เลือกตั้งและการเมือง

โซเชียลถกหนักมาก! ‘shortchanged’ คำโปรยปกนิตยสารไทม์ ฉบับ‘เศรษฐา’ แปลว่าอะไร ?

โดย petchpawee_k

14 มี.ค. 2567

230 views

จากกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พร้อมขึ้นปกนิตยสาร TIME โดยโปรยหน้าปกว่า  “The Salesman : Thai Prime Minister Srettha Thavisin is open for business in a country that feels shortchanged by his election”  เขียนโดย ชาร์ลี แคมป์เบลล์


ทำให้เมื่อวานนี้ (13 มี.ค.67) ในโซเชียลมีการถกเถียงกันหนักมาก ถึงคำว่า shortchanged  ที่ถูกโปรยบนปกนิตยสาร  เนื่องจากมีชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นว่า  shortchanged แปลว่า ถูกโกง ดังนั้นคำโปรยบนปกนิตยสาร ตรงประโยคที่ว่า in a country that feels shortchanged by his election  จึงอาจไม่ใช่คำที่กล่าวถึงนายเศรษฐา ในแง่บวกสักเท่าไหร่


 อย่างเช่น  นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตซ์ ประเทศไทย โพสต์ X ถึงคำนี้ว่า  “Shortchanged คือ “ถูกโกง” (เปรียบกับการถูกโกงเงินทอน) … ความหมายที่นิตยสารไทม์สื่อถึง คือ ประชาชนรู้สึกถูกโกงเพราะไม่ได้เลือก #เศรษฐา มาเป็นนายก (แต่ก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่งถูกกีดกันไม่ให้จัดตั้งรัฐบาล)”


คุณสุทธิชัย หยุ่น นักสื่อสารมวลชนชื่อดัง ก็โพสต์เกี่ยวกับคำศัพท์นี้ว่า “ศัพท์ร้อน ๆ วันละคำ วันนี้จาก ‘เศรษฐา’ ขึ้นปก Time: Shortchange: ฉ้อโกง, แกล้งทอนผิด, ทอนขาด!


หรือ จอห์น วิญญู พิธีกรดัง ที่แสดงความคิดเห็นถึงคำนี้ว่า “ประเทศที่รู้สึกถูกโกงการเลือกตั้ง” ว๊ายยยยยยยยยย

แต่ก็มีอีกฝ่ายที่ออกมาโต้ว่า การแปลคำว่า shortchanged  ในคำโปรยนี้ จะแปลโดดๆ ไม่ได้ อย่างเช่น  หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ คุณปลื้ม พิธีกรข่าวช่อง Voice TV และอดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศ NBT อธิบายคำว่า "Shortchanged" ของพาดหัว Time ฉบับหน้าปก นายกฯ เศรษฐา ไว้ว่า


ในบริบทนี้ ไม่ได้หมายความว่า “โกง หรือ ถูกโกง" แต่เป็นการอธิบายแทนคนไทยในการเลือกตั้ง ปี 66 ที่เลือกก้าวไกล มาเป็นที่ 1 เพื่อไทยมาเป็นที่ 2 และหวังว่า เพื่อไทย และก้าวไกล ซึ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตย จะจับมือกันตั้งรัฐบาล แต่สุดท้ายไม่ได้อยู่ด้วยกัน  ซึ่งเป็นเพียงลีลาการเขียนโปรยข่าวในแนวจิกกัดเล็กน้อย และไม่ได้ตำหนิพรรคเพื่อไทย


และการแปลของสำนักข่าว Voice TV ก็แปลประโยคนี้แบบเต็มๆว่า  "นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทย กับความพยายามเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประชาชนยังรู้สึกว่าไม่ได้อะไรเพียงพอจากการเลือกตั้ง"


ส่วนคุณแขก คำผกา  พิธีกรดัง ก็แปลประโยคนี้ว่า “นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทยพยายามกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างหนักเพื่อทด(แทน) ความรู้สึกผิดหวังของประชาชนจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่เขาเป็นแคนดิเดตนายกฯจากพรรคที่ได้ที่นั่งสส. อันดับสอง”

ส่วนนายวรนัยน์ วาณิชกะ นักวิจารณ์การเมือง อดีตคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ , บรรณาธิการนิตยสาร GQ Thailand  ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวภาษาอังกฤษ  Thisrupt  และอาจารย์พิเศษคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ที่กล่าวถึงคำนี้ว่า   “ถกเถียงกันเยอะว่า shortchanged แปลว่าอะไร นี่คือคำแปลจาก พจนานุกรม Britannica

Shortchanged คือ การได้รับในสัดส่วนที่น้อยกว่าสิ่งที่ควรจะได้รับหรือที่หวังไว้  ในบทความ ผู้เขียนกล่าวถึงระบบ สว.บวกกับการข้ามขั้วของเพื่อไทย ที่ทำให้ประชาชนที่หวังและควรได้รับชัยชนะของประชาธิปไตยนั้นถูก shortchanged ได้น้อยกว่าในสิ่งที่ตนต้องการ  Shortchanged ไม่ได้หมายถึงตัวบุคคลของนายก แต่คือระบบส.ว. + ข้ามขั้ว + การสะกัดกั้นก้าวไกล


“Shortchanged by his election” บนหน้าปก หมายถึงการเลือกคุณเศรษฐามานั้น เท่ากับชาวไทยได้ผู้นำมาในสัดส่วนที่น้อยกว่าสิ่งที่หวังไว้และควรได้รับ”

------------------------------------------------


นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นิตยสาร TIME (TIME Magazine) นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ภาพขึ้นปกของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฉบับวันที่ 25 มีนาคม 2567 พร้อมบทสัมภาษณ์ที่กล่าวถึงแนวคิด วิสัยทัศน์ ตลอดจนความคืบหน้าในการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง สะท้อนความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่เดินหน้า ทำงานเพื่อประชาชนอย่างต่อเนื่อง


โดยเนื้อหาภาพรวมในบทสัมภาษณ์ของ TIME Magazine เผยแพร่ในหัวข้อ “Thailand’s New Prime Minister Is Getting Down to Business. But Can He Heal His Nation?” (https://time.com/6899782/thailand-prime-minister-srettha-thavisin-business-hub/)


ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้เดินทางเยือนต่างประเทศมากกว่า 10 ครั้ง นับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่ง เพื่อเชิญชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งจากความพยายามของนายกรัฐมนตรี ได้ส่งผลให้ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในไตรมาส 4 ของปี 2566 เพิ่มสูงขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบรายปี อีกทั้งในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ยังสามารถเปิดการลงทุนในไทยได้จาก Amazon Web Services, Google และ Microsoft มูลค่ารวมกว่า 8.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ


นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ เช่น การลดราคาเชื้อเพลิง ประกาศการพักชำระหนี้เกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี และวางแผนนโยบาย 10,000 บาทดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคในประเทศ เพื่อรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งการผลักดันบทบาทของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ การดูแลสุขภาพ การเงิน และการนำเสนอโครงการ Landbridge มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือระนองบริเวณทะเลอันดามัน ผ่านทางถนน ทางรถไฟ และท่อส่งก๊าซ ไปยังจังหวัดชุมพรบนอ่าวไทย พร้อมกับการมีนโยบายด้านการต่างประเทศที่เป็นกลาง เช่น การเปิดให้ไทยเป็นเวทีกลางในการหารือกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ไทยสามารถทำหน้าที่เป็น“สะพาน” และ “พื้นที่ปลอดภัย” ได้ ขณะเดียวกัน พร้อมยกระดับประเทศไทยให้มีชื่อเสียงในเวทีสากล ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปทั่วโลก เพื่อทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุน


“การที่นายกรัฐมตรี ได้ขึ้นปกพร้อมบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มในนิตยสาร TIME สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับนายกรัฐมนตรีในฐานะ ผู้นำที่มีบทบาทอย่างชัดเจนในเวทีระหว่างประเทศ และตลอดเวลาการทำงานที่ผ่านมาในบทบาทของผู้นำไทยในเวทีโลก ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้เข้าใจแนวทางการทำงาน ความจริงจัง การตั้งใจทำงานของนายกฯ และตัวตนของนายกรัฐมนตรี” นายชัย กล่าว


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/mBRQ8Pw7pSU


แท็กที่เกี่ยวข้อง  นิตยสารไทม์ ,เศรษฐาทวีสิน

คุณอาจสนใจ

Related News