เลือกตั้งและการเมือง

ประท้วงเดือด 'ชัยธวัช' จี้จุดชั้น 14 - นายกฯเชื่อราชทัณฑ์พิจารณาดีแล้ว - รพ.ตำรวจ แจงไม่อนุญาตขึ้นชั้น 14

โดย nattachat_c

12 ม.ค. 2567

18 views

วานนี้ 11 ม.ค.67 กรมราชทัณฑ์ รายงานสถานการณ์ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร ออกรักษาตัวภายนอกเรือนจำเกิน 120 วัน ระบุว่า ตามที่กรมราชทัณฑ์ ได้ส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ออกรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลภายนอก ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2566 โดยพบว่านายทักษิณฯ มีโรคประจำตัวหลายโรคที่อยู่ระหว่างการรักษาติดตามอาการ โดยโรคที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และเนื่องจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ยังขาดเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพ แพทย์จึงมีความเห็นว่าเพื่อป้องกันความเสี่ยงอันตรายที่อาจจะส่งผลต่อชีวิตเห็นควรส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจที่มีความพร้อม มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงกว่าโดยแนวปฏิบัติกรณีมีผู้ป่วยที่ต้องเฝ้าระวัง และยังคงรักษาตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันนั้น


รมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า ขณะนี้นายทักษิณ ชินวัตร ได้ออกไปรับการรักษาตัวยังโรงพยาบาลตำรวจเกินระยะเวลา 120 วัน โดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการประสานไปยังโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อรับทราบถึงอาการป่วยของนายทักษิณฯ ซึ่งแพทย์ได้รายงานอาการเจ็บป่วยในหลายประการที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแจ้งความเห็นว่าผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษาของแพทย์เฉพาะทางและต้องดูแลอย่างใกล้ชิดถึงอาการป่วยเพื่อให้พ้นจากสภาวะอันตรายแก่ชีวิตเพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จึงได้รายงานมายังกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการพิจารณา ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ที่ระบุไว้ว่า กรณีผู้ต้องขังต้องพักรักษาตัวที่สถานที่รักษาเป็นเวลานาน ให้ผู้บัญชาเรือนจำดำเนินการ ดังนี้ กรณีการพักรักษาตัวเกินกว่า 120 วัน ให้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากอธิบดี พร้อมกับความเห็นแพทย์ผู้ทำการรักษาและหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง และรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป


อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาจากความเห็นของแพทย์ผู้ทำการรักษาที่พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ยังต้องดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดประกอบกับเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งมีความครบถ้วนตามกฎหมาย จึงพิจารณาเห็นชอบ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 ให้นายทักษิณฯ อยู่รักษาตัวต่อยังโรงพยาบาลตำรวจ เนื่องจากยังคงมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดโดยแพทย์ผู้ทำการรักษาเฉพาะทาง และหากเกิดภาวะแทรกซ้อน หรืออาการที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตจะได้ดำเนินการรักษาอย่างทันท่วงที


โดยกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ จึงรายงานให้รัฐมนตรีทราบต่อไป ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 โดยกรมราชทัณฑ์ ยังคงยึดหลักการสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังพึงได้รับตามมาตรฐานสากลรวมถึงเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยและตามจรรยาบรรณของแพทย์ ข้อมูลส่วนบุคคลหรือการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล จำเป็นต้องได้รับคำยินยอมจากเจ้าของข้อมูลด้วย กรมราชทัณฑ์จึงไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ป่วยออกสู่สาธารณชนได้ ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ตลอดจนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 323 และข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกร พ.ศ.2549 ข้อ 27 ซึ่งแพทย์ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

-------------
วานนี้ (11 ม.ค.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม นายชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจ จึงมอบหมายให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ตอบกระทู้แทน


จากนั้น นายชัยธวัช ตั้งคำถามครั้งที่สองว่า หลังจากที่มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว ยังคงมีการดำเนินคดีทางการเมืองต่อผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 9 คดี และผู้ต้องหาบางคนไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว จากปัญหาหลักเกณฑ์ที่ไม่แน่นอน กระทบต่อสิทธิของประชาชน เช่นเดียวกับการคุกคามทางการเมืองก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ความรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน ยิ่งรุนแรงมากขึ้น จากกรณีการรักษาตัวนอกเรือนจำบนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเมื่อเทียบเคียงกับกรณีทั่วไปเป็นเรื่องที่ยากมาก


จากนั้น นายไชยวัฒนา ติณรัตน์ สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทยได้ลุกขึ้นประท้วงทันที ขอให้นายชัยธวัชรักษาเวลาในการตั้งคำถาม เพราะตอนนี้ได้ใช้เวลาหมดลงไปแล้ว


นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานในที่ประชุมจึงอนุโลมในประเด็นที่ประท้วงให้ เนื่องจากยังอยู่ในประเด็นที่ต้องการถาม


นายชัยธวัช จึงถามต่อว่า ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการตั้งคำถาม ถึงความเสมอภาค ในกระบวนการยุติธรรม รัฐบาลอาจอ้างว่าเรื่องนี้ถูกต้องตามระเบียบ แต่ตอนนี้มีผู้ที่ ได้รับสิทธิ์ไปรักษานอกเรือนจำเกิน 120 วัน เพียง 3 คน


ทันใดนั้น นายไชยวัฒนา ได้ยกมือประท้วงอีกครั้ง เนื่องจากเป็นการถามนอกประเด็น จนทำให้ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วงนายไชยวัฒนา ว่า "เมื่อประธานวินิจฉัยเรื่องเวลาแล้วถือเป็นเด็ดขาด แต่นายชัยวัฒนายังมีพฤติกรรมดื้อดึง ยกมือขึ้นยกมือลงไม่จบไม่สิ้น ทำไมชั้น 14 แตะไม่ได้เลยหรือไร ตนจะเอาข้าวผัดกับโอเลี้ยงไปฝาก"


นายไชยวัฒนาจึงโต้กลับว่า "คุณวิโรจน์ยังเลอะเทอะอยู่ เพราะในการประชุมครั้งที่แล้วนายวิโรจน์ก็พูดคำว่าสันดานในที่ประชุม ตนยังไม่ประท้วงเลย เดชะบุญของคนกรุงเทพมหานคร"


นายวิโรจน์ จึงได้ลุกขึ้นใช้สิทธิ์พาดพิงโต๊ะกับนายไชยวัฒนา ว่า "การพูดแบบนี้ก็ส่อ ถึงพฤติกรรมของคนพูด แล้วขอยืนยันว่า คำวินิจฉัยของประธานในเรื่องเวลาเป็นอันเด็ดขาด หากมีพฤติกรรมยกมือขึ้นยกมือลง คำที่พูดเมื่อกี้ก็จะย้อนกลับมาที่ตัวท่านเอง"


จากนั้นนายภูมิธรรม ได้ลุกขึ้นตอบคำถามถึงการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว โดยใช้มาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้เห็นด้วยกับการคุกคาม หรือทำให้เกิดความหวาดกลัว เพราะถือเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากมีพฤติกรรมที่เป็นรูปธรรมจะมีกระบวนการ ทางกฎหมายดูแลอยู่ แต่ที่หลายคนมองว่าเป็นประเด็น ก็เป็นผลพวงจากความขัดแย้งทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงคือทุกคนต้องเคารพกฎหมาย ส่วนกฎหมายที่ไม่ยุติธรรมไม่เป็นธรรม หรือเป็นปัญหาก็ต้องเข้าสู่กระบวนการแก้ไข เพราะหากมีกฎหมายแล้วไม่ปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ก็จะลำบากใจ หากไม่ทำเจ้าหน้าที่ก็จะโดนมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงขออย่าไปท้าทายกฎหมาย ส่วนความขัดแย้งทางการเมือง ขอให้หันหน้ามาพูดคุยกัน ด้วยการหาทางออกอย่างสันติ ส่วนที่ได้มีการกล่าวถึงความเสมอภาคเท่าเทียม และชั้น 14 ตนมองว่า นายชัยธวัชไม่ได้ทำความเข้าใจในรายละเอียดของกฎหมายเท่าที่ควร หากเข้าใจจะไม่รู้สึกเช่นนี้ เพราะกฎหมายที่ออกมาทำให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียม และกฎหมายฉบับนี้ก็เกิดตั้งแต่สมัยรัฐบาลที่แล้ว พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้เป็นคนสร้างขึ้นมาเพื่อใคร ผู้ที่อยู่ในเรือนจำหากแพทย์วินิจฉัยว่าป่วยก็ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย เรื่องชั้น 14 เมื่อแพทย์วินิจฉัยก็ถือเป็นอันสิ้นสุด


"หากท่านอยากเรียกร้องอะไร ก็ไปเรียกร้องกับแพทย์ที่รับผิดชอบ อย่าเอากระบวนการที่ทำโดยปกติ มาโยนใส่รัฐบาล และทำให้กลายเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำ หรือความไม่เสมอภาคกันขอให้ใจกว้างๆและใจเย็นๆ และคิดให้ดี หากยังจุกจิกแบบนี้ ปัญหาของประเทศจะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ขอให้ใจเที่ยงธรรมหากกฎหมายฉบับนี้ต้องการออกมาเพื่อคนคนเดียว ถือเป็นเรื่องไม่ถูกไม่มีใครเขาทำ กฎหมายทุกวันนี้เพื่อคนส่วนใหญ่ ตามหลักสากล" นายภูมิธรรมกล่าว

-------------

วานนี้ (11 ม.ค.67) พ.ต.อ.หญิงศิริกุล ศรีสง่า โฆษกโรงพยาบาลตำรวจ เปิดเผยกรณีคณะกรรมาธิการตำรวจ (กมธ.ตร.) ทำหนังสือขอมาศึกษาดูงาน รพ.ตำรวจ โดยยืนยันว่าขณะนี้ พล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ (สบ.8) โรงพยาบาลตำรวจ ได้มีหนังสือตอบรับไปยังคณะกรรมาธิการตำรวจ เพื่อให้เข้ามาศึกษาดูงานเกี่ยวกับการนำตัวผู้ต้องขังที่ ส่งจาก ราชทัณฑ์ มารักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ในวันศุกร์ที่ 12 ม.ค.67แล้ว โดยย้ำว่าการเข้ามาศึกษาดูงานจะต้องไม่กระทบการทำงานของบุคคลากรทางการแพทย์ ไม่กระทบสิทธิ์หรือละเมิดสิทธิ์ของผู้ป่วยที่มาใช้บริการ และไม่ทำความเสียหายให้โรงพยาบาลตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่วนที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีนายกรัฐมนตรี ซึ่งรักษาตัวอยู่ชั้น 14 อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา จะสามารถขึ้นไปดูได้หรือไม่นั้น ระบุว่า ไม่สามารถทำได้ เพราะการจะไปดูผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นนายทักษิณหรือผู้ป่วยรายอื่นโรงพยาบาลตำรวจคงไม่อนุญาต


ส่วนการดูงานมีหลายรูปแบบซึ่งทางกองอำนวยการ โรงพยาบาลตำรวจ จะมีการนำเสนอหรือให้ข้อมูลตามทุกอย่างที่คณะกรรมาธิการตำรวจสงสัยหรืออยากทราบข้อมูลส่วนไหนก็สามารถตอบได้ทุกคำถามโดยไม่กระทบกับคนไข้ ย้ำว่าสามารถให้ข้อมูลในภาพรวมและอธิบายได้ทุกขั้นตอน โดยเฉพาะเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังมารักษา แต่การจะขอไปดูคนไข้รายใดรายหนึ่งแค่คิดก็ไม่เหมาะสมแล้ว


ส่วนจะมีการให้วิดิโอพูดคุยหรือเยี่ยมคนไข้ได้หรือไม่ โฆษก รพ.ตำรวจ กล่าวว่า รูปแบบดังกล่าวทาง รพ.ตำรวจ ไม่เคยทำเพราะเกรงจะเป็นการละเมิดสิทธิ์ของคนไข้ โดยเฉพาะหากคนไข้ไม่อนุญาตก็ไม่สามารถทำได้ทุกกรณี อีกทั้งการขอมาศึกษาดูงานของ กมธ.ตร.ก็ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นส่วนใดส่วนหนึ่งแต่เป็นการขอดูงานในภาพรวมเท่านั้น พร้อมย้ำว่าไม่สามารถพาขึ้นไปดูที่ชั้น 14 ที่พักรักษาตัวของ นายทักษิณได้ รวมถึงการขอดูผ่านกล้องวงจรปิดในห้องควบคุม ซึ่งหากมีการขอดูทางแพทย์ใหญ่ได้มอบหมายผู้เกี่ยวข้องเป็นคนอธิบายและให้ข้อมูลไว้แล้วโดยจะต้องเป็นไปตามความเหมาะสม โดยในวันนี้(12 ม.ค. 67) จะมีการจัดห้องประชุมชั้น 6 อาคารศรียานนท์ โรงพยาบาลตำรวจให้กมธ.ตร.ได้รับทราบ

------------
วานนี้ (11 ม.ค.67)  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ที่จังหวัดเชียงใหม่ถึงกรณีที่กรมราชทัณฑ์อนุญาตให้นายทักษิณ ชินวัตร สามารถพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจต่อได้ ว่า ตนเชื่อว่ากรมราชทัณฑ์น่าจะได้รับการเสนอเรื่องมาจากโรงพยาบาลตำรวจอยู่แล้ว ขณะเดียวกันสิทธิของผู้ป่วยก็ต้องมีด้วย ซึ่งตนก็มั่นใจว่ากรมราชทัณฑ์ได้พิจารณาอย่างดีแล้ว และทางกระทรวงยุติธรรมก็ได้ตอบรับดีแล้ว


เมื่อถามว่าเป็นห่วงหรือไม่ ที่จะมีกลุ่ม คปท. จะมา ปักหลักค้างคืนที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันกรณีนายทักษิณ โดยนายกรัฐมนตรี ยิ้ม ก่อนจะหยุดคิดและตอบว่า ผมเชื่อว่าทุกคนรู้ว่าเรา มีหน้าที่อะไร เรื่องร้องเรียนก็มีเข้ามาแล้ว โรงพยาบาลตำรวจก็พยายามตอบแล้ว กรรมาธิการตำรวจสภาผู้แทนราษฎร ก็จะมีการขึ้นไปตรวจสอบเช่นกัน กระบวนการตรวจสอบก็ถูกต้องแล้ว แต่ก็แล้วแต่ถือว่าเป็นสิทธิ์การชุมนุม แต่ไม่อยากให้เกิดบรรยากาศ ทำนองนี้เกิดขึ้น เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่รัฐบาลต้องทำ และตนเองอยากทำให้ทุกอย่างดีขึ้น พยายามทำอย่างเต็มที่ทุกรายละเอียดปีกย่อย และจะทำต่อ หลายเรื่องก็ราบรื่นแต่หลายเรื่องก็ยอมรับว่างบยังขาดทุนอยู่ ซึ่งต้องตามว่าการทำงานเป็นไปตาม KPI หรือไม่


ส่วนจะต้องมีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลความปลอดภัยเพิ่มหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าตนมั่นใจในความมั่นคง ว่าฝ่ายความมั่นคงสามารถดูแลได้


ส่วนกังวลหรือไม่ว่าจะทำให้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวทำงานไม่ราบรื่น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนกังวลทุกเรื่อง ทั้งPM 2.5 การท่องเที่ยว ม็อบก็กังวล เพราะแบกความหวังของประชาชนเกือบ 70 ล้านคนไว้ มีหน้าที่ทำอะไรก็ต้อง ทำมีหน้าที่ทำให้ประเทศก็ต้องทำให้ดีที่สุด มั่นใจว่า เรื่องนี้จะเป็นผลดีกับทุกคน ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน


เมื่อถามถึงกรณีที่นักวิชาการมองว่าหากองค์กรโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่สามารถทำต่อได้อาจจะต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีเป็นนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่าจะไปถึงจุดนั้นหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ยิ้มก่อนจะตอบว่า ตนมีความตั้งใจจะเป็นนายกรัฐมนตรี 4 ปี และมั่นใจถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีครบ 4 ปี ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนจะดีขึ้น ตนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำสิ่งเหล่านี้ให้กับประชาชนจริงๆ

--------------
วานนี้ (11 ม.ค. 67) เวลา 13:00 น. ที่กรมราชทัณฑ์  พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการราชทัณฑ์ พร้อมด้วยนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมประชุมกับคณะกรรมการราชทัณฑ์ เพื่อออกหลักเกณฑ์คัดกรองผู้ต้องขัง ที่เข้าข่ายตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 เพื่อพิจารณาให้นักโทษที่เข้าเกณฑ์ ได้คุมขังนอกเรือนจำ


ภายหลังการประชุม พ.ต.อ.ทวี เปิดเผยว่า วานนี้ (11 ม.ค.67) ได้มีการรับทราบความคืบหน้าของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ที่มีการออกระเบียบดังกล่าว ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา จึงนำเข้าให้ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ร่วมรับทราบ พร้อมยืนยันว่า การประชุมในเมื่อวานนี้ (11 ม.ค.67) ไม่ได้มีการระบุถึงตัวบุคคลหรือสถานที่ เช่น กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลนอกเรือนจำ เกิน 120 วัน แต่เป็นการพูดถึงภาพรวมของระเบียบให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ออกมา ซึ่งได้กำชับให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไปทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับกรณีที่มีการออกระเบียบมาในช่วงเวลานี้พอดี ว่าเป็นไปตามวาระที่ต้องมีการขับเคลื่อน และเป็นจังหวะที่รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาพอดี


ส่วนกรณีของนายทักษิณ จะเข้าข่ายได้รับสิทธิประโยชน์จากหลักเกณฑ์ดังกล่าวด้วยหรือไม่นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวเพียงว่า ให้เป็นไปตามอำนาจของผบ.เรือนจำแต่ละแห่งไปพิจารณาคัดเลือก พร้อมย้ำว่าการให้ไปคุมขังที่อื่นไม่ใช่การปล่อยตัวออกไปเพราะหากจะปล่อยตัวต้องขอศาลออกหมายโดยระเบียบลักษณะนี้ ในต่างประเทศก็มีการดำเนินการเหมือนกัน

-----------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/RAkOVwTBzno

คุณอาจสนใจ

Related News