เลือกตั้งและการเมือง

‘สว.อลงกต’ แกล้งร้องไห้ล้อเลียน หลังเพื่อน สว.ชาวสวน หลั่งน้ำตา ถูกขวางตั้ง กมธ.วิสามัญแก้น้ำท่วม

โดย petchpawee_k

11 ก.ย. 2567

2.8K views

น้ำตานองสภาสูง! สว. กลุ่มอาชีพชาวสวนฯ สุดทน ร้องไห้กลางสภาฯ หลังถูกขวางตั้ง กมธ.วิสามัญแก้น้ำท่วม บอกไม่เคยหมดตัวคงไม่เข้าใจ จวกทุกรัฐบาลไม่เคยจริงใจแก้ไขปัญหา ก่อน สว. อลงกต แกล้งร้องไห้ ล้อเลียน ขอทิชชู่กลางสภาฯ ด้านประชุมเดือด นพ.เปรมศักดิ์ ปะทะ นายพล ซัดเป็นขอทาน หลังมาขอโควตาให้ สว.บ้านใหญ่ แต่กลับผิดสัจจะ ไม่ยอมให้ตั้งกมธ.ศึกษาปัญหาน้ำท่วม

เมื่อวานนี้ (10 ก.ย.67)  ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาญัตติ เรื่องขอเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากวิกฤตอุทกภัยอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ ซึ่งเสนอโดยนายเศรณี อนิลบล สว. และ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ


นพ.เปรมศักดิ์ นำเสนอญัตติตอนหนึ่งระบุว่า เมื่อวานนี้ มีชาย 3 คน ถามตนว่าทำไมไม่แก้ไข ทำไมต้องศึกษา หากศึกษาไม่ต้องตั้ง กมธ. ตนไม่บอกว่าเป็นใครแต่ส่วนสูงกว่าตน  ทั้งนี้ไม่ได้กลัวแต่อย่ามารุม ขอให้มาทีละคน


“วันเสาร์-อาทิตย์ ก่อนการประชุม มี พล.อ.คนหนึ่งโทรศัพท์หาผม ไม่ใช่ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง  บอกให้ผมล้มเลิก ผมบอกล้มเลิกอย่างไร เพราะพุธที่แล้วคุยกันแล้ว บอกว่ามีการขอกรรมาธิการ 30 คน ขอ สว. 20 คน เป็นคนนอก 10 คน โดยในส่วนของ สว.ขอเป็นกลุ่มใหญ่ 15 คน และกลุ่มเล็ก 5 คน แบบนี้ต้องมาขอเหมือนเป็นขอทาน แต่สุดท้ายก็บรรลุข้อตกลงว่า สว.มาจากบ้านใหญ่ 15 คน และสว.เสียงส่วนน้อย 5 คน หากผมพูดความเท็จให้ฟ้าผ่าร่างเป็น 2 ซีก ผมยินดีตายกลางสภา ผมขอให้พิสูจน์กันหน่อยว่าทำไมกลับไปกลับมา แม้ผมไม่ใช่นายพลแต่รักษาสัจจะ และพล.อ.คนนี้ยังบอกว่าหากอภิปรายขอให้จบ ไม่ต้องตั้งกรรมาธิการ ผมงง” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว


ต่อมา พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา สว. อภิปรายว่า ตนเป็นคนที่โทรหา นพ.เปรมศักดิ์  ตนเป็นทหารพูดกันตรงๆ ไม่อ้อมค้อม ที่ตนโทรหา เพราะมีหลายคนเห็นว่าการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาปัญหาน้ำท่วม หลายคนไม่เห็นด้วย เพราะคณะกรรมาธิการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำนั้นมีหลายปีแล้ว แต่ไม่เป็นรูปธรรม และในเมื่อเราจะตั้งคณะกรรมาธิการสามัญอยู่แล้ว ต่อไปก็จะอยู่ในอำนาจหน้าที่แล้ว มันจะขัดแย้งกันหรือเป็นการเพิ่มภาระหรือไม่ และวันที่ 12-13 ก.ย. รัฐบาลจะแถลงนโยบาย ทำไมเราไม่คุยในสภาเพื่อให้ได้ข้อยุติและสาระ แล้วนำไปเสนอในการแถลงนโยบายของรัฐบาล เพราะหลายคนเห็นว่าน่าจะได้ผลไวกว่าที่จะศึกษาในกรอบเวลา 30-120 วัน


“เพื่อไม่ให้เคลือบแคลงสงสัย พล.อ.คนนั้นคือผมเอง ที่ผมโทร.หาหมอเปรม ผมก็ปรึกษา โดยพูดตามนี้ มันว่ามีหลายคน ถ้าเขาคิดเห็นอย่างนี้ และควรฟังความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ ขอให้หมอเปรมถอยในนี้ได้หรือไม่ จะผิดถูกผมไม่ทราบแต่นี่คือเป็นความจริง แค่บอกว่า พล.อ.สวัสดิ์ โทร.หาคือจบ ไม่ต้องมาเยิ่นเย้อ พูดมาก” พล.อ.สวัสดิ์ ชี้แจง


ขณะที่นายเศรณี อนิลบล สว.กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง  อภิปรายด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ว่า อุทกภัยถือเป็นปัญหาเร่งด่วน ใครที่บ้านไม่เคยถูกน้ำท่วมไม่เคยสิ้นเนื้อประดาตัว เพราะน้ำท่วมพื้นที่ทำกินจะไม่รู้สึก  ช่วงนี้นายเศรณี ร้องไห้จนไม่สามารถพูดต่อได้  ทำให้มีสมาชิกนำกระดาษทิชชูมาให้ จากนั้นนายเศรณี อภิปรายต่อว่า  มันเป็นความเจ็บปวดของประชาชนคนไทย ที่ทุกข์ยากมามากกว่า 10 ปี เวลาน้ำท่วมบ้านไม่สามารถไปไหนได้ ในสภาวะปกติอาหารการกินก็ลำบากยากเข็น ถนนหนทางเสียหาย  รัฐบาลไม่ว่าจะยุคไหนก็ต้องทุ่มเทงบประมาณมาซ่อมสร้างเสียเงินไปมากมาย เกษตรกรไม่สามารถจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ต้องปลูกใหม่ ญัตตินี้เป็นเรื่องสำคัญ ควรตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษาเร่งด่วน ที่ผ่านมา ทุกรัฐบาลได้แต่เยียวยา จ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรที่ถูกน้ำท่วม แต่เกษตรกรไม่ต้องการ อยากเห็นการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนเป็นระบบ แต่ทำไม่ได้  


นายเศรณี ยังกล่าวอีกว่า ในคำแถลงนโยบายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี บอกว่าจะยกระดับการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำทั้งระบบ  เพื่อจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งทุกรัฐบาลเขียนแบบนี้ แต่ทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำ การศึกษาระบบจัดการน้ำมามากกว่า 10 ปี แต่ศึกษาแล้วเก็บในลิ้นชัก ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือสำนักงบประมาณ ไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาตลอดเวลาที่ผ่านมา “เก่งกันนักหนา เก่งกันทุกคน”  บอกจะทำอย่างนั้นอย่างนี้  แต่ไม่เคยทำ เรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญ เป็นวาระแห่งชาติเพราะเขียนนโยบายไว้ ฉะนั้นในวันแถลงนโยบาย ตนก็จะพูดเรื่องนี้อีกเพราะลงชื่อไว้แล้ว  ตนยังไม่เคยเห็นรัฐบาลไหนที่จะมีความกล้าหาญ  มีความจริงจังและจริงใจที่จะเอาเรื่องนี้มาแก้ไข  ตนรับราชการมาทั้งชีวิตอยากจะบอกผู้บังคับบัญชาว่า สิ่งที่ท่านทำในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งที่ผ่านมา  มันเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกาไม่ถูกที่คัน   ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ แต่สิ่งที่ควรทำกลับไม่ทำ  


ดังนั้นหากวันนี้สามารถตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้  ก็อยากใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของตัวเองและเพื่อนสมาชิกที่เห็นด้วย  เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ และน่าจะเห็นผลในทางปฏิบัติบ้าง อย่างน้อยมีคนกล้าพูดกล้าอภิปรายในทุกเวที เพื่อทวงถามไปยังรัฐบาลว่าสิ่งที่ได้แถลงนโยบายไว้นั้น  ทำแล้วหรือยัง  หากในอีกหนึ่งปีข้างหน้าเกิดน้ำท่วมอีก รัฐบาลจะทำอย่างไร


ส่วนที่ พล.อ.สวัสดิ์ กล่าวว่า กำลังมีการตั้งคณะกรรมาธิการซึ่งดูแลเรื่องนี้อยู่แล้วนั้น  ส่วนตัวไปตรวจสอบแล้วเห็นว่า มม่มีคณะกรรมาธิการชุดใดที่จะเข้ามาดูแลเรื่องน้ำท่วมน้ำแล้งเลย แล้วจะเอาเรื่องนี้ไปไว้ที่ไหน หากนำเรื่องนี้ไปไว้ในชั้นอนุกรรมธิการ บ้านตนมองว่าคำว่าอนุฯ แปลว่าน้อย ในขณะที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่แล้วจะได้เรื่องหรือไม่  เมื่อเป็นเรื่องใหญ่ก็ควรอยู่ในชั้นกรรมาธิการสามัญหรือวิสามัญ  ซึ่งตนได้แปรญัตติในเรื่องนี้แล้ว  แต่ที่ประชุมบอกว่าข้อบังคับไม่สามารถทำได้เพราะจะเกิน 21 คณะ


“ผมพูดจากความรู้สึกอึดอัดตันใจ ทำไมสภาไม่ฟังเสียงข้างน้อย ไม่คิดช่วยเหลือประชาชนที่กำลังเดือดร้อน แก้ปัญหาเป็นเรื่องเร่งด่วน ไม่จำเป็นต้องเชื่อฟังครูใหญ่ทุกอย่าง ต้องมีความคิดเป็นของตัวเอง ทุกคนต้องมาร่วมมือกันไม่ว่าจะอยู่โรงเรียนใด จะมีครูใหญ่กี่คนต้องมาช่วยกัน สภาไม่ใช่การเมือง วันนี้ต้องทำงานเชิงรุก หวังว่า สว.ที่มีความคิดสติปัญญา จะเห็นด้วย”


หลังจากนั้นสมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยที่จะตั้ง กมธ. โดยนายอลงกต วรกี สว. อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ศึกษาเรื่องน้ำท่วม เพราะกว่าจะแก้ปัญหาได้ ต้องใช้เวลานาน ไม่รู้จะถึง 25 ปีหรือไม่ สุดท้ายจะกลายเป็นกระดาษบนหิ้ง ขอสรุปให้ทุกคนเสนอมาเลย จะแก้ปัญหาที่ไหน


จากนั้นนายอลงกต ทำท่าแกล้งร้องไห้ ล้อเลียนเพื่อนสส. ว่า  ฟังแล้วก็อยากจะร้องไห้เหมือนกันครับ แก้กันมานาน ยังแก้ไม่ได้สักที มีกระดาษทิชชูไหมครับ อึดอัดใจเหลือเกิน อยากให้มีการแก้เร็วๆ และแก้ปัญหาชาวบ้านเร็วๆ นะครับ”


สุดท้ายที่ประชุมลงมติไม่เห็นด้วย 127  เห็นด้วย 48 งดออกเสียง 10 ถือว่าที่ประชุมมีมติไม่เห็นด้วยให้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติจากวิกฤตอุทกภัยอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายอลงกต วรกี เป็น สว.กลุ่มที่ 20 กลุ่มอื่นๆ  หลังจากเข้ารับตำแหน่ง สมาชิกวุฒิสภา พบว่า สว.อลงกต เป็นอีกหนึ่งคนที่มักจะอภิปรายในสภา รวมถึงโต้ตอบกับ สว.ขั้วตรงข้าม


เช่น วันที่ 3 กันยายนที่ผ่านมา สว.อลงกต แถลงข่าวกับสื่อ พูดถึงกรณีที่ สว.สีน้ำเงิน ได้ตำแหน่งประธานกมธ. ไปหลายคณะ  จน สว.เสียงข้างน้อยออกมาวิจารณ์  


 ซึ่ง สว.อลงกต บอกว่า ในสภาไม่มี สว.เสียงข้างน้อยหรือข้างมาก ไม่มี สว.พันธุ์ใหม่ สว.สีน้ำเงิน ผลการโหวตอยู่ที่การลงมติ เมื่อแพ้แล้วมาบอกว่าไม่ชอบธรรม ย้ำว่า สว.ทั้งหมด มี 20 กลุ่มอาชีพ จำนวน 200 คน


นอกจากนี้ยังมีวลีเด็ด คือ สว.อลงกต บอกว่า “ผมไม่ได้เป็นพวกหิวแสง แต่การสร้างความแตกแยก ถามว่า เสียงส่วนใหญ่หรือเสียงส่วนน้อย ต้องว่ากันไปตามมติ และสิ่งที่บุคคลคนนั้นเสนอมา ก็ไม่อยู่ในระเบียบข้อบังคับของ สว.แต่ควรไปยื่น ป.ป.ช.เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ไม่ใช่ทำให้เสียงส่วนใหญ่กลายเป็นจำเลยทันที”



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/a2QNSbJ6l1w

คุณอาจสนใจ

Related News