เลือกตั้งและการเมือง

สว. ตีตก หมายเรียก “อุปกิต” กลางสมัยประชุม จี้ตำรวจแจงให้ชัด ผิดอย่างไร

โดย gamonthip_s

9 ต.ค. 2566

809 views

ที่ประชุม สว. แจ้งหมายเรียก “สว.อุปกิต” ไปสอบสวน เจ้าตัวเสียงสั่น ขอมติวุฒิสภา เหตุยังอยู่ระหว่างสมัยประชุม ยืนยันความบริสุทธิ์ ยินดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม พร้อมต่อสู้เพื่อครอบครัว ขณะสมาชิก สว. อภิปรายพรึ่บ แทรกแซงนิติบัญญัติหรือไม่ ก่อนจะให้ลงมติ



9 ต.ค. 2566 ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง เป็นประธานในการประชุม ในช่วงหนึ่งประธานได้แจ้งกับที่ประชุมว่า อัยการขออนุญาตออกหมายเรียกตัวสมาชิกสภาวุฒิสภาไปทำการสอบสวน ในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา ตามมามาตรา 125 ของรัฐธรรมนูญ



ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้ขออนุญาตออกหมายเรียกตัวนายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกสภาวุฒิสภา (สว.) ไปทำการสอบสวน และแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ในคดีว่าด้วยยาเสพติด




โดยมาตรา 125 วรรค 1 บัญญัติว่า ในระหว่างสมัยประชุม ห้ามไม่ให้จับกุม คุมขัง หรือเรียกตัวสมาชิกไปสอบสวน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสภาฯ ที่ผู้นั้นเป็นสมาชิก หรือเป็นการจับในขณะทำความผิด ในการนี้จึงต้องได้รับการอนุญาตจากที่ประชุมวุฒิสภาโดยการลงมติ




จากนั้น นายอุปกิต จึงได้อภิปรายต่อที่ประชุม ระบุว่า การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะจะช่วยดำรงความยุติธรรมของตนเอง ที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม จนได้รับความทุกข์ทรมานมากกว่าหนึ่งปี เนื่องจากคนรู้จัก รวมถึงลูกเขยได้ถูกจับกุม เมื่อเดือน ก.ย. 2565 พร้อมยืนยันในความบริสุทธิ์ เพราะก่อนมาเป็น สว. ได้สละชื่อออกจากกรรมการหุ้นส่วนจากบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป และไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ




นายอุปกิต กล่าวว่า ตลอด 15 ปี ที่ได้ทำการซื้อขายไฟที่ด่านพม่า อ.ท่าขี้เหล็ก ไม่เคยพบปัญหา จนกระทั่งปี 2563-2565 ที่มีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ด่านชายแดนปิด ทุน มิน ลัต ได้เข้ามาทำการซื้อขายต่อ และโอนเงินผ่านระบบ Money Changers ซึ่งเป็นวิธีปกติในการซื้อขายชายแดน อย่างไรก็ตาม พนักงานสืบสวนนครบาลกลับเร่งกล่าวหาว่าเส้นทางการเงินที่โอนไปยังการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย มีความเกี่ยวกับพันยาเสพติด ทั้งที่เป็นเพียงการโอนเงินชำระบิลค่าไฟ




เมื่อเดือน ก.พ. 2566 นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายกล่าวหาปรักปรำตนเองอย่างร้ายแรง ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จ โดยนายตำรวจที่ส่งข้อมูลให้ นายรังสิมันต์ ก็จงใจแปลงหลักฐานที่เป็นเท็จส่งให้กับศาล ในการจะออกหมายจับตนเอง




นายอุปกิต ระบุว่า นายรังสิมันต์ ได้พาดพิงอธิบดี และผู้พิพากษาให้เกิดความเสียหาย สะท้อนว่ามีความพยายามด้อยค่ากระบวนการยุติธรรมด้วย รวมถึงการออกหมายจับตนเอง ก็ไม่ชอบธรรม อะไรผิดระเบียบ ถ้าเราปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายจับตามอำเภอใจได้ ก็สามารถกลั่นแกล้งใครก็ได้ วันหนึ่งสมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมนี้ก็สามารถโดนเหมือนตนเองได้



ทั้งนี้ นายอุปกิตยังกล่าวว่า ในระหว่างสมัยประชุม ตนเองได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง แม้ตนเองประสงค์จะสละเอกสิทธิ์นี้ก็ไม่สามารถทำได้ เว้นแต่ที่ประชุมวุฒิสภา ว่าจะลงมติอนุญาตให้มีการออกหมายเรียกต่าง ๆ หรือไม่ และได้แสดงเจตนาว่าพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม โดยไม่จำเป็นต้องรอให้หมดสมัยประชุมในสิ้นเดือนนี้ เพราะไม่ประสงค์จะให้ผู้ใดนำเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์วุฒิสภาของพวกเราในทางที่เสียหาย




นายอุปกิต ยังกล่าวต่อไปด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า เพื่อเป็นการรักษาเกียรติของครอบครัว ตนเองพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ตนเองยังเชื่อมั่นอยู่ โดยไม่จำเป็นที่จะได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด



หลังจากนั้น สมาชิกวุฒิสภาได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง แสดงความเห็นว่าการออกหมายจับของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้นสามารถทำได้ในสมัยประชุมหรือไม่ และเป็นการแทรกแซงระบบนิติบัญญัติหรือไม่ ก่อนที่จะมีการลงมติ



และผลการลงมติพบว่า เสียงข้างมาก 174 เสียงไม่เห็นด้วยกับการออกหมายเรียกตัวนายอุปกิตไปสอบสวนฐานะผู้ต้องหาคดีอาญาระหว่างสมัยประชุม ต่อ 7 เสียง และมีสว.ที่งดออกเสียง10เสียง

คุณอาจสนใจ

Related News