เลือกตั้งและการเมือง
‘โตโต้’ เดือด! โต้ ก.ยุติธรรม ยัน กมธ.มั่นคงฯ มีอำนาจสอบ ‘ทักษิณ’ ด้าน ‘โรม’ จี้มาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ชั้น 14
โดย nattachat_c
12 ชั่วโมงที่แล้ว
15 views
กระทรวงยุติธรรมแถลงข่าว ไม่สบายใจกับการเชิญไปให้ข้อมูล กรณีทักษิณ ชินวัตร ครั้งที่ 2 ของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ เผยส่งหนังสือชี้แจงข้อกังวลด้านกฎหมายว่าไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ และซ้ำซ้อนกับ กมธ.ตำรวจ-องค์กรอิสระ ยังไม่ทราบ รมว.ยุติธรรม จะไปให้ข้อมูลพรุ่งนี้หรือไม่ ยืนยันไม่เกี่ยวข้องกับที่มีวิวาทะกับ รังสิมันต์ โรม ครั้งก่อน
วานนี้ (21 พ.ย. 2567) นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวเกี่ยวกับการชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่โรงพยาบาลตำรวจ ขณะต้องโทษ หลังมีหนังสือเรียกให้ไปให้ข้อมูลเป็นครั้งที่ 2
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า สำหรับกรณีการรักษาตัวของนายทักษิณ ในสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการตรวจสอบกระทรวงยุติธรรม โดยคณะกรรมาธิการ 2 ชุด ชุดแรกคือ คณะกรรมาธิการการตำรวจ ที่ได้มีหนังสือแจ้งให้กรมราชทัณฑ์ไปให้ข้อเท็จจริงตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 และต่อมาได้มีการนัดหมายไปดูสถานที่เกิดเหตุที่โรงพยาบาลตำรวจแล้ว
ส่วนชุดที่ 2 คือ คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ ที่ได้มีหนังสือให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของกรมราชทัณฑ์ไปชี้แจงและส่งมอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ครั้วแรกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องไปชี้แจง
และล่าสุด กมธ. ชุดนี้ ได้มีหนังสือมาเชิญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกหลายคนเข้าไปชี้แจงเพิ่มเติม โดยนัดหมายในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ย. 67) ช่วงเช้า
ซึ่งเรื่องนี้กระทรวงยุติธรรม มีความไม่สบายใจ เพราะก็ต้องการที่จะให้ความร่วมมือกับการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มที่ แต่เมื่อมาพิจารณาอำนาจหน้าที่ตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ และข้อระเบียบการประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กรมราชทัณฑ์เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ในการเข้ามาตรวจสอบ หรือเชิญเจ้าหน้าที่ไปให้ข้อมูล
ดังนั้น เมื่อกรมราชทัณฑ์ได้รับหนังสือเชิญดังกล่าว จึงมีการเสนอพิจารณาความเห็นไปตามลำดับ และเมื่อวานนี้ (20 พ.ย. 67) รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงได้มีหนังสือส่งไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรและ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ถึงข้อกังวลเรื่องข้อกฎหมาย โดยมีเหตุผล 3 ข้อ ที่กรมราชทัณฑ์ไม่เห็นด้วยกับการตรวจสอบของ กมธ. ชุดนี้
ข้อ 1. รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าการที่ คณะกรรมาธิการจะศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องใดต้องเป็นเรื่องในอำนาจหน้าที่ที่ระบุไว้ในการตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าว
ซึ่งในส่วนของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ มีการระบุกรอบอำนาจหน้าที่โดยสรุปไว้ว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ การค้าชายแดน การค้าผ่านแดน จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนเพื่อการค้า ช่องทางธรรมชาติ ช่องทางตามกฏหมายศุลกากร การเดินทางข้ามแดน การจัดการแรงงานข้ามแดน การส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน การแก้ปัญหาชายแดนไทย ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ โดยคำนึงถึงปัจจัยที่กระทบต่อความมั่นคง การส่งเสริมสนับสนุนแก้ไขปัญหาดินแดนและความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเรื่องที่เชิญไปให้ข้อมูลนั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่
ข้อ 2. การดำเนินการเรื่องนี้ ซ้ำซ้อนกับคณะกรรมาธิการชุดอื่นของสภาผูัแทนราษฎร ซึ่งตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า การดำเนินการของคณะกรรมาธิการต้องไม่เป็นเรื่องซ้ำซ้อน หากมีเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องกับหลายคณะกรรมาธิการ ก็มีระเบียบกำหนดไว้โดยเฉพาะว่า ต้องรวมเป็นเรื่องเดียว โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ชี้ว่าคณะกรรมาธิการใด จะเป็นประธานในการตรวจสอบ ดังนั้น กรณีนี้ ที่ กมธ.ตำรวจ ได้ดำเนินการอยู่แล้ว ต่อให้จะเข้าอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ก็ต้องเอาไปรวมกัน จะแยกไม่ได้
ข้อ 3. ปัจจุบันมีองค์กรอิสระหลายองค์กรที่ทำการไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงเรื่องนี้อยู่ เช่น ป.ป.ช. สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งกรมราชทัณฑ์มีความเห็นว่าคณะกรรมาธิการ ควรต้องคำนึงว่าตอนนี้ มีการตรวจสอบโดยองค์กรอิสระอยู่แล้วด้วย
นายสมบูรณ์ ยอมรับว่า ตอนนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นเดียวกับที่กรมราชทัณฑ์กังวล ว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้ทำถูกต้องตามกฏหมายระเบียบข้อบังคับหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา รัฐมนตรีฯ ให้ความสำคัญ และความร่วมมือกับสภาผู้แทนราษฎรมาโดยตลอด แต่ในวันพรุ่งนี้จะไปให้ข้อมูลหรือไม่ ท่านเองก็ยังไม่ได้ให้คำตอบ ส่วนเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ก็ยังไม่ทราบว่าใครจะไปหรือไม่ไปบ้าง เพราะครั้งนี้มีการเชิญมาหลายท่านมาก
ยืนยันว่า เรื่องนี้ ไม่ได้เป็นการนำมาอ้างเพื่อที่จะปกปิด หรือไม่ให้ข้อมูล หรือไม่มีหลักฐานที่จะแสดงต่อคณะกรรมาธิการ เพราะตอนนี้ก็ มีหลายหน่วยงานที่ทำการตรวจสอบอยู่แล้วอย่างเข้มข้น จึงไม่มีสิ่งไหนที่จะปกปิดได้อยู่แล้ว
และทุกหน่วยงานที่เคยได้ชี้แจงไปแล้ว ก็มีเอกสารให้ครบถ้วน และการที่มีความเห็นดังกล่าว ไม่ได้เป็นการปิดประตูการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการชุดนี้ เพียงแต่เป็นการทำหนังสือท้วงติงแสดงความเห็นไป ซึ่งผู้ที่จะชี้ขาดได้ก็คือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร หากท่านมีดุลพินิจว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ ก็ต้องเข้าไปให้ข้อมูลอยู่แล้ว
-----------------------------------------------
'โตโต้' เดือด! โชว์เอกสารโต้ ก.ยุติธรรม ยัน กมธ.มั่นคงฯ มีอำนาจสอบ 'ทักษิณ' ได้ ถามมีอำนาจอะไรมาตัดสิน พร้อมทวนชื่อ กมธ.ชัด ๆ ลั่น อำนาจเราครอบจักรวาล แค่คำว่า 'ปฏิรูป' คำเดียว ทำได้หลายเรื่อง งง มาบอกไม่มีอำนาจ แต่เชิญครั้งที่แล้วก็มา ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง แถมประทับตราลับไว้เรียบร้อย
ที่รัฐสภา นายปิยรัฐ จงเทพ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ แถลงตอบโต้กระทรวงยุติธรรม ที่กล่าวหาว่า กมธ.ความมั่นคงฯ ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีพักรักษาตัวชั้น 14 และเตรียมส่งเรื่องนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ชี้ขาด
โดยนายปิยรัฐ กล่าวว่า กรณีที่ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ได้ทำหนังสือท้วงติงถึง กมธ.ทุกคน ว่าไม่มีอำนาจเชิญหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรม กรณีนายทักษิณรักษาตัวชั้น 14 แต่ทางกรมราชทัณฑ์กลับไปแถลงข่าวก่อน ทั้งที่ประทับตราลับไว้แล้ว ตนยืนยันว่า กมธ. ได้ทำหนังสือเชิญกรมราชทัณฑ์มาแล้ว 1 รอบ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็มาชี้แจงต่อ กมธ.แล้ว ตอบได้บ้าง ไม่ได้บ้าง และฝ่ายผู้อำนวยการกองกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ก็เสนอต่อ กมธ.เองว่า ขอให้ กมธ.มีมติเป็นคำสั่งให้กรมราชทัณฑ์ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ ซึ่งตนยังแย้งไปว่า ถ้าเมื่อไหร่ ทาง กมธ.มีมติเรียกเอกสารจากกรมราชทัณฑ์มา แล้วท่านไม่มา ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ ก็จะมีความผิดทางวินัยในฐานะข้าราชการ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่
ตนยังบอกไปว่าอย่าให้ถึงกับมีคำสั่งเรียกเลย ไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ที่มาชี้แจงจะเข้าใจหรือไม่ แต่เขาก็ยังให้ทำหนังสือไปถึงกรมราชทัณฑ์ ซึ่ง กมธ. ก็ทำให้ ในหนังสือที่ทำไปก็ชัดเจนว่าต้องการศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรม กรณีกรมราชทัณฑ์ให้อดีตนายกรัฐมนตรีพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจกับการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำหนังสือไป
นายปิยรัฐ ยังโชว์เอกสารหนังสือเชิญกระทรวงยุติธรรม และกล่าวด้วยท่าทีดุเดือด ยืนยันว่า กมธ.สามารถศึกษาเรื่องการปฏิรูปได้ เพราะการทำงานของ กมธ.ครอบคลุมเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐและการปฏิรูปประเทศ เพราะชื่อของ กมธ. ก็สามารถทำงานครอบจักรวาลได้ แค่คำว่าปฏิรูปประเทศอย่างเดียว ก็สามารถทำได้หลายเรื่อง เช่น การปฏิรูปตำรวจ ตำรวจก็เป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม แล้วทำไมกรมราชทัณฑ์จะไม่ใช่หนึ่งในกระบวนการยุติธรรมที่เราปฏิรูปไม่ได้ ดังนั้น เมื่อเราจะปฏิรูปถ้าเราไม่แสวงหาข้อเท็จจริง ไม่ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วเราจะปฏิรูปได้อย่างไร
--------------------------------------------
'โรม' กวักมือเรียก 'ทักษิณ' เข้าแจง กมธ.มั่นคง พิสูจน์ความบริสุทธิ์ชั้น 14 ชี้ น่าพิศวงอยู่ ไม่มีแม้กระทั่งหมอดูอาการก่อนไป รพ.ตำรวจ กล่อม 'แม้ว' พูดเองครอบครอง 'รัฐบาล-นายกฯอิ๊งค์' ถ้ามาแล้วตอบได้ จะเป็นผลบวกไปฝั่ง รบ. ลั่น ถ้าป่วยจริง ไม่ได้ใช้บารมี มันก็จบ! โอด ประชุมมา 55 ครั้ง เรื่องนี้ยากสุด
ด้านนายรังสิมันต์ โรม รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีเชิญนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อที่ประชุม กมธ. ในวันพรุ่งนี้ (22 พ.ย.67) ว่า
บุคคลที่เชิญจะมาหรือไม่ จะทราบในเช้าวันพรุ่งนี้ว่า สุดท้ายแล้วจะมีใครมาบ้าง แต่ไม่ว่าจะมาหรือไม่มา แต่ข้อวิจารณ์ของสังคมได้เกิดขึ้นแล้ว ฉะนั้น การที่บุคคลที่เชิญแล้วไม่มา ตนอยากให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่ถูกเชิญ พิจารณาด้วยข้อเท็จจริงว่า การไม่มาหมายความว่าคุณไม่มีโอกาสในการชี้แจง แต่หากคุณมา แสดงว่าคุณมั่นใจว่าสิ่งที่คุณทำเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่อยู่บนวิสัยที่ไม่ได้มีมาตรฐานพิเศษเหนือกว่าใคร ตนจึงคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวล เพราะการที่คุณมาบอกกับ กมธ. ว่าสิ่งที่คุณทำไปถูกต้องอย่างไร หรือกรณีของนายทักษิณที่ กมธ.เชิญ ซึ่งสังคมคิดว่านายทักษิณป่วยจริงหรือไม่ การมาชี้แจงถือเป็นโอกาส จะได้ลบข้อครหา ข้อวิจารณ์ต่าง ๆ ที่สังคมมีต่อนายทักษิณ
นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า การที่เราเปิดพื้นที่ใน กมธ. และพิจารณา จริง ๆ แล้ว เป็นโอกาสของทุกฝ่าย ตนคิดว่าคำถามหลายๆ คำถามที่เราถาม เป็นคำถามที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และพื้นฐานหลักกฎหมาย ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกังวลเลยว่า กมธ.จะเล่นการเมืองหรือไม่ กลั่นแกล้งกันหรือไม่ “ต่อให้คุณเชื่อแบบนั้น ถ้าคุณตอบคำถามได้ ผู้ที่ต้องการกลั่นแกล้งคุณก็จะถูกสะท้อนกลับไปที่ตัวเขาเอง สุดท้ายสังคมก็จะเชื่อในข้อเท็จจริงที่ฝ่ายรัฐบาลพยายามอธิบาย มันก็จะจบอยู่ตรงนั้น”
เมื่อถามว่าการประชุมในครั้งนี้ จะไม่คว้าน้ำเหลวเหมือนครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การประชุมรอบที่แล้ว ตนไม่คิดว่าเป็นเรื่องคว้าน้ำเหลว แต่เราได้ข้อเท็จจริงหลายย่าง และเชื่อว่าเป็นข้อเท็จจริงที่หลายฝ่ายไม่เคยทราบมาก่อน เป็นเรื่องที่ตนคิดว่าพิศวงอยู่ เช่น การพิจารณาใช้เวลาตัดสินใจเพียง 4 นาที , การที่ไม่มีแม้กระทั่งหมอเลยที่มาดูอาการของนายทักษิณ คิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ตนคิดว่าไม่คว้าน้ำเหลว
เมื่อถามว่า นายทักษิณมีเหตุผลอะไรที่จะต้องมาชี้แจงกับ กมธ. เพราะ กมธ.ไม่สามารถให้คุณให้โทษกับนายทักษิณได้ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า กมธ. ให้คุณให้โทษกับนายทักษิณไม่ได้ แต่ตนคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนายทักษิณเอง ต้องยอมรับว่า วันนี้ สังคมวิจารณ์เรื่องชั้น 14 เยอะมาก เรื่องนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากทุกฝ่าย และทุกทิศทุกทาง
และนายทักษิณก็พูดเองว่าอยู่ในสถานะของการเป็นผู้ครอบครองรัฐบาล ครอบครองนายกรัฐมนตรี ดังนั้น นายทักษิณก็จะเป็นตัวแปรสำคัญของความเป็นอยู่ของรัฐบาลนี้ไม่มากก็น้อย ฉะนั้น ถ้าทำให้สถานการณ์ทางการเมือง ที่มีข้อวิจารณ์ต่อนายทักษิณและต่อรัฐบาลให้เบาลง การมาชี้แจงกรรมาธิการของนายทักษิณ ก็จะช่วยรัฐบาลได้
สมมติว่าคุณทักษิณบริสุทธิ์ใจ มั่นใจว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด ไม่ได้ใช้บารมี พูดง่าย ๆ คือป่วยจริง ๆ ผมคิดว่ามันก็จะจบ และประชาชนก็จะมองรัฐบาล และไว้วางใจมากขึ้น
วันนี้ เราต้องยอมรับว่าปัญหาอย่างหนึ่ง ที่เป็นปัญหารากฐานสำคัญก็คือประชาชนจำนวนมาก ไม่ไว้วางใจรัฐบาล และการไม่ไว้ใจรัฐบาลนี้ ทำให้สุดท้ายรัฐบาลทำอะไรไป ก็จะมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ตลอด เพราะคุณเริ่มต้นจากการสร้างความไม่ไว้วางใจ ที่ทำให้เรื่องชั้น 14 กลายเป็นเรื่องพิศวง
พวกเราประชุมมา 55 ครั้ง เราไม่เคยได้รับบรรยากาศการพิจารณาที่ดูยากขนาดนี้มาก่อน พอคุณทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องพิศวงและเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องที่ไม่สามารถพิจารณาได้ สุดท้ายความไว้วางใจที่ประชาชนมองรัฐบาล ก็จะมองว่ารัฐบาลพยายามปกปิดอะไรบางอย่างเกิดขึ้นต่อไป
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/vzg-Olfz3jg