เลือกตั้งและการเมือง

'เท่าพิภพ' โต้บางพรรค หลังหาว่าบิดเบือนปมฉลากเหล้าเบียร์ ถามใครกันแน่ไม่ศึกษากฎหมาย

โดย nattachat_c

29 ก.พ. 2567

41 views

ดราม่า #ฉลากสยอง ฉลากข้อความเตือน ที่ขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อนหน้านี้เรามีฉลากข้อความเตือนหน้าซองบุหรี่ไปแล้ว มีภาพคนเป็นโรคต่างๆ เพื่อควบคุม เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขผุดไอเดียใหม่ ให้มีภาพเตือนรูปแบบเดียวกัน ที่หน้าขวดเครื่องเดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึง แอลกอฮอล์ ที่นำเข้าด้วย


เรื่องนี้ เป็นที่พูดถึงอย่างมาก มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข มีการร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกมา และเป็นดราม่า ระหว่างพรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล เมื่อวานนี้ ด้วย


หลังจากที่ สส. เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร พรรคก้าวไกล นำภาพ ฉลากเตือนดังกล่าว มาติดไว้ตามขวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


และระบุว่าเป็นการลองทำตามที่ร่างกฎหมายกำหนด จะได้สภาพขวดเครื่องดื่มแบบนี้ แล้วบอกด้วยว่า ตอนนี้ร่างประกาศ รอ คุณหมอชลน่าน (รมว.สธ.) เซ็นรับรองและบังคับใช้ได้เลย ก่อจจะมีการ แก้ไขโพสต์ให้ชัดเจนขึ้นว่า ตอนนี้ ร่างประกาศยังอยู่ระหว่างรับฟังความเห็น ถ้าผ่านแล้ว หมอชลน่าน เซ็นรับรองก็บังคับใช้ได้เลย


ซึ่งประเด็นนี้ ทำให้ พรรคเพื่อไทยก็ออกมาตอบโต้ ว่า สส.เท่าพิภพ บิดเบือน เพราะเรื่องนี้ยังเป็นร่าง ที่เปิดรับฟังความเห็นอยู่ ไม่ใช่รอลงนามแล้วบังคับใช้ได้เลย ตามที่ สส.เท่าพิภพ โพสต์ และยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่เห็นด้วย กับ การติดฉลากแบบนี้

-------------

ความคืบหน้าวานนี้ (28 ก.พ.) สส.เท่าพิภพ ได้ นำตัวแทนเครือข่ายธุรกิจอุตสาหกรรมสุรา นักวิชาการ รวมถึงสมาคมผู้ประกอบการนำเข้าและผลิตสุราแห่งประเทศไทย ผู้ผลิตไวน์ภายในประเทศ ยื่นหนังสือต่อนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลในฐานะประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร และนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านและเรียกร้องให้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง กรณีการติดฉลากเป็นรูปน่ากลัวบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


สส.เท่าพิภพ ตอบโต้กลับ ในประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าบิดเบือน โดยบอกว่า ตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมการก็คือนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นั่งหัวโต๊ะ เป็นผู้ลงนาม จะหาว่าตนบิดเบือนได้อย่างไร และบอกว่า ทำงานก็มีวุฒิภาวะหน่อย


ส่วน ผศ.ดร.เจริญ เจริญชัย ตัวแทนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มสุราพื้นบ้าน และนักวิชาการ ที่มายื่นเรื่องด้วย บอกว่าเรื่องนี้จะทำให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็น แต่ก็เป็นการโยนหินถามทางว่ารัฐบาลปัจจุบันนี้จะเห็นกับกฎหมายเหล่านี้อย่างไร เป็นการทดลองว่ารัฐบาลจะเอาด้วยหรือไม่ ตนประเมินว่าจะผู้ผลิตจะหายไปครึ่งหนึ่ง เพราะจะต้องเปลี่ยนฉลากใหม่ รวมถึงมีภาพที่เกิดผลกระทบต่อลูกค้า ที่จะนำสินค้าขายให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ "บางทีก็อาจจะลือไปทั่วโลก ว่าไม่ต้องมากินเหล้าที่เมืองไทยแล้ว เพราะมันน่าเกลียด"



สำหรับ ร่างประกาศ ฉบับนี้ มีทั้งสิ้น 12 ข้อด้วยกัน ประเด็นที่เป็นดราม่า เรื่อง ฉลากสยอง จะอยู่ที่ข้อ 7 กำหนดให้มีข้อความคำเตือนถึงโทษและพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนภาชนะบรรจุ ซึ่งให้จัดทำเป็นรูปภาพ 4 สี 6 แบบ สับเปลี่ยน กันไปตามลำดับในอัตรา 1 แบบ ต่อ 1000 ภาชนะบรรจุ และให้เป็นไปตามแบบของข้อความ ดังต่อไปนี้


แบบที่ ๑ "การดื่มสุรา ก่อให้เกิดโรคตับแข็งได้"

แบบที่ ๒ "การดื่มสุราแล้วขับขี่ ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ความพิการ และความตายได้"

แบบที่ ๓ "การดื่มสุรา ทำให้ขาดสติและเสียชีวิตได้"

แบบที่ ๔ "การดื่มสุรา ทำให้เสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้"

แบบที่ ๕ "การดื่มสุรา ก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวได้"

แบบที่ ๖ "การดื่มสุรา เป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อเด็กและเยาวชน"

แบบที่ ๗ "การดื่มสุรา เป็นอันตรายต่อสตรีมีครรภ์และเด็กในครรภ์มารดา"

แบบที่ ๘ "การดื่มสุรา ก่อให้เกิดโรคหัวใจได้"

แบบที่ ๙ "การดื่มสุรา ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมองได้"


นอกจากนี้ ยังกำหนดภาพ ประกอบข้อความคำเตือน 10 ภาพ ด้วยกัน เป็นภาพ เดียวกับ ที่ สส.เท่าพิภพ เอาไปทำเป็นตัวอย่าง ฉลากหน้าขวด


โดยมีภาพ เทียบ ตับดี ตับเสีย / ภาพ อุบัติเหตุ / ภาพ ลักษณะเหมือน ทำให้คนคิดสั้น / ภาพ สื่อถึงการเสื่อมสมรรถภาพ ทางเพศ / ภาพ คุ้มคลั่ง ทำร้ายครอบครัว เป็นต้น


ในการประกาศรับฟังความเห็น ระบุเหตุผลด้วยว่า เนื่องจาก ตาม มาตรา 26 (1) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดให้มีบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า กรมควบคุมโรคจึงเห็นควรที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ ข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า ขึ้นมา ให้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551


ตอนนี้เปิดรับฟังความเห็นอยู่ วันนี้ (29 ก.พ.) วันสุดท้าย ประชาชน สามารถแสกน คิวอาร์โค้ด ในภาพ เข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ ในระบบกลางทางกฎหมาย

--------------

ผู้ใช้ x รายหนึ่ง (@konthaiuk) โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุ "เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ก้าวไกล จอมตลบแตลง แก้โพสต์แล้วค่ะ หลังจากตีฟูให้ประชาชนเข้าใจผิดรัฐบาล สันดานเสีย ไร้คุณภาพ ขยะการเมืองแท้ๆ"


โดยเป็นภาพเฟซบุ๊กของ นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่ได้ทำการแก้ไขโพสต์กรณีฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยในตอนแรกบางส่วนของข้อความนายเท่าพิภพ โพสต์ว่า "ตอนนี้ร่างรอหมอชลน่านเซ็นต์รับรอบและบังคับใช้ได้เลย"


จากนั้นได้มีการแก้ไขข้อความ ระบุว่า "ตอนนี้ร่างข้อบังคับอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็น

--------------

นายเท่าพิภพ ยังกล่าวทิ้งท้ายการแถลงด้วยว่า นายแพทย์ชลน่านดูแลกำกับข้าราชการได้ดีแค่ไหน การปรับคณะรัฐมนตรีก็ใกล้เข้ามาแล้ว ซึ่งเดือนหน้าจะมีกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าสภา ตนและพรรคก้าวไกลได้เสนอร่างยกเลิกร่าง พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับนี้ ตนคิดว่าข้าราชการออกกฎ ใช้กฎหมายเอง เป็นเรื่องไม่ถูกต้องตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม


“ดังนั้น ถ้ารัฐมนตรีที่เป็นเจ้ากระทรวงเอง มีความรับผิดชอบ มาจากการเลือกตั้ง มาจากฝั่งการเมืองต้องคำนึงถึงเรื่องนี้” นายเท่าพิภพ กล่าว

--------------

จากกรณี โซเชียลวิพากษ์วิจารณ์ถึงการปรับเปลี่ยนฉลากบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่จะให้เพิ่มรูปภาพเป็นการเตือนถึงอันตรายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เหมือนเช่นบนซองบุหรี่


ล่าสุดทาง กรมควบคุมโรคได้ออกมาชี้แจงพร้อมเผยผลรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งนักวิชาการ ผู้ประกอบกิจการ ประชาชน พบว่า (28 ก.พ.67) ผู้แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 87 ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. .... กรมควบคุมโรคจึงเตรียมนำข้อมูลเสนอคณะอนุกรรมการร่างและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฯ ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป


วานนี้ (28 ก.พ.) นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากประเด็นข้อมูลในการออกประกาศเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับติดบนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทุกประเภท ทำให้หลายฝ่ายกังวลใจ กรมควบคุมโรคขอชี้แจงว่า การดำเนินการยกร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. .... นั้น เป็นเพียงขั้นตอนการเริ่มต้นเท่านั้น โดยเกิดจากมีผู้เสนอความเห็นทางวิชาการให้มีการกำหนดข้อความคำเตือนเช่นเดียวกับที่ติดบนซองบุหรี่ ซิกาแรต อย่างไรก็ตาม การจัดทำร่างประกาศที่มีผู้ได้รับผลกระทบจำเป็นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งผลการรับฟังข้อมูลเบื้องต้นล่าสุด มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น จำนวน 1,040 ราย (28 ก.พ. 67) พบว่า ร้อยละ 87 ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า พ.ศ. .... โดยการรับฟังความคิดเห็นจะสิ้นสุดลงในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ และจะนำมาสรุปเพื่อนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฯ เพื่อพิจารณาประกอบการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศอีกครั้ง ก่อนดำเนินการส่งให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณาต่อไป


นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฯ ใส่ใจและรับฟังข้อมูล รอบด้าน การมีผู้เสนอพัฒนามาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามา โดยอาจเห็นผลสำเร็จจากการติดฉลากเตือนบนผลิตภัณฑ์ยาสูบ ทั้งที่ยังไม่มีการกระทำมาก่อน แต่ก็ไม่ได้ละเลยข้อเสนอของทุกกลุ่ม จึงเสนอมาตรการเข้ามา คณะอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฯ มีหน้าที่ดำเนินการขับเคลื่อน โดยการขับเคลื่อนต้องคำนึงถึงผลกระทบในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม วัฒนธรรม การท่องเที่ยว หาสมดุลที่เหมาะสมในการดำเนินการ จึงส่งให้สังคมรับรู้และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน


ทั้งนี้ หากประชาชนมีความกังวลใจ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เว็บไซต์ www.ddc.moph.go.th หรือหากพบการกระทำผิดกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถร้องเรียนผ่านระบบสารสนเทศเพื่อเฝ้าระวัง การละเมิดกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (TAS) โดยสามารถเข้าใช้งานผ่านเว็บไซต์ https://tas.go.th และขอความร่วมมือจากประชาชนปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทร.0 2590 3342 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422


เนื่องจาก พรบ.แอลกอฮอล์ มาตรา26(1) ต้องออกกฏหมายลูก เรื่อง ฉลาก บรรจุภัณฑ์ คำเตือน มีนักวิชาการในกรรมการเสนอ ให้เหมือนบุหรี่ บางท่านก็ค้าน สรุป ก็ให้ทำตามกฎหมาย ส่งให้ผู้เกี่ยวข้อง ประชาชนแสดงความเห็น เพื่อจะได้เอามาเป็นข้อมูล แก้ไข ผลไม่เห็นด้วย 87% ซึ่งขั้นตอนทุกอย่างเพียงแค่เริ่มต้น ท่าน รมต.ยังไม่ทราบเพราะยังไม่ถึงคณะที่ท่านเป็นประธาน  การส่งให้ประชาชน ช่วยเสนอความเห็นเป็นสิ่งดี เพื่อการมีส่วนร่วม

--------------
รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/vkRoCRSZgs8

คุณอาจสนใจ

Related News