลูกจ้างรายปี แล้ว สพฐ. ในฐานะนายจ้างจะสมทบเงินกองทุนประกันสังคมให้ครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อเป็นลูกจ้างเหมา กลับต้องจ่ายเงินเต็มจำนวนเอง จึงขอเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินสมทบเหมือนกับลูกจ้างรายปี
แท็กที่เกี่ยวข้อง ไอซ์ รักชนก ,ประกันสังคม ,สิทธิบัตรทอง ,บอร์ด สปส.