เลือกตั้งและการเมือง
เส้นทางชีวิต 'บุ้ง ทะลุวัง' ลูกผู้พิพากษา สู่ผู้ต้องขังคดีการเมือง ทนายคาใจสาเหตุการตาย รอผลชันสูตรชี้ชัด
โดย nattachat_c
15 พ.ค. 2567
836 views
'บุ้ง ทะลุวัง' เสียชีวิตแล้ว หลังล้มฟุบ หัวใจหยุดเต้น พบอดอาหารประท้วงเป็นวันที่ 110 วัน - รพ.ธรรมศาสตร์ แจง หลังรับตัวจาก รพ.ราชทัณฑ์ ด้วยอาการหมดสติ-ไม่มีสัญญาณชีพ ปั๊มหัวใจรวม 5 ชม. แต่ไม่เป็นผล - ด้านราชทัณฑ์ ยันพยายามกู้ชีวิตเต็มที่แล้ว พร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง
วานนี้ (14 พ.ค. 67) น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ ได้โพสต์ข้อความในกลุ่มไลน์ว่า เช้านี้ รพ.ราชทัณฑ์แจ้งว่าบุ้งหัวใจหยุดเต้น กำลังปั๊มหัวใจอยู่
ต่อมา นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยเบื้องต้นว่า วานนี้ (14 พ.ค.67) เวลา 06.00 น. ทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้โทรศัพท์แจ้งมาทางครอบครัวของ น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง ว่าล้มฟุบ ไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น แพทย์ต้องปั๊มหัวใจยื้อชีวิต ก่อนจะย้ายตัวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ก่อนจะมีการยืนยันว่าในเวลาต่อมา ว่า น.ส.เนติพร หรือบุ้ง เสียชีวิตแล้ว ด้วยวัย 28 ปี เมื่อเวลา 11.22 น.
---------------
สำหรับการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง เมื่อวานนี้ (14 พ.ค. 67) โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ออกแถลงการณ์ ระบุว่า
แถลงการณ์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
เรื่อง ชี้แจงการเข้ารับการรักษาของนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง ทะลุวัง)
วันที่ (14 พฤษภาคม 2567) เวลา 09.30 น. โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รับตัวนางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม (บุ้ง ทะลุวัง) จากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ด้วยอาการหมดสติ ไม่มีสัญญาณชีพ และได้รับการทำ CPR เพื่อฟื้นคืนชีพจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ตั้งแต่เวลา 06.23 น. และส่งผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยระหว่างการนำส่งมายังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ผู้ป่วยยังได้รับการช่วยฟื้นคืนชีพตลอดเวลาขณะนำส่ง เมื่อผู้ป่วยถูกส่งตัวมาถึง ได้ถูกนำเข้ารับการรักษา ณ ห้องอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ชั้น 1 อาคารกิตติวัฒนา โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
เบื้องต้นแพทย์ประเมินพบว่า ผู้ป่วยไม่มี สัญญาณชีพ ระบบประสาทไม่มีการตอบสนอง ไม่พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จึงทำการ CPR อย่างต่อเนื่อง ตามมาตรฐานทางการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือชีวิตอย่างเต็มที่
หลังจากการทำ CPR ฟื้นคืนชีพอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เวลา 09.30-11.22 น. ร่างกายผู้ป่วย ไม่ตอบสนองต่อการรักษาและถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 เวลา 11.22 น. ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตรอการชันสูตรตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป
------------------
พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ ( ขณะประชุมครม. ที่ จ.เพชรบุรี) ถึงการเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง ทะลุวัง ว่า ได้รับรายงานจากกรมราชทัณฑ์ ว่าได้มีการนำตัวบุ้ง ส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และได้ทราบว่ามีการวินิจฉัยว่าเสียชีวิตในเวลาต่อมา จึงได้ขอให้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์และกรมราชทัณฑ์ สื่อสารข้อมูลเบื้องต้นออกไป ซึ่งโดยหลักการ การเสียชีวิตของผู้ที่อยู่ระหว่างการควบคุมของราชทัณฑ์หรือเป็นการควบคุมของเจ้าพนักงาน ถือเป็นการเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ ดังนั้นหลักการจะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ
การชันสูตรพลิกศพจะประกอบด้วยแพทย์จากนิติเวช ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นแพทย์จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ กับเจ้าพนักงานสอบสวน และเนื่องจากเรื่องนี้เป็นการเสียชีวิต โดยการควบคุมของเจ้าพนักงานก็จะต้องมีพนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครองและผู้เกี่ยวข้องมาร่วมชันสูตรพลิกศพ โดยมีหลักการว่าจะต้องทำให้เสร็จภายใน 7 วัน
พันตำรวจเอกทวี ระบุว่า ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและรัฐบาลทุกคนขอแสดงความเสียใจกับการเสียชีวิต และประการที่สองอยากให้กระบวนการการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งถือเป็นสหวิชาชีพ และเป็นคนกลาง ได้เข้าทำหน้าที่ เชื่อกันว่าจะเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา และจะลดความรู้สึก ที่ไม่สบายใจของแต่ละฝ่ายลงได้
พันตำรวจเอกทวี กล่าวด้วยว่า เรื่องนี้ได้รายงานให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ทราบตั้งแต่ ช่วงแรกที่นำตัวบุ้งไปยังโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้กำชับว่าให้รักษาให้ดีที่สุดและช่วยเหลือให้ดีที่สุด และภายหลังจากทราบว่าเสียชีวิต ได้มีการรายงานอีกครั้ง นายกรัฐมนตรีก็บอกว่า ต้องทำทุกอย่างตรงไปตรงมา
พันตำรวจเอกทวี กล่าวว่าจากรายงานเบื้องต้น ผู้เสียชีวิตได้อยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และอยู่ร่วมกับ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน เพื่อให้มีความรู้สึกว่าจะได้ดูแลซึ่งกันและกัน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นก็ต้องขอแสดงความเสียใจ
เมื่อถามว่าต้องระมัดระวังไม่ให้เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นอีกใช่หรือไม่ รมว. ยุติธรรมกล่าวว่า มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์และแพทย์ ว่าบุ้งมีการเข้า-ออก ระหว่างโรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ซึ่งทั้งสองโรงพยาบาลได้ทำตามวิชาชีพแล้ว
-----------------
กรมราชทัณฑ์ ออกใบแถลงข่าว ชี้แจงกรณีการเสียชีวิตของ บุ้ง เนติพร ระบุว่า
ด้วยทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รายงานว่า นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง มีอาการหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ในช่วงเช้าวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 โดยทางทีมแพทย์ได้ทำการกู้ชีพพร้อมนวดหัวใจ จากนั้นส่งตัวออกไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งทีมแพทย์ของ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้พยายามกู้ชีวิตผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถ ตั้งแต่เวลา 06.20 - 11.22 น. ร่างกายผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา และถึงแก่กรรมอย่างสงบ ในเวลา 11.22 น. กรมราชทัณฑ์ จึงขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้ กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า หลังจากที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้รับตัวนางสาวเนติพรฯ จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ฯ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 นางสาวเนติพรฯได้รับประทานอาหารและน้ำปกติ ซึ่งแพทย์และพยาบาล ได้ทำการรักษาดูแลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง แต่ยังมีอาการขาอ่อนแรงและบวมเล็กน้อย ผลเลือดมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย เกลือแร่ต่ำ / โดยนางสาวเนติพรฯ ปฏิเสธการรับประทานเกลือแร่และวิตามินบำรุงเลือด จนเกิดอาการดังกล่าวและเสียชีวิตในที่ 14 พ.ค.
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีข้อห่วงใยในเรื่องนี้ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม จึงเห็นควรให้ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ทำการชันสูตร เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง ซึ่งจะต้องรอผลการชันสูตร นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว
-----------------
นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง เป็นที่รู้จักในฐานะ แกนนำกลุ่มทะลุวัง บุ้งโตในบ้านนักกฎหมาย พ่อเป็นผู้พิพากษา และพี่สาวเป็นทนายความ
เรียนจบมัธยมปลายจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า และเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทำงานเป็นครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษ ระดับประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย
ในสมัยมัธยมปลาย บุ้งเคยไปร่วมม็อบ กปปส. และเริ่มสนใจการเมืองมาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งคุณช่อ พรรณิการ์ เอารายชื่อคนที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง ปี 2553 มาให้ดูว่ามีใครบ้าง แล้วปรากฏว่าหนึ่งในนั้นเป็นแค่ ‘คนไร้บ้าน’ ที่ถูกยิง จากข้อเท็จจริงนั้นทำให้สิ่งที่บุ้งเคยเชื่อในอดีตกลับกลายเป็นเรื่องที่ผิดหมดเลย หลังจากนั้นบุ้งก็หาข้อมูลมากขึ้น จนรู้สึกว่าตัวเองตาสว่าง แล้วก็รู้สึกผิดมากต่อคนเสื้อแดง
การคุมขังครั้งที่ 1 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565 ภายหลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งถอนประกันตัวเธอกับ ใบปอ จากคดีทำโพลขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 บุ้งและใบปอประกาศประท้วงอดอาหารครั้งแรก ในการคุมขังครั้งดังกล่าว ก่อนได้รับการประกันตัวหลังทนายเข้ายื่นคำร้องขอประกันตัวบุ้งและใบปอ เป็นจำนวนกว่า 8 ครั้ง ในวันที่ 4 ส.ค. 2565 ซึ่งนับว่าเป็นการสิ้นสุดการคุมขังกว่า 94 วันของพวกเธอ
การคุมขังครั้งที่ 2 สืบเนื่องมาจากกรณีที่เธอมีคำสั่งถูกลงโทษในคดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีที่เดินทางไปศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจ “โฟล์ค” สหรัฐ สุขคำหล้า ที่ถูกพิพากษาจำคุกในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2566
ซึ่งเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 มีคำสั่งลงโทษจำคุกบุ้ง 1 เดือน และในวันเดียวกัน ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นัดฟังคำสั่งขอเพิกถอนประกัน ตะวัน ทานตะวัน และบุ้งจำเลยในคดีมาตรา 112 กรณีทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 หลังพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้องขอถอนประกันตัว
คดีละเมิดอำนาจศาล จากกรณีความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในระหว่างการรอประกันตัว “โฟล์ค สหรัฐ” ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 / คดีมีโทษตัดสินจำคุก 1 เดือน สิ้นสุดแล้ว และมีการถอนประกันเดิม บุ้งเลยขอประท้วง งดนำ งดอาหาร และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
------------------
น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ เพื่อนนักกิจกรรมของ น.ส.เนติพร ให้สัมภาษณ์หลังได้เข้าพูดคุยกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนางสาวเนติพร
น.ส.ณัฐนิช ยืนยันว่า น.ส.เนติพร ไม่ได้อยู่กับพวกเราแล้ว จากการที่บุ้ง อดอาหารมานานกว่า 100 วัน โดยถูกคุมขังในคดี ม.112 และศาลอาญากรุงเทพใต้ ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ซึ่งแพทย์ยืนยันเวลาการเสียชีวิต 11.22 น. “วันนี้เป็นที่ทราบกันในสังคมว่า 112 ได้พรากชีวิตพี่บุ้งไปเรียบร้อยแล้ว” ส่วนกำหนดการอื่นๆจะแจ้งให้ทราบในภายหลัง และตอนนี้ ตะวัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังอดอาหารอยู่ในเรือนจำ เช่นเดียวกับบุ้ง จึงไม่อยากให้ต้องมีใครเสียชีวิตเพราะคดี 112 อีก จึงอยากให้ช่วยกันส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจ ว่า “วันนี้มีคนยอมแลกชีวิตด้วยการติดคุกเพราะ ม.112 จริงๆ บุ้งพูดไว้ว่า เขาไม่ได้มาเล่นๆ เขามาจริง และครั้งนี้เขาก็ต้องจากไปจริงๆ”
ขณะที่ นายกิตติธัช บอกเพิ่มเติม ว่า ในนามตัวแทนของเพื่อน บุ้งยืนหยัดข้อเรียกร้อง 3 ข้อในการอดอาหาร จึงขอฝากถึงสังคมด้วยว่า ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ
1.ประเทศไทยไม่ควรที่จะได้เป็นสมาชิกคณะมนตรีว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งไม่ได้บอกว่าไม่ต้องเป็น เพราะตามกลไกของสหประชาชาติประเทศไทยได้เป็นแน่นอน แต่อยากแสดงให้เห็นว่าไม่ควรเป็น เพราะมองว่า การที่บุ้งไม่ได้รับการประกันตัวออกมาและต้องถูกกลับเข้าเรือนจำไปอีกครั้ง ด้วยเหตุผลที่อยู่นอกเหนือคดี ม.112 หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ร้ฐและประชาชน รวมถึงการได้รับการดูแลในราชทัณฑ์ สะท้อนให้เห็นว่า เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศไทย
2. คือ ประเทศควรที่จะมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ประเทศไทย นักโทษคดี 112 และนักโทษทางการเมือง ควรจะได้รับสิทธิการประกันตัว
3. ไม่ควรมีผู้เห็นต่างทางการเมืองจะต้องมาติดคุกอีก เนื่องจากที่ผ่านมา บุ้งมีความหวังและแรงจูงใจที่อยากจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมมาตั้งแต่เด็ก จากภูมิหลังทางครอบครัว ไม่ได้เพิ่งจะมาเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ซึ่งนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ จึงไม่อยากให้สูญเปล่า และไม่อยากให้มีใครต้องมาติดคุกและถูกดำเนินคดีทางการเมืองอีก เพราะคดีทางการเมือง ไม่มีทั้งสิทธิประกันตัว และสิทธิในการพบทนายความ รวมถึงสิทธิในการเข้ารับการรักษาให้แพทย์เข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที // ซึ่งนักโทษทางการเมืองจะมีความพิเศษมากกว่านักโทษทั่วไป
ดังนั้นจึงอยากเรียกร้องในจุดยืน 3 ข้อนี้ ในสังคมไทย และอยากสานต่อเจตนารมณ์ของบุ้ง ไม่อยากให้ข้อเรียกร้องนี้สูญเปล่า ซึ่งเหตุผลที่จะต้องสานต่อเจตนารมย์ 3 ข้อ ก็เพราะมองว่า ตอนนี้ไม่ได้มีแค่บุ้ง ที่ตกอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว จึงไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกัน เพราะยังมีคนที่อดอาหารในคดีทางการเมืองอยู่อีกมาก แต่ขอไม่บอกว่าเป็นใครบ้าง
และเชื่อว่าหากยืนหยัดใน 3 ข้อเรียกร้องนี้ จะสามารถช่วยเหลือได้อีกหลายคน พร้อมยอมรับว่า มีความกังวลที่จะมีนักโทษทางการเมืองรายอื่นๆ เกิดกรณีแบบเดียวกับบุ้ง
นายกิตติธัช กล่าวต่อถึงความรู้สึกที่มีต่อบุ้งทั้งน้ำตาว่า ตนเองสนิทกับบุ้งมากยิ่งขึ้น ตอนนี้ ก็ต้องทำใจให้เข้มแข็ง แต่ก็อยากบอกบุ้งว่า คิดถึง เพราะอีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะเป็นรายชื่อตนเองที่จะได้เข้าเยี่ยม ซึ่งก็เป็นการสะท้อนอีกว่า แม้กระทั่งการเข้าเยี่ยมก็ยังเป็นปัญหา จึงเสียดายที่อีกแค่สัปดาห์สองสัปดาห์ก็จะได้เจอกันแล้ว
แล้วกระบวนการประกันตัวก็อาจจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะตนเองได้พูดคุยกับบุ้งก่อนเข้าเรือนจำ ว่าจะออกมาทำอะไรกันต่อบ้าง เพราะภาพสุดท้ายยังคงเกาะแขนบุ้งแล้วกระโดดโลดเต้น ไม่คิดว่าจะมาถึงจุดนี้ ที่ผ่านมาอาจจะมีภาพออกไปทางโซเชียลอีกแบบ แต่ในฐานะน้อง เขาเป็นพี่สาวที่น่ารัก
ดังนั้น ก่อนที่บุ้งจะเข้าเรือนจำ บุ้งได้ฝากไว้ว่า “พี่ยืนหยัดใน 3 ข้อนี้จริง ๆ ถ้าพี่จะต้องตาย พี่จะต้องตายไปกับ 3 ข้อเรียกร้องนี้” ดังนั้นอยากจะให้ตัดความรู้สึกส่วนตัวออกไปแล้วมาเรียกร้องใน 3 ข้อดังกล่าว
---------------
นาย กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ภายหลังจากที่ น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง ล้มฟุบและหัวใจหยุดเต้น แพทย์ต้องปั๊มหัวใจยื้อชีวิต แต่ไม่เป็นผล เสียชีวิตในเวลาต่อมา ว่า จากการที่คุยกับคุณหมอยืนยันว่าบุ้งได้เสียชีวิต ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์
ทั้งนี้ ตนรู้ข่าวในช่วง 06.00 น. โดยมีคนโทรมาบอกว่าบุ้งรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ช่วง 06.00 น. บุ้งเป็นลม ล้มหมดสติ แต่ตนไม่ได้เห็น ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่าหัวใจหยุดเต้น สัญญาณชีพไม่มี จึงได้รีบปั๊มหัวใจเพื่อช่วยเหลือทันที แต่สัญญาณชีพไม่ขึ้น จึงได้ส่งตัวมารักษาที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์รังสิต จากนั้นหมอได้ทำการปั๊มหัวใจต่อประมาณ 4-5 ชั่วโมง สุดท้ายก็เสียชีวิตในเวลา 11.22 น
โดยเมื่อมาถึงที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ก็แจ้งว่าสาเหตุการเสียชีวิต คือหัวใจล้มเหลว ส่วนตัวตนมองว่ามันเป็นการบอกสาเหตุการเสียชีวิตที่กว้างเกินไป แต่ขอยังไม่ออกความคิดเห็นอะไรมาก ขอรอดูรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน
ส่วนตัว ตนไม่ได้เข้าเยี่ยมบุ้ง แต่จะมีทนายประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าไปเยี่ยมตลอด
จากการสังเกตกายภาพของบุ้ง เริ่มบวม เจ้าตัวปวดท้อง อ่อนเพลีย แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องอะไรมาก ย้ำแค่ว่า ป่วย โดยอาการดังกล่าวเท่าที่วิเคราะห์กับคุณหมอ มันคืออาการของคนที่อดอาหารเป็นเวลานาน เท่าที่ทราบช่วงหลังทางครอบครัวพยายามขอร้องให้บุ้งรับประทานอาหาร แต่ก็ทานไม่ได้ เนื่องจากอดอาหารเป็นเวลา 30-40 วัน มาแล้ว จึงได้ให้อาหารเสริม แคลเซียมหรือน้ำแทน แต่ก็ยังมีลักษณะอ่อนเพลียอยู่
ขณะเดียวกันช่วงเช้าที่เป็นข่าว พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.กระทรวงยุติธรรม ได้โทรศัพท์มาหาตนพร้อมกับย้ำว่า กังวลเรื่องความโปร่งใส จึงอยากจะให้ทำการชันสูตรที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเลย ไม่ต้องส่งตัวไปที่นิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ เพราะบุ้งมีคดีความทางการเมืองหลายคดี ซึ่งตนเห็นด้วยกับประเด็นนี้มาก ซึ่งที่ผ่านมาทนายพยายามจะยื่นประกันตัวบุ้งได้ไม่กี่ครั้งในคดี ม.112 และทางศาลได้ถอนประกันในคดีอื่นๆ แต่ คดีนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ ไม่ให้ประกันตัว
ตนไม่อยากพูดอะไรมากเพราะก็เพิ่งเสียไปเมื่อเช้า พร้อมขออย่าเพิ่งโฟกัสประเด็นดังกล่าว ให้ไปโฟกัสถึงสาเหตุการตาย ว่าทำไมถึงตายหรือทำไมถึงปล่อยให้ตาย หรือทำไมไม่รีบส่งรักษา หลังจากขอร้องมานานแล้ว ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะต้องตอบประเด็นนี้ให้ได้
นายกฤษฎางค์ ยังระบุว่า ทั้งที่ผ่านมาทางทีมทนายได้ยื่นขอส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แต่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ยืนยันว่ารักษาได้ แต่พอเกิดเรื่องแบบนี้ก็กลับส่งตัวมาที่นี่ ทั้งที่ตนก็ทำเรื่องมาโดยตลอด พร้อมตั้งคำถามถึงระบบมาตรฐานของกรมราชทัณฑ์ไทยว่ามันมีหรือไม่
“บางที เรื่องบางเรื่อง พูดไปมันก็ขมขื่น คือความเป็นมาตรฐานของราชทัณฑ์ไทยมันมีหรือเปล่า เราไม่ต้องเอ่ยชื่อใครหรอก แต่ถ้าลองเทียบเด็กที่โดนคดีการเมืองได้รับการดูแลรักษาได้ดีเท่าผู้หลักผู้ใหญ่บางคนหรือเปล่าเท่านั้นเอง ดังนั้นพูดไปมันขมขื่น อย่าไปพูดดีกว่า” ทนายกฤษฎางค์ กล่าว
นอกจากนี้ ทนายยังบอกอีกว่า เมื่อเช้าวานนี้ (14 พ.ค.67) นางสาวทานตะวัน อยู่กับบุ้ง ช่วงที่หมดสติ ทำให้นางสาวทานตะวัน ไม่สามารถไปขึ้นศาลคดีบีบแตรขบวนเสด็จได้ เนื่องจากตกใจและร้องไห้ตลอดเวลา เมื่อถามถึงอาการของนางสาวทานตะวัน ก็อ่อนเพลีย แต่เบื้องต้น ตนเองก็ยังไม่บอกว่าบุ้งเสียชีวิตแล้ว
--------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/9KAbQnlKbYg