เลือกตั้งและการเมือง
สภาฯ คว่ำข้อสังเกต กมธ.นิรโทษกรรม ด้าน 'เพื่อไทย' เสียงแตก ไม่เห็นด้วย 115 เสียง
โดย nattachat_c
25 ต.ค. 2567
38 views
เปิดผลลงมติข้อสังเกตรายงานนิรโทษฯ พบ 'เพื่อไทย' ไม่เห็นด้วย 115 เสียง ด้าน 'ก๊วนเสื้อแดง' โหวตเห็นชอบ ขณะที่ 'เดียร์ ขัตติยา' เจ้าของญัตติงดออกเสียง
วานนี้ (24 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สำหรับผลการลงมติข้อสังเกตในรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ผลปรากฎว่า มีเสียงเห็นด้วย 151 ไม่เห็นด้วย 269 งดออกเสียง 5 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ซึ่งเป็นเสียงของนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2
สำหรับในฝั่งที่เห็นด้วยกับข้อสังเกต แบ่งเป็นเสียงของพรรคประชาชน 138 คน ไม่อยู่ 7 คน นอกจากนั้นยังมีนายไชยามพวาน มั่นเพียรจิตต์ สส.กทม. พรรคไทยก้าวหน้า, นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม
และสุดท้ายคือ สส.พรรคเพื่อไทย 11 คน เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ, นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ รวมถึงยังมีอดีตก๊วนเสื้อแดงเก่า เช่น นายสุธรรม แสงประทุม, นายอดิศร เพียงเกษ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ เป็นต้น ส่วนน.ส.ขัตติยา สวัสดิผล สส.บัญชีรายชื่อ ลูกสาวพล.อ.ขัตติยะ สวัสดิผล และเจ้าของญัตติ กลับโหวตงดออกเสียง
เป็นที่สังเกตว่าก่อนหน้าที่จะมีการลงมติ พรรคเพื่อไทยประชุม สส. และมีมติว่าจะเห็นด้วยกับข้อสังเกตรายงาน แต่ปรากฎว่าเมื่อลงมติจริง กลับโหวตในลักษณะฟรีโหวต โดยส่วนใหญ่โหวตไม่เห็นด้วย 115 เห็นด้วย 11 งดออกเสียง 4 ไม่อยู่ 12 คน สำหรับพรรคไทยสร้างไทย ยังคงลงมติเช่นเดิม แบ่งออกเป็นกลุ่มงูเห่า 3 คน และกลุ่มที่ยังคงอยู่กับพรรคอีก 3 คน รอบนี้กลับไม่ปรากฎว่าลงมติใด ๆ
ทั้งนี้ ในการอภิปรายก่อนการโหวต น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน อภิปรายว่า สนับสนุนการนิรโทษกรรมทุกคดี ไม่มีข้อยกเว้นคดีใด ที่ผ่านมา กมธ.เชิญแกนนำทุกสีมาให้ข้อมูลการนิรโทษกรรมคดีมาตรา112 ทุกคนเห็นด้วยให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา112 แต่เหตุใด กมธ.ที่ไม่เห็นด้วยจึงมีปัญหา ไม่อยากให้ถ่วงการก้าวข้ามความขัดแย้ง โดยทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีกี่คนที่รู้ถึงรายละเอียดพฤติการณ์ความผิดของผู้มีคดีมาตรา112 ว่าแต่ละคดีเป็นอย่างไร หลายคดียกฟ้อง หลายคดีเป็นคดีกลั่นแกล้งทางการเมือง บางคนเป็นผู้ป่วยจิตเวช คดีความผิดมาตรา112 มีเป็นพันคดี ไม่ใช่แค่หลักร้อย ขอให้เปิดใจให้โอกาสประชาชนที่มีคดีมาตรา112 ได้กลับมาใช้ชีวิตปกติเหมือนที่พวกท่านจับมือกันตั้งรัฐบาล
ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ขอให้สภาตั้งสติเรื่องการนิรโทษกรรม ควรตั้งคำถามคดีมาตรา 112 ว่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือไม่ ถ้าเห็นว่าเป็นเรื่องความขัดแย้งทางสังคม การเมือง ก็ต้องไปศึกษาจะมีกระบวนการทางกฎหมายอย่างไร วาระนี้ไม่ใช่วาระที่พรรคการเมืองจะมาแข่งกันแสดงความจงรักภักดี จะแก้ปัญหาความขัดแย้งแบบนี้หรือ ที่ผ่านมาเคยนิรโทษกรรม คดี 6 ต.ค.2519 ก็มีคดีมาตรา 112 อยู่ด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า นักศึกษาทำผิดมาตรา 112 แต่ถูกกลั่นแกล้งใส่ร้าย จึงได้รับการนิรโทษกรรม ถ้ากลัวว่านิรโทษกรรมแล้วจะทำผิดซ้ำ ขอให้ไปดูประชาชนไม่เคยทำผิดซ้ำในประวัติศาสตร์หลังนิรโทษกรรม
มีอยู่เรื่องเดียวที่ได้รับนิรโทษกรรมแล้วทำผิดซ้ำ คือ การรัฐประหาร จึงไม่ต้องห่วงประชาชนจะทำผิดซ้ำ สภาควรแสดงความรับผิดชอบแก้ความขัดแย้งในสังคม ด้วยการนิรโทษกรรมคดีที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ควรให้ความเห็นชอบข้อสังเกตของกมธ. เพื่อไปพิจารรณากฎหมายนิรโทษกรรม ก้าวข้ามความขัดแย้งด้วยความรอบคอบในอนาคต
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ไม่เห็นชอบรายงานและข้อสังเกต กมธ.เพราะเชื่อว่า ปลายทางจะนำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ในประเทศ เหมือนตอนผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ถ้านำรายงานฉบับนี้ไปใช้เป็นสารตั้งต้นออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะนำไปสู่ความแตกแยกในบ้านเมืองอีกครั้ง
ตัวรายงานฉบับนี้ระบุว่า ทางเลือกนิรโทษกรรมมาตรา 112 ไว้ 3 ทาง หมายความว่าจะเลือกทางใดก็ได้ ขณะที่ข้อสังเกตของ กมธ. ข้อ 9.1 มีการระบุให้ ครม.ควรพิจารณารายงานของ กมธ.เป็นแนวทางตรากฎหมายนิรโทษกรรม แสดงว่า ถ้ารัฐบาลจะเลือกนิรโทษกรรม มาตรา 112 หรือเลือกนิรโทษกรรม มาตรา 112 แบบมีเงื่อนไขก็ทำได้ และ ข้อ 9.5ระบุว่า ระหว่างยังไม่มีการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครม.ควรกำหนดนโยบายให้หน่วยงานรัฐในกระบวนการยุติธรรมไปดำเนินการตามกฎหมาย เช่น ให้อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องตาม พ.ร.บ.องค์กรอัยการ ปี2553 หรือให้ศาลเลื่อน จำหน่ายคดี ปล่อยตัวชั่วคราว อาจทำให้เกิดคำถามเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ รวมถึงข้อ 9.6 ให้คืนสิทธิทางการเมืองแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรม แสดงว่า เป็นการรวมการกระทำตามมาตรา 110 และมาตรา 112 ด้วย จึงไม่เห็นด้วยรายงานและข้อสังเกต เพื่อไม่ให้มีจุดหมายปลายทางไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ในอนาคต
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/gpj0fChhysY
แท็กที่เกี่ยวข้อง มาตรา 112 ,พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ,ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ,จาตุรนต์ ฉายแสง