เลือกตั้งและการเมือง

'ทวี' อ้ำอึ้ง ตอบกระทู้สดปม 'ทักษิณ' นอน รพ.120 วัน - 'กมธ.ตำรวจ' เตรียมบุกชั้น 14 นัดพิสูจน์ 12 ม.ค.67

โดย nattachat_c

22 ธ.ค. 2566

146 views

วานนี้ (21 ธ.ค. 66) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) วาระกระทู้ถามสดด้วยวาจา ด้าน นางสาวชลธิชา แจ้งเร็ว สส.ปทุมธานี พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถาม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงกรณีการรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทน


นางสาวชลธิชา จึงเปิดประเด็นกระทู้ถามสดว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นสัญญาต่อที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า จะสร้างความเข็มแข็งในหลักนิติธรรม และประกันว่า กฎหมายจะเป็นธรรม บังคับใช้อย่างทุกคนอย่างเสมอภาค ด้วยเหตุนี้ จึงใช้โอกาสนี้ ตั้งคำถามถึงการบังคับใช้กฎหมาย และนโยบายต่อผู้ต้องขัง ซึ่งผู้ต้องขังทุกคนต้องเข้าถึงสิทธิในการรับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม เหมือนกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หากมีอาการเจ็บป่วยเกินกำลังศักยภาพของเรือนจำ ต้องได้รับการส่งต่อให้โรงพยาบาลภายนอกที่มีศักยภาพเพียงพอเช่นกัน


“ใช่ว่าดิฉันไม่ต้องการให้ คุณทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธินี้ แต่ดิฉันต้องการถามถึงเกณฑ์พิจารณาเรื่องนี้ ที่มีบรรทัดฐานว่า สุดท้ายแล้ว กรมราชทัณฑ์จะมีเกณฑ์พิจารณาการให้สิทธิผู้ต้องขังไปรักษาพยาบาลด้านนอกอย่างไร ... ไม่อยากให้กระบวนการยุติธรรมของบ้านเราถูกตั้งคำถาม หรือลดความเชื่อมั่นของสังคมมากกว่านี้” นางสาวชลธิชา กล่าว


นางสาวชลธิชา ถามว่า เนื่องด้วยกรณีของ นายทักษิณ นั้น ได้รับการส่งตัวไปรักษาพยาบาล ตั้งแต่วันแรกที่เข้าสู่เรือนจำ ขณะนี้ เป็นเวลาเกินกว่า 120 วัน แล้ว


ซึ่งที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังเพียง 4 คน เท่านั้น ที่ได้รับการรักษานอกเรือนจำเกินกว่า 120 วัน จึงต้องการสอบถามเกณฑ์พิจารณาการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาด้านนอกเรือนจำ ผ่านความเห็นแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ การอนุมัติของพัศดีและ ผบ.เรือนจำ ตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการอนุญาตให้ผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2559 หรือไม่


และเหตุใดจึงให้ นายทักษิณ เข้ารับการรักษา ณ ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งเป็นห้องพักพิเศษ แยกจากห้องพักผู้ป่วยทั่วไป


นอกจากนี้ ยังต้องการถามถึง ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 มีความเป็นไปได้ในการใช้ระเบียบใหม่แก้ไขปัญหาความแออัดในเรือนจำอย่างไร ผู้ต้องขังที่เข้าข่ายระเบียบนี้ มีจำนวนเท่าใด และครอบคลุมผู้ต้องขังกลุ่ม หรือคดี ประเภทใดบ้าง


ทั้งนี้ ประธานการประชุม ได้กล่าวเตือน นางสาวชลธิชา ว่า การตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจานั้น ถามได้ถึง 3 ครั้ง และผู้ตั้งกระทู้ถามต้องถาม ไม่ใช่บรรยาย

------------

ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตอบชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี ว่า


นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ภายใต้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา


ต่อมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในเวลาล่วงมาเกือบ 20 วัน คือวันที่ 11 กันยายน 2566 ซึ่งกระบวนการของ นายทักษิณ นั้น เป็นกระบวนการแรกที่รัฐบาลนี้ไม่ได้รับรู้ แต่รับรู้ตามข่าวเหมือนประชาชน


พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้รักษาการพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ซึ่งตราขึ้นในรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ใช่รัฐบาลปัจจุบัน


รัฐบาลนี้ยืนยันในเรื่องหลักนิติธรรม ซึ่งคือหลักที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดหรือมีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุด กฎหมายที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ นอกจากจะใช้ไม่ได้ ยังขัดกับหลักนิติธรรมด้วย การบังคับใช้กฎหมายจึงต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย


ซึ่ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ระบุเจตนารมณ์การตรากฎหมายไว้ชัดเจนว่า พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มีการบังคับใช้เป็นเวลายาวนาน ไม่สอดคล้องกับกฎหมายอาญา ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักสากล เมื่อตรวจดูเหตุผลการออกกฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่ถูกตราหน้าจากสังคมโลก นั่นคือมีเรือนจำที่นักโทษล้นคุก เปรียบเสมือนการทรมาน ไม่มีสถานที่อื่นใดคุมขังนอกจากเรือนจำ ทำให้ระบบพัฒนาพฤตินิสัย และการบริหารเรือนจำ ไม่เป็นไปตามที่กำหนด สมควรให้มีคณะกรรมการราชทัณฑ์ 29 คน ให้มีนโยบายบริหารงานราชทัณฑ์ และปรับปรุงกฎหมาย


อีกทั้ง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ยังกำหนดให้ตรากฎหมายลำดับรองตามมาด้วย จึงมีการออกกฎหมายลูกอย่างระเบียบดังกล่าวตามมา


ทั้งนี้ พ.ต.อ.ทวี ยังเปิดเผยว่า ไม่มีการประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์เลย จึงตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อออกระเบียบดังกล่าวออกมา


ส่วนกรณี นายทักษิณ นั้น พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ได้เรียกร้องให้ นายทักษิณ กลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เมื่อพิจารณาในหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  หากมีการรักษาพยาบาลเกินกว่า 120 วัน จะต้องมีหนังสือของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมความเห็นแพทย์ผู้รักษา และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รายงานให้รัฐมนตรีทราบ ซึ่งรัฐมนตรีไม่ใช่ผู้อนุมัติ


“สำหรับผู้...คนอื่นที่ป่วย มีอย่างนี้บ้างหรือไม่ ก็มีรายงาน ก็มี มีจำนวนมากเลยครับ เป็นหลัก... ก็มีจำนวนมาก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวอย่างตะกุกตะกัก


อย่างไรก็ตาม พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า แม้วันนี้ ยังไม่มีหลักฐาน แต่กระบวนการตรวจสอบกรณี นายทักษิณ และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม นั้น มีจำนวนมาก ทั้งการชี้แจงกรรมาธิการของรัฐสภา และผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งองค์กรแบบนั้นน่าจะเป็นที่ยอมรับได้


“ผมจะพูดข้อเท็จจริงต่อเมื่อมีพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริงที่ไม่มีพยานหลักฐาน ถือว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง ผมเองก็รอ และทราบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่า น่าจะวันนี้ หรือถึงเมื่อไร เพราะถึงเมื่อวาน เอกสารก็ยังไม่ส่งมา ส่วนรายงาน ถ้าพูดแค่นี้ มันเหมือนศรีธนญชัย คือเป็นรัฐมนตรีรับผิดชอบตามกฎหมาย ก็ไม่ได้ติดตามเหรอ ?”


พ.ต.อ.ทวี ยืนยันว่า สถานที่ที่นายทักษิณอยู่นั้น เป็นไปตามกฎหมาย ไม่สามารถออกไปไหนได้ และแพทย์ยืนยันว่า นายทักษิณ ป่วยจริง แต่เนื่องด้วย พ.ร.บ. เกี่ยวกับทางการแพทย์ จึงไม่อาจดูผลการรักษาได้ หากผู้ป่วยไม่ยินยอม


“ถามจากคุณหมอตรง ๆ คุณหมอยังอยู่ข้างหลังนี่เลย ยืนยันว่า ท่านป่วยจริง ท่านมีหลักฐานตามที่ปรากฏจริง ประเด็นดังกล่าวก็มีการรายงาน ถ้าผมอ่านจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็เป็นเหมือนเรื่องเดิม ผู้ป่วยมีหลายโรค มีกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีความดันโลหิตสูง ไล่มาหมด เป็นความเห็นแพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์”

----------------

นางสาวชลธิชา ถามครั้งที่สองว่า กรณีนายทักษิณรักษานอกเรือนจำ รวมถึงการพักห้องพิเศษบนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจนั้น เป็นไปตามหลักการปกติหรือไม่ ตลอดจนการบังคับใช้ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566


พ.ต.อ.ทวี ตอบว่า เท่าที่ได้รับรายงานจากปลัดกระทรวงนั้น เป็นไปตามหลักการปกติ โรงพยาบาลถือเป็นเรือนจำต่อเนื่อง ที่มีผู้คุม มีระเบียบปฏิบัติ เหมือนเรือนจำทุกอย่าง ส่วนระเบียบใหม่นั้น มีแนวทางปฏิบัติ ซึ่งระเบียบดังกล่าวยังไม่เสร็จ เพราะต้องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการราชทัณฑ์ โดยมีงานวิจัยรองรับจำนวนมาก


“ไม่มีอภิสิทธิ์สำหรับใครคนใดคนหนึ่ง เป็นการปฏิบัติเพื่อสร้างหลักนิติธรรม จากคะแนน 0.25 เพื่ออยากให้ได้ 0.5 เต็ม 1 เหมือนประเทศอื่นเขา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว

----------------

นางสาวชลธิชา ถามย้ำครั้งสุดท้ายว่า กฎการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษานอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 ห้ามไม่ให้ผู้ต้องขังอยู่ห้องพิเศษแยกจากห้องพักผู้ป่วยทั่วไป รัฐมนตรีมีการตรวจสอบให้สังคมมั่นใจได้อย่างไรว่า ไม่มีการเลือกปฏิบัติ พร้อมขอให้รับปากส่งเอกสารมาชี้แจงเพิ่มเติมต่อไปด้วย


พ.ต.อ.ทวี ตอบชี้แจงครั้งสุดท้าย ว่า ชั้น 14 ไม่ใช่ชั้นพิเศษ ส่วนรายงานเอกสารที่จะให้เปิดเผยนั้น จะมอบให้ แต่ขอสงวนเรื่องอาการป่วย ที่ต้องเป็นความลับตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ และมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งจะทำให้ตนเองผิดกฎหมายด้วย


“แต่ว่าก็มีวิธีการเรื่องความปลอดภัย ผมยังพบผู้ใหญ่ ก็ไปเยี่ยมญาติชั้น 14 เหมือนกัน แต่เป็นคนละส่วน แต่ว่าเรื่องระบบรักษาความปลอดภัยของราชทัณฑ์มี นี่คือสิ่งที่ได้รับการยืนยันจากเอกสาร”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการชี้แจงของ พ.ต.อ.ทวีนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นไปอย่างตะกุกตะกัก และบางคำชี้แจง ยังพบเป็นประเด็นวนเวียน และอ้ำอึ้ง โดยเฉพาะในส่วนของอาการป่วยของนายทักษิณ และหลักเกณฑ์คุมขังนอกเรือนจำ
------------

วานนี้ (21 ธ.ค. 66) คณะกรรมาธิการตำรวจสภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายชัยชนะ เดชเดโช ประธานกรรมาธิการ ได้ทำหนังสือเชิญ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ  มาให้ข้อมูล เกี่ยวกับการเข้าพักรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  


โดย พันตำรวจเอกทวี ได้มอบหมายให้ นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ มาชี้แจงแทน ขณะที่ โรงพยาบาลตำรวจส่ง พลตำรวจตรี นายแพทย์ สามารถวงศ์ศิริ (นายแพทย์ สบ.7) โรงพยาบาลตำรวจ มาชี้แจง


โดยก่อนการประชุม นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เปิดเผยว่า


เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2566 ได้ไปยื่นหนังสือถึง พันตำรวจเอกทวี ให้ระงับการคุมขังนอกเรือนจำของนายทักษิณ ขณะเดียวกัน ยังเปิดเผยด้วยว่า ตั้งแต่ นายทักษิณก้าวเท้าเข้าไปยังเรือนจำ ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม นายทักษิณไม่ได้กรอกแบบประวัติ ร.ท. 101 ซึ่งเป็นการกรอกประวัตินักโทษจำนวน 4 หน้า แม้แต่บรรทัดเดียว


จึงขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตั้งคณะกรรมการสอบว่า เหตุใดจึงไม่ให้นายทักษิณกรอกประวัตินักโทษ หรือเกรงว่าจะเสียประวัติ แต่ถ้าเสียประวัติ เหตุใดนักโทษอีก 400,000 ราย ทั่วประเทศ จึงต้องกรอกทุกคน ยกเว้นนายทักษิณเพียงคนเดียว


และการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ สามารถให้คุมขังนอกเรือนจำได้ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ที่ผ่านมา คนที่ลงนามประกาศระเบียบดังกล่าว ได้ขึ้นตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ จึงเป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่า การเอื้อประโยชน์ต่างตอบแทน


จึงขอเรียกร้องให้เลื่อนประกาศนี้ออกไปอีกหนึ่งปี เพื่อไม่ให้เป็นข้อครหาต่อสังคม และประชาชน เพราะขณะนี้ ประชาชนทั่วประเทศ เชื่อว่าระเบียบดังกล่าวออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหา ขอให้เลื่อนประกาศออกไป ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดี ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ไม่ซักประวัติ ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดทางวินัย แต่ขอให้กันข้าราชการชั้นผู้น้อยไว้เป็นพยาน

-----------

จากนั้นเมื่อเข้าสู่ห้องประชุม นายวัชระ พยายามที่จะพูดถึงการยื่นเรื่อง โดยขอให้สื่อมวลชนร่วมรับฟัง แต่ พลตำรวจตรีสุรพล บุญมา สส.พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการตำรวจ ขอให้การประชุมเป็นการประชุมลับ แล้วค่อยมีการแถลงข่าวภายหลังการประชุม แต่ นายชัยชนะ ประธานกรรมาธิการ ได้อนุญาตให้นายวัชระ อภิปรายได้


ซึ่งเมื่อนายวัชระเริ่มอภิปราย ได้ชูเหรียญห้อยคอ พร้อมบอกว่า ตนแขวนพระ-ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทำให้พลตำรวจตรีสุรพล ขอให้นายวัชระเข้าประเด็น ไม่ต้องใช้สำนวนโวหาร อย่าเล่นการเมือง มีอะไรให้พูดตรง ๆ ซึ่งหลังประชุมก็จะมีการแถลงข่าวให้สื่อทราบอยู่แล้ว


จากนั้น นายวัชระได้อภิปรายขอให้กรมราชทัณฑ์นำคลิปวิดีโอตั้งแต่วันแรกที่นายทักษิณเข้าเรือนจำวันแรก ตลอดเวลาที่อยู่ในเรือนจำ รวมถึงภาพถ่ายที่โรงพยาบาลตำรวจ หลังอ้างว่ากล้องวงจรปิดเสีย แต่กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่า มีการถ่ายภาพส่งผู้บังคับบัญชาทุก 2 ชั่วโมง มาส่งให้กับคณะกรรมาธิการ


จากนั้น ประธานในที่ประชุมได้ขอให้สื่อมวลชนออกจากห้องประชุม โดยขอให้รอฟังการแถลงข่าว ภายหลังการประชุมแล้วเสร็จ

------------

นายชัยชนะ เดชเดโช ประธานกรรมาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมกรรมาธิการ ระบุว่า


มีความกระจ่าง ในประเด็นการวินิจฉัยให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เป็นความเห็นของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่า มีอาการป่วยด้วยโรคไวรัสตับอักเสบบี และมีอาการแน่นหน้าอกตอนดึก เนื่องจากเคยเป็นโรคปอด ตอนติดเชื้อโควิด-19 แพทย์จึงมีความเห็นให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ


ส่วนเงินที่ใช้ในการรักษาตัวของนายทักษิณ เป็นเงิน สปสช. และทางกรมราชทัณฑ์แจ้งว่า ถ้าเกินสิทธิ์ สปสช. ผู้ต้องขังมีสิทธิ์ที่จะจ่ายเงินส่วนต่างได้ ซึ่งตนได้ถามกลับไปว่า มีระเบียบข้อไหน ที่ให้ดำเนินการอย่างนี้ ขอให้กรมราชทัณฑ์ส่งเอกสารมาให้กรรมาธิการ รวมถึงขอให้กรมราชทัณฑ์ส่งเอกสารข้อมูลภาพถ่ายผู้คุมที่ไปปฎิบัติหน้าที่ ตั้งแต่ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และโรงพยาบาลตำรวจ และการเปลี่ยนเวรต่าง ๆ ว่า มีผู้คุมกี่คน


ส่วนเรื่องกรอกประวัตินักโทษ กรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่า นายทักษิณ ได้กรอกข้อมูลเบื้องต้นทางอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนเข้ารับโทษที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพอย่างถูกต้องครบถ้วนเรียบร้อย ซึ่งทาง นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้องบอกว่าขอใบ ร.ท. 101 ด้วย ซึ่งกรมราชทัณฑ์ก็จะรวบรวมเอกสารส่งให้กับคณะกรรมาธิการ ต่อไป


ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้มีมติว่า จะไปดูงานที่โรงพยาบาลตำรวจในวันที่ 12 มกราคม ก่อนวันเด็กแห่งชาติเพียงหนึ่งวัน ในเวลา 09:30 น. แต่หากวันนั้น มีการประชุมงบประมาณ ก็ต้องเลื่อนออกไปก่อน


ส่วนจะต้องเชิญ พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มาอีกหรือไม่นั้น นายชัยชนะ กล่าวว่า  ข้อมูลที่ได้ครบถ้วนพอสมควร ส่วนประเด็นที่ตอบไม่ได้ ก็ขอให้นำมาเป็นเอกสาร เมื่อได้เอกสารแล้ว ก็จะเห็นความกระจ่างทั้งหมด ที่สำคัญยังได้มีการขอระเบียบในการคุมขังนอกเรือนจำ ว่ามีขั้นตอนอย่างไร คณะกรรมการในการพิจารณาอย่างไร และนักโทษใดบ้างที่เข้าข่าย


โดยการดูงานวันที่ 12 มกราคม 2567 จะไปดูเรื่องของการรักษาตัว การปฏิบัติต่อผู้ป่วยของโรงพยาบาลตำรวจ การปฏิบัติต่อผู้ป่วยที่เป็นผู้ต้องขัง ว่าพักรักษาตัวที่ห้องไหนบ้าง ตึกไหนบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร ซึ่งต้องไปทุก ๆ ชั้นที่มีผู้ต้องขัง


ทั้งนี้ หากไม่ได้รับอนุญาตให้ไปชั้น 14  นายชัยชนะ ระบุว่า ก่อนไปดูงาน คณะกรรมาธิการจะทำหนังสือถึงโรงพยาบาลตำรวจ ถึงรายละเอียดในการไปดูงาน ส่วนโรงพยาบาลตำรวจ จะตอบอนุญาตแค่ไหน ก็เป็นสิทธิของโรงพยาบาลตำรวจ ตนไม่อาจก้าวล่วงได้ แต่ต้องการให้สังคมได้ทราบว่า กรรมาธิการตำรวจมีความประสงค์ที่จะไปศึกษาดูงานที่นั่น ทั้งนี้ หากไม่อนุญาตก็เป็นสิทธิของโรงพยาบาลตำรวจ แต่ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า มีเหตุผลอย่างไร


ส่วนจะแน่ใจได้อย่างไรว่า ในวันที่ 12 มกราคม นายทักษิณ จะยังอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ นายชัยชนะ ระบุว่า ตนไม่ใช่เทวดา ไม่สามารถตอบได้ ถ้าตนเป็นเทวดาจะตอบได้ว่าอยู่ หรือไม่อยู่


วันที่ 12 จะอยู่หรือไม่ ขึ้นยู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่รับผิดชอบ จะทำให้นักโทษคนไหนอย่างไร เป็นสิทธิ์ของคนนั้น แต่ถ้าตนบอกว่าอยู่ แต่แล้วดันไม่อยู่ ตนก็เสียหน้า หากบอกว่าไม่อยู่แต่เกิดอยู่ ตนก็เสียหน้าเช่นกัน ตนไม่ใช่ซูเปอร์แมนที่จะเนรมิตทุกอย่างขึ้นมาได้


ขณะเดียวกัน นายชัยชนะ ยอมรับว่า ยังไม่หายสงสัยเรื่อง 2 มาตรฐาน เพราะต้องรอเอกสารที่กรมราชทัณฑ์ชี้แจงว่า ใช้สิทธิ์บัตรทอง เมื่อเกินสิทธิ์บัตรทอง ญาติสามารถจ่ายเองได้ ใช้เงินของครอบครัวจ่ายได้ เราต้องการดูระเบียบข้อนี้ ว่ามีรองรับหรือไม่ ซึ่งถ้ามีระเบียบข้อนี้รองรับ เราจะประชาสัมพันธ์ต่อประชาชนที่มีญาติถูกคุมขังว่า ต่อไปนี้ หากป่วย และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล สามารถใช้สิทธิ์บัตรทอง และสามารถใช้สิทธิ์จ่ายเองได้ เราต้องการระเบียบตรงนี้มากกว่า
------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/ZE7FoI5Y2Rw


คุณอาจสนใจ

Related News