เลือกตั้งและการเมือง
ก.ต่างประเทศ แจงยิบ 'เครื่องบินเมียนมา' ลงจอดแม่สอด ด้าน 'พิธา' จี้รัฐตอบให้ชัดเครื่องบินขนอะไร?
โดย nattachat_c
9 เม.ย. 2567
21 views
วานนี้ (8 เม.ย. 67) นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ชี้แจง กรณีที่มีข่าวว่า รัฐบาลเมียนมาประสานไทย ขอเครื่องบินทหารลงจอด ท่าอากาศยานแม่สอด ลี้ภัยข้าราชการ - ตร .- ตม. ในเมียวดี หลังถูกฝ่ายต่อต้านตีแตก ว่า
“เรื่องเครื่องบินเมียนมาที่เป็นข่าว ได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าเป็นเรื่องการขอนำเครื่องบินพลเรือนมาลงเพื่อขนสิ่งของพลเรือน ไม่ได้มีการขนกำลังทหาร หรืออาวุธ หรือการขอลี้ภัยตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด เป็นเรื่องคำขอทางการทูตเพื่อนำเครื่องบินพลเรือนมาขนย้ายสิ่งของทางการทูต ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติครับ”
------------
วานนี้ (8 เม.ย. 67) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ทวีตถึงกรณีการขอใช้สนามบินแม่สอดของทางการเมียนมา ว่า
“ประชาชนกำลังรอคำตอบจากรัฐบาลและกองทัพ ว่าเกิดอะไรขึ้นที่สนามบินจังหวัดตาก”
การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยสงครามต้องเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่นการขนทรัพย์สิน อาวุธ ทำให้ถูกตีความได้ว่า เป็นการช่วยเหลือรัฐบาลทหารเมียนมา
ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องออกมาชี้แจงรายละเอียดให้โปร่งใสครับ #เมียนมา #เมียวดี”
ขณะที่ในเพจ นายพิธา โพสต์ระบุ
“Developing story : ประชาชนกำลังรอคำตอบจากรัฐบาลอยู่ ว่าเกิดอะไรขึ้นที่สนามบินจังหวัดตาก?
รายละเอียด หลักการและคำถาม เบื้องต้น มีดังต่อไปนี้ครับ
- การช่วยเหลือรับรองผู้ลี้ภัยสงครามตามหลักมนุษยธรรม เป็นสิ่งต้องทำตามพันธะระหว่างประเทศ หรือ ที่เรึยกว่า non refoulement principle ซึ่งควรใช้หลักนี้อย่างเท่าเทียมไม่ว่าฝ่ายไหน
- ประเด็นที่สำคัญคือ รัฐบาลไทยต้องตอบให้ได้ว่านี่คือการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจริงหรือไหม มีรายละเอียดอย่างไร?
- เพราะถ้าเป็นการช่วยเคลื่อนย้ายทรัพยากร เงินตรา อาวุธ ฯลฯ ก็อาจจะถูกตีความว่าเชื่อเหลือรัฐบาลทหารเมียนมา
-และโดยเฉพาะ ในพื้นที่ เท่าที่เช็ก มีความกังวลจากหลายฝ่ายว่าเมียวดีจะถูกโจมตีแบบปูพรมตาม หลังก่อให้เกิดวิกฤติมนุษยธรรม มีผู้ลี้ภัยสงครามมากกว่าเดิมอีก
- ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือของรัฐบาลไทยครั้งนี้ ต้องระวังว่าอาจจะอ้างเรื่องมนุษยธรรมเป็นด่านแรก แต่ต่อจะกลายเป็นการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาให้เกิดวิกฤติผู้ลี้ภัยมากกว่าเดิมหรือไหม?
- กรณีนี้ คงไม่มีใครรู้รายละเอียดดีกว่ารัฐบาลไทย ที่ต้องออกมาชี้แจงรายละเอียดให้โปร่งใสโดยเร็วครับ
more to come ถ้ามีรายละเอียดเพิ่มเติมครับ"
จากนั้น นายพิธา ได้คอมเมนต์ใต้โพสต์อีกว่า “ได้ยินว่า กต. กำลังจะแถลงอย่างเป็นทางการ รอฟังนะครับ ถ้าเป็นเรื่องของพลเมือง ตามหลัก international law กับ non refoulement ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรครับ”
------------
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทวีตว่า
“ไม่ว่าใครจะรบกับใคร ใครจะขัดแย้งแบ่งฝ่ายกับใคร แต่ทุกฝ่ายย่อมเห็นตรงกันว่า “ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือน ไม่มีการเลือกข้าง”
------------
วานนี้ (8 เม.ย. 67) เวลา 12.35 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เครื่องบินโดยสารจากเมียนมาจำนวน 1 ลำได้ลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด ก่อนบินกลับประเทศเวลา 22.00 น. ของวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า
ได้รับรายงานจากนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่นายจักรพงษ์ได้ชี้แจงไปว่า เป็นการขนย้ายพลเรือนตามปกติ ไม่ได้มีการขนส่งทางการทหาร และมีการขออนุมัติอย่างถูกต้องตามกระบวนการทุกอย่าง ไม่ได้เป็นการขนอาวุธ หรือทหาร
เมื่อถามย้ำว่า กระทรวงกลาโหมของเราได้มีการประสานกันอย่างถูกต้องตามขั้นตอนแล้วใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ส่วนการเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ทำเนียบรัฐบาลในวันนี้ (9 เม.ย. 67) นั้น เรื่องนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ส่วนเรื่องใหญ่ที่เรียกประชุมคือ เรื่องภายในเมียนมา จึงได้เชิญนายปานปรีย์ พหิธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก รวมทั้งที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางให้ไปในทิศทางเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ไทยและเมียนมามีชายแดนติดต่อกันยาว ได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับหากมีประชาชนจากฝั่งเมียนมาทะลักเข้ามาในประเทศไทยจากการสู้รบหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องการบริหารจัดการที่เป็นเอกภาพ ชายแดนไทยเมียนมามีเขตติดต่อกัน ประมาณ 2,000 กิโลเมตร อีกทั้งเมียนมาเองก็มีประชากรเกือบ 70 ล้านคนเท่ากับเรา ความประสงค์ของรัฐบาลไทยมีความชัดเจนว่า อยากให้เมียนมาเกิดความสงบ เป็นหนึ่งเดียวกัน ก้าวหน้า และเจริญเติบโตไปตามศักยภาพที่มี อยากให้เกิดสันติภาพ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญไทยอยากให้มีสันติภาพเกิดขึ้นในเมียนมา
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หากมีการทะลักเข้ามาของเมียนมา แผนรองรับของเราคืออะไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ ยังไม่การทะลักเข้ามา และที่ได้รับรายงานที่เข้ามาแล้วก็ยังไม่มีปัญหาอะไร
ถามต่อว่า ที่ผ่านมาไทยถูกมองเรื่องของสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการส่งกลับผู้อพยพ เรื่องนี้มีแผนเตรียมการไว้อย่างไรบ้าง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า อย่าพึ่งไปคาดเดา เพราะยังไม่เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น แต่ยืนยันว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ให้ความสำคัญกับเรื่องความสงบ และความปลอดภัยของพี่น้องประชาชน
--------------
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกลาโหม ยอมรับว่า เครื่องบินเมียนมา ที่มาลงจอดสนามบินแม่สอด เป็นการอพยพข้าราชการของรัฐบาลเมียนมา ที่เขาขอข้ามฝั่งมาเพื่อขึ้นเครื่องบิน เหมือนกับตอนที่เราส่งเครื่องบินของกองทัพไทย ไปรับคนไทย ที่ทำงานต่างประเทศ
ส่วนกระแสข่าว การขนเงิน และอาวุธยุทโธปกรณ์ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะเป็นเครื่องบินพาณิชย์ธรรมดา ไม่สามารถที่จะขน อาวุธยุทโธปกรณ์ได้อยู่แล้ว และสนามบินแม่สอด ก็เป็นท่าอากาศยานพาณิชย์ ไม่สามารถที่จะดำเนินการเช่นนั้นได้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ นายจิรายุ ยังอ้างว่า กระทรวงการต่างประเทศ และนายกรัฐมนตรีของไทย ยืนยันว่า เป็นเครื่องบินที่มารับข้าราชการ กลับไปยังเมืองเนปิดอว์ เมืองหลวงเมียนมา
--------------
เวลา 14.30 น. วานนี้ (8 เม.ย.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงเกี่ยวกับการอนุมัติเที่ยวบินพิเศษของเมียนมาที่ท่าอากาศยานแม่สอดว่า ตามที่ปรากฎข่าวการอนุมัติเที่ยวบินพิเศษของเมียนมามาที่ท่าอากาศยานแม่สอดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2567 นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้
กระทรวงการต่างประเทศได้รับคำขอจากสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยเมื่อช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2567 ขออนุมัติเที่ยวบินพิเศษจำนวน 3 เที่ยวสำหรับวันที่ 7 8 และ 9 เมษายน 2567 เส้นทางย่างกุ้ง-แม่สอด เพื่อขอขนส่งผู้คนและสิ่งของ ภายหลังได้รับคำขอดังกล่าวและเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ที่มีความเร่งด่วนและมีความเป็นไปได้ที่อาจต้องมีการอพยพบุคลากรของเมียนมาพร้อมครอบครัวไปยังพื้นที่ปลอดภัย จึงมีการตัดสินใจในระดับรัฐบาลที่จะอนุมัติคำขอของเมียนมาด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม
ต่อมา สภาความมั่นคงแห่งชาติได้จัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ที่ผ่านมาไทยให้ความช่วยเหลือทุกฝ่ายในเมียนมาตามหลักมนุษยธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยหน่วยงานความมั่นคงมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการบริหารจัดการ หากเกิดกรณีที่มีผู้บาดเจ็บ หรือผู้ที่ขออพยพข้ามแดนมาฝั่งไทย โดยจะไม่อนุญาตให้มีการนำอาวุธจากฝั่งใดๆ เข้ามายังฝั่งไทย
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2567 ได้มีเที่ยวบิน 1 เที่ยวบินจากเมียนมามาลงที่ท่าอากาศยานแม่สอดตามคำขอ และได้เดินทางออกนอกประเทศไทยไปแล้วในวันเดียวกัน
และล่าสุดฝ่ายเมียนมาได้แจ้งขอยกเลิกเที่ยวบินที่เหลือสำหรับวันที่ 8 และ 9 เมษายน 2567 แล้ว ขณะนี้รัฐบาลได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะบริเวณเมืองเมียวดีอย่างใกล้ชิด และมีความพร้อมที่จะดำเนินการที่จำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย
โดย วันนี้ (9 เม.ย.) จะมีการประชุมหารือที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อประเมินสถานการณ์และกำหนดแนวทางการดำเนินการของไทยต่อไป
ภายหลังการแถลงเสร็จสิ้น ได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถาม โดยไม่อนุญาตให้บันทึกภาพ
นายธนวัต ยืนยันกับสื่อมวลชนภายหลังแถลงข่าวว่าภารกิจหลักของรัฐบาลคือดูแลผลประโยชน์ของประเทศชาติและคนไทยเป็นหลัก ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ตนเชื่อว่าการดูแลความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดนและความมั่นคงปลอดภัยของพี่น้องชาวไทย เป็นสิ่งที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงของไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
เมื่อถามว่าการขออนุญาตลงจอดที่สนามบินแม่สอดในครั้งนี้ ถูกต้องตามหลักกฏหมายระหว่างประเทศหรือไม่ นายธนวัต กล่าวว่า ตามธรรมเนียมปฏิบัติจะมีการแลกเปลี่ยนบันทึกทางการทูตระหว่างกัน และมีการอนุมัติกันไป ตนคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่เราทำกันอยู่กับประเทศเพื่อนบ้าน
"เราเป็นที่รู้กันดีว่าเราอยู่ร่วมกันมานาน เราก็ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเมื่อจำเป็นเร่งด่วน เราเห็นแล้วว่าเขามีเหตุที่ขอมา และอยู่ในวิสัยที่สามารถอนุมัติได้ ก็คิดว่าปกติ และหากเราขอความร่วมมือจากประเทศชายแดนเพื่อนบ้านเช่นนี้ เราก็คงคาดหวังว่าเขาจะพิจารณาด้วยดีเช่นกัน" นายธนวัต กล่าว
นายธนวัต กล่าวอีกว่า ตนคิดว่าการตัดสินใจครั้งนี้ก็เป็นไปตามช่องทางที่ทางเมียนมาติดต่อมา คือสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยส่งบันทึกให้กระทรวงการต่างประเทศ
ส่วนสาเหตุของเที่ยวบินที่แจ้งยกเลิกนั้น ทางเมียนมาได้แจ้งหรือไม่ นายธนวัต กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ แต่คิดว่าอาจจะมีการหารือกันต่อไปในอนาคต
เมื่อถามว่ายังมีความกังวล หากทางการเมียนมาขนย้ายสิ่งของไปแล้ว จะมีการเอาคืนชนกลุ่มน้อยจนทำให้กระทบฝั่งไทย นายธนวัต ระบุว่า ตนในฐานะรองโฆษกกระทรวง อาจจะตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของการคาดหวัง ไม่ใช่การคาดการณ์ไปล่วงหน้า อาจจะไม่ใช่หน้าที่ของตนที่จะตอบ
เมื่อถามย้ำว่าจะมีความรุนแรงหรือไม่ เพราะมีกระแสข่าวว่ามีการปูพรมน่านฟ้า กระทรวงการต่างประเทศจะมีแนวทางดูแลคนที่อยู่ชายแดนอย่างไร นายธนวัต กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงของเรามีแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจน ความจำเป็นเร่งด่วนที่สุดก็คือผลประโยชน์ของประเทศไทย และความอยู่รอดปลอดภัยของพี่น้องชาวไทย เราเองก็มีแนวปฏิบัติของเรา ถ้าเป็นด้านมนุษยธรรม ถ้ามีใครขอเข้ามาก็มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนว่าห้ามเอาอาวุธเข้ามา ส่วนเรื่องอื่นถ้าเกิดขึ้น แล้วส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวไทยในชายแดน เราก็มีมาตรการรองรับอยู่แล้วเรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคงดูแลอย่างใกล้ชิด ตนคิดว่าพรุ่งนี้เช้า (9 เมษายน 67) ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบจะมีการหารือนั้น จะมีการพูดคุยเรื่องนี้กัน
ส่วนเรื่องนี้จะเป็นอุปสรรคต่อโครงการระเบียงมนุษยธรรมหรือไม่ นายธนวัต กล่าวว่า ก็คงมีข้อคำถามมากขึ้น แต่ตอนนี้อยู่ระหว่างการประเมินสถานการณ์ เรื่องการกำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติต่างๆ คงต้องประเมินสถานการณ์ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด และจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้บริหารในระดับสูงที่จะพูดคุยกัน เพราะจะเป็นการร่วมมือกันหลายฝ่าย
ส่วนเรื่องการอพยพมีการเตรียมแผนไว้หรือไม่ นายธนวัต ระบุว่า พรุ่งนี้คงมีการประเมินสถานการณ์ หากเลวร้ายลงจะไปในแนวทางไหน ตนเชื่อว่าฝ่ายความมั่นคงมีแผนอยู่แล้ว ทั้งนี้ต้องประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งพรุ่งนี้จะมีหน่วยงานความมั่นคงเป็นหลักในการประชุม
เมื่อถามว่าไทยจะมีการปรับบทบาทเข้าไปดูแลโดยที่ไม่ผิดหลักการแทรกแซงได้อย่างไร นายธนวัต กล่าวว่า ตอนนี้เราดูแลเรื่องมนุษยธรรม เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง ส่วนเรื่องในอนาคตคงต้องมีการมาพูดคุยกันว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร
ส่วนจะทำความเข้าใจกับชาติอื่นในอาเซียนอย่างไร ตนคิดว่าจุดยืนของไทยค่อนข้างชัดเจนว่ามีคำขอเข้ามา และเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน เป็นเรื่องมนุษยธรรม จึงค่อนข้างที่จะเป็นปกติ เพราะเราอยู่ประเทศเพื่อนบ้านกัน มีการแลกเปลี่ยนกันไปมาอยู่แล้ว
เมื่อถามว่ามั่นใจว่าไม่มีการยักย้ายถ่ายเทอาวุธใช่หรือไม่ นายธนวัต ย้ำว่า ตนเชื่อมั่นว่ามีการปฏิบัติตามแนวทางปฎิบัติของเราอย่างเคร่งครัด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ การติดต่อทางการทูตเป็นเรื่องที่เราทำเป็นประจำอยู่แล้ว หากมีการลักลอบดำเนินการ ทางฝ่ายเราเองก็ต้องติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิด และดำเนินการตามสิ่งที่เกิดขึ้นตามข้อมูลติดตามเหตุที่เกิดขึ้น
เมื่อถามว่าขณะนี้ ถือเป็นครั้งที่สองที่มีเที่ยวบินต่างชาติเข้ามาในสนามบินแม่สอด ต้นปีก็มีเที่ยวบินจีนมาขนคนจีน ทำให้ประชาชนมองว่ารัฐบาลทำอะไรโดยพละการ ดังนั้น จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนก่อนหรือไม่ว่าจะมีปฏิบัติการณ์แบบนี้เกิดขึ้น นายธนวัต กล่าวว่า คงต้องมีการหารือกัน ตนไม่อยู่ในวิสัยที่จะตอบได้
--------------
วานนี้ (8 เม.ย.) นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ทวีตถึงกรณีเมียนมาขอเที่ยวบินพิเศษ ส่งเครื่องบินพาณิชย์มาลงที่แม่สอดระหว่างวันที่ 7-8-9 เม.ย. เพื่อนำเจ้าหน้าที่ส่งกลับไปเมียนมา โดยระบุว่า
“เรื่อง #เมียนมา อยากให้ช่วยกันติดตามอย่างใกล้ชิดครับ เพราะเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจที่ไม่ฉลาดของรัฐบาลไทยอย่างมากในการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกขนส่งทหารของรัฐบาลทหารเมียนมาที่ยอมแพ้ไปก่อนหน้านี้และพวกทรัพย์สินเงินทองของฝั่งเมือง #เมียวดี มาสู่สนามบินแม่สอดเพื่อที่จะส่งกลับไปภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารพม่าต่อไป
แนวทางแบบนี้นี่แหละครับคือการชักศึกเข้าบ้าน สงครามกลางเมืองในเมียนมาเราไม่ควรที่จะวางตัวในการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาแบบนี้
ตอนนี้หลายฝ่ายเป็นกังวลว่าอาจจะมีการระเบิดปูพรมในเมียวดีซึ่งจะส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต และอาจนำไปสู่การหนีภัยการสู้รบมาที่ประเทศไทยได้ นานาชาติจะมองประเทศไทยว่าเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นเรื่องนี้อย่างแน่นอนและที่สำคัญก็จะเป็นประเทศไทยนี่แหละครับที่จะต้องรองรับผู้หนีภัยการสู้รบเหล่านี้
ประเทศไทยได้อะไรจากการช่วยรัฐบาลทหารเมียนมาครั้งนี้?”
--------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/AP8AsoAZLHY