เลือกตั้งและการเมือง

'ศึกหุ้นไอทีวี' อีกยาว ต้องรอ 'ที่ประชุม กกต.' สอบ - 'เรืองไกร' ให้ข้อมูลครั้งที่ 7 - กมธ.ชี้ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด

โดย nattachat_c

7 มิ.ย. 2566

779 views

วานนี้ (6 มิ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการพิจารณากรณีที่ สำนักงาน กกต. รายงานผลการดำเนินการเกี่ยวกับคำร้องขอให้ตรวจสอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะหัวหน้าพรรค และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือไม่


โดยสำนักงานฯ เสนอว่า เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ ส.ส. เนื่องจาก นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ตามมาตรา 51 ประกอบมาตรา 60 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กำหนดว่า ต้องยื่นภายใน 7 วัน นับแต่ กกต.ประกาศรายชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง


จึงต้องเสนอ กกต.ให้มีคำสั่งเป็นความปรากฏต่อ กกต.ว่านายพิธา มีลักษณะต้องห้ามของการลงสมัครรับเลือกตั้ง และการยินยอมให้พรรคส่งชื่อตนเองเป็นผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลลำดับที่ 1 หรือไม่


รวมถึงยอมให้เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เข้าข่ายรู้อยู่แล้วว่า ตนเองไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังคงฝ่าฝืนลงสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.หรือไม่


ทั้งนี้ ให้พนักงานสืบสวนไต่สวนของสำนักงาน กกต.เป็นผู้ดำเนินการสืบสวนไต่สวน ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2561 ซึ่งก็จะนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการไต่สวน


อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม กกต. ยังเห็นว่าสำนักงาน กกต. ยังเสนอมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน เช่น คำร้องมีการร้องในประเด็นใดบ้าง หลักฐานเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร จึงให้ไปดำเนินการมาให้ครบถ้วนและเสนอที่ประชุม กกต.พิจารณาใหม่โดยเร็วอีกครั้ง

---------------
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 7 กรณียื่นให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)


นายเรืองไกรกล่าวว่า ขณะนี้มีการให้ความเห็นไปในทิศทางต่างๆ ตรงข้อเท็จจริงบ้าง ไม่ตรงบ้าง มีการเบี่ยงเบนข้อกฎหมาย แต่คิดว่าคงไม่ได้เข้าไปสู่สำนวนของ กกต.เท่าไหร่นัก


จากนั้นจึงร้องเป็นครั้งที่ 2 และอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาของ สปน.นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ สปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้บอกเลิกคำชี้ขาดเพราะ สปน.เห็นว่าอนุญาโตตุลาการรับคำฟ้องซ้อนกับเรื่องแรกที่มีคำวินิจฉัยไปแล้ว จึงขอให้เพิกถอน ซึ่งศาลปกครองมีคำพิพากษาชี้ขาดครั้งที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลปกครองไม่มีอำนาจไปเพิกถอนตามคำร้องของ สปน. ทั้งนี้ เมื่อศาลยกคำพิพากษาดังกล่าว ต่อมา สปน.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และอยู่ระหว่างการพิจารณา จึงนำข้อมูลมาให้ กกต.ประกอบการพิจารณา


นายเรืองไกรกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่า นายพิธาได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในงาน Pride month ที่มีการถามว่ามีการขายหุ้นหรือไม่ แต่นายพิธาไม่ได้ตอบคำถามจึงเป็นเหตุว่าต้องมีการเพิ่มคำร้อง ให้ กกต.มีการตรวจสอบประเด็นนี้ว่านายพิธาได้มีการขายหุ้นหรือไม่ อีกทั้ง นายพิธาเคยให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่งว่า กรณีที่แย่ที่สุดอาจจะพ้นจากการเป็น ส.ส. แต่บัญชีนายกรัฐมนตรียังคงอยู่ รวมถึงเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน นายพิธายังตอบคำถามสื่อมวลชนในกรณีขายหุ้นนั้น เลขาธิการพรรคได้ให้ข้อมูลไปแล้ว ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะตอบเช่นนั้น ควรบอกให้ชัดเจนว่าขายหรือยังไม่ขาย เพราะสิทธิในการขายหุ้น เมื่อนายพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีมา 16 ปี หลักฐานปรากฏชัด เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ แล้วถือมาเกินวันสมัครรับเลือกตั้งแน่นอน เพราะรายชื่อผู้ถือหุ้น ปรากฏวันที่ 16 เมษายน 2566 แต่วันที่รับสมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ คือวันที่ 3-7 เมษายน


นายเรืองไกร กล่าวว่า จึงขอให้ตรวจสอบการโอนหุ้นที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งไม่ทราบวัตถุประสงค์ เพราะคงไม่ทำให้การสมัคร ส.ส. หรือการยอมรับเป็นบัญชีนายกฯ นั้นเสียไป ที่ไม่เสียไป เพราะเมื่อหากยื่นไปแล้วมีลักษณะต้องห้าม ถ้าศาลตัดสินว่านายพิธาถือหุ้นสื่อ นายพิธาจะหมดสิทธิเป็น ส.ส. และบัญชีนายกฯ ด้วย ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 14 ที่ระบุว่าถ้ามีลักษณะต้องห้าม หรือไม่มีหนังสือยินยอม ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อ


ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องสอบถามถึงกรณีการขายหุ้นของนายพิธา หากมีการซื้อขายก็ต้องมีการส่งสำเนาการโอนหุ้น ซึ่งตาม พ.ร.บ.บริษัทจำกัดมหาชน 2535 หมวด 5 เรื่องผู้ถือหุ้นระบุชัดเจนว่าการโอหุ้นต้องแจ้งใน 7-14 วัน หากไม่แจ้งจะถือว่าไม่มีการโอนหุ้น ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าน่าจะโอนแล้ว และน่าจะโอนหลังจากที่ตนร้อง ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเข้าให้ถ้อยคำต่อ กกต.เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคมที่ผ่านมา น่าจะมีการขายในช่วงนี้ ขณะที่บริษัท จะต้องจดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นการโอนโดยตราสาร ใบหุ้นสลักหลัง หรือขอให้ออกใบหุ้นใหม่ เขียนเอาไว้หมด


ขอเรียกร้องไปยังนายพิธา ขอให้เปิดเผยข้อมูลต่อสื่อมวลชนไปเถอะ หากยังไม่ได้โอน ก็ตอบมาเลยว่ายังไม่ได้โอน ถ้าโอน ก็ขอให้แสดงหลักฐานว่าโอนแล้ว และจดแจ้งต่อบริษัทไอทีวีแล้ว แค่นั้นเอง ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ผมพูดเช่นนี้เพราะเว็บไซต์พรรคก้าวไกล ย้ำเสมอถึงคำว่าโอเพ่นดาต้าของท่านนั่นแหละที่ผมเอามาเรียกร้องว่าทำไมข้อมูลของตัวท่าน

------------

เมื่อเวลา 11.35 น. วันที่ 6 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าคดีพิพาทกำลังตัดสินในชั้นศาลปกครองสูงสุด ระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ว่าเรื่องนี้ตนไม่ทราบ ต้องถามปลัด สปน.เพราะผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะหลายหน แต่ก็ยังมีคดีอื่นๆ ค้างอยู่ มีทั้งคดีศาลปกครอง ศาลอาญา และศาลแพ่ง



ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีคดีที่ศาลปกครองสูงสุดได้ทราบรายรายละเอียดหรือไม่ว่าจะมีการตัดสินภายในเดือนมิถุนายนนี้ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ เมื่อถามว่าหากชนะจะทำให้บริษัทไอทีวีกลับมาเป็นสื่อได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ


เมื่อถามว่าหากมีการฟื้นให้บริษัทไอทีวีกลับมาเป็นสื่อจะกระทบกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนไม่ควรตอบ เรื่องนี้คุณควรคิดเองได้


ผู้สื่อข่าวถามว่าล่าสุดนายพิธาบอกว่าโอนหุ้นไอทีวีไปแล้วจะมีผลกระทบอะไรหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ตนขอไม่ตอบ เมื่อถามว่าการโอนหุ้นในภายหลังต้องดูกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่รู้ ดูอะไรก็ไม่รู้ ไม่ตอบ


เมื่อถามว่าขณะนี้เกิดประเด็นการตีความกฎหมายกรณี พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่ได้กำหนดเรื่องการถือหุ้นสื่อของหัวหน้าพรรคการเมือง ขณะที่ข้อบังคับของพรรค ก.ก.ไปกำหนดเรื่องคุณสมบัติของหัวหน้าพรรคว่าต้องห้ามการถือหุ้นสื่อ ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินโดยยึดแนวทางใด นายวิษณุกล่าวว่า ขอไม่ตอบ แต่ พ.ร.ป.ดังกล่าวไม่ได้เขียนไว้จริง ตามมาตรา 56 หัวหน้าพรรคออกใบรับรองให้แก่สมาชิก ซึ่งหัวหน้าพรรคมีลักษณะต้องห้ามอะไรเยอะ และไปอิงกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ที่เกี่ยวกับบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาตรา 93 มี (1)-(18)


นายวิษณุกล่าวว่า ขณะที่มาตรา 98(3) เป็นกรณีเดียวกับเรื่องข้อห้ามการถือหุ้นสื่อ และมาตรา 98(3) ไม่นำมาใช้กับหัวหน้าพรรค จึงไม่มีข้อห้ามในเรื่องการถือหุ้น สมาชิกพรรค และกรรมการบริหารพรรคถือหุ้นสื่อได้ หัวหน้าพรรคซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารพรรคถือหุ้นสื่อได้ แต่ผู้สมัคร ส.ส.ถือหุ้นสื่อไม่ได้ รัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีถือหุ้นสื่อไม่ได้ ว่าที่นายกฯที่อยู่ในบัญชีพรรคการเมืองถือหุ้นสื่อไม่ได้ ก็มีแค่นี้ ส่วนข้อบังคับพรรคไปเขียนอะไรออกมาอีกก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ต้องไปวินิจฉัย ตนไม่ตอบ


ผู้สื่อข่าวถามว่าแปลว่าพรรค ก.ก.ไปออกข้อบังคับเข้มข้นกว่า พ.ร.ป.พรรคการเมือง โดยยึดรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 ทั้งมาตรา ถือว่าเป็นเสรีภาพและอาจต้องรับผลกระทบที่ตามมาด้วยใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็เป็นอย่างนั้นแหละ ที่พูดๆ มาก็วนอยู่ตรงนี้


เมื่อถามย้ำว่าเพราะพรรค ก.ก.ไปเขียนข้อบังคับให้เข้มข้นเองใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็ใช่

--------------
วันที่ 6 มิ.ย. 66 เมื่อเวลา 12.30 น. ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมกรรมาธิการ ว่า


ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนการถือครองหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกฯ โดยที่ประชุมเห็นว่าเรื่องนี้มีหลายคนไปยื่นร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เนื่องจากเป็นประเด็นสำคัญที่จะแสดงให้เห็นนายพิธา มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญที่จะเป็นนายกฯต่อไปได้หรือไม่


ซึ่งกมธ.ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องเดียวกับที่มีผู้ไปร้องกับกกต.แล้ว จึงเห็นว่าจะส่งเรื่องแจ้งให้กกต.และกมธ.เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องหาข้อยุติโดยเร็วเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายพิธาที่ต้องทำให้ข้อยุติชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาอื่นที่จะตามมา และมีผลกระทบอีกจำนวนมาก


นายเสรี กล่าวต่อว่า ทางกมธ.จะทำหนังสือแจ้งไปยังกกต. เพื่อให้เร่งรัดในการที่จะตรวจสอบคุณสมบัติของนายพิธา และถ้าเห็นว่าสิ่งที่ได้ร้องเรียนกันนั้นเป็นเรื่องสำคัญและมีมูล ซึ่งทาง กมธ.เห็นแล้วว่ามีมูล มีข้อเท็จจริงและมีหลักฐาน


จึงต้องการให้กกต.เร่งรัดในการเสนอเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาดเพื่อความชัดเจนในการที่จะแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ เพราะอย่างน้อยที่สุดการที่ศาลได้ตัดสินวินิจฉัยชี้ขาด ก็จะเป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศและของคนหมู่มาก


“หากรอไปจนถึงขั้นตอนของวุฒิสภาลงมติโหวตนายกฯ เกิดวุฒิสภาไม่เห็นขอบหรือไม่เห็นด้วย ไม่ว่าประการใด ก็จะเกิดคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเรื่องเหล่านี้ ก็จะเกิดความไม่สงบเรียบร้อย


ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จึงขอให้กกต.เร่งรัดรวบรวมหลักฐานส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการต่อไป ก่อนที่จะถึงกำหนดวันเลือกนายกฯ”

-----------------

วันที่ 7 มิ.ย. 66 นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ให้สัมภาษณ์ กรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคฯและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ระบุว่า ได้แบ่งมรดกหุ้นไอทีวีให้แก่ทายาทอื่นโดยสิ้นเชิงแล้ว ว่า ประเด็นดังกล่าวไม่สามารถทำให้ความผิด กลายเป็นถูกได้ เพราะการถือครองหุ้นสื่อ ที่เป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(3) ของผู้สมัคร ส.ส. รวมถึงแคนดิเดตนายกฯ นั้น เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่นายพิธา ส่งใบสมัครต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงวันที่ 4-7 เมษายน แล้ว ดังนั้นทางกฎหมาย หรือ นิตินัยถือว่าเป็นข้อยุติแล้ว ทั้งนี้ตนไม่ขอวิจารณ์ตามที่มีการตั้งคำถามว่า นายพิธาขาย หรือโอนหุ้นทำไม ทั้งนี้ เขาต้องรับผิดชอบ


“ผมเห็นคุณพิธา อธิบายผ่านเฟซบุ๊กแล้ว เป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากยอมรับการต่อสู้ว่าไอทีวีเป็นสื่อมวลชนหรือไม่ ตามประเด็นที่ มีผู้ยื่นคำร้องไปยังกกต. อย่างไรก็ตามการไม่ถือครองหุ้นสื่อไว้ถือเป็นผลดีกับตัวเองในอนาคต เพราะคุณพิธายังสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ได้ในครั้งถัดไป” นายสมชาย กล่าว


นายสมชาย กล่าวด้วยว่า สำหรับการต่อสู้ในคำร้องของนายพิธานั้นมีมุมเดียว คือ ไอทีวีเป็นสื่อหรือไม่ ตนเชื่อว่าการต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวต้องพิจารณาด้วยการตรวจสอบงบการเงินและการแสดงบัญชี ที่ยื่นต่อกรมสรรพากร ที่ทำได้ง่ายและย้อนหลัง 5 ปี หรือตั้งแต่ 2550 หรือ ปี 2562 ที่นายพิธายื่นลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส.


ซึ่งการตรวจสอบไม่เฉพาะที่ใช้คลื่นความถี่เท่านั้น แต่ต้องพิจารณาอื่นๆ ด้วย เช่น ผลิตรายการอื่นๆ หรือไม่ เพราะขณะนี้ งบการเงินของไอทีวีนั้น มีความเคลื่อนไหว มีกำไร ขณะที่การต่อสู้เรื่องคดีไอทีวี ที่มีคดีกับ สปน. นั้น ซึ่งค้างในชั้นศาลปกครองสูงสุดนั้น ตนมองว่าเป็นความประสงค์ที่จะทำหรือประกอบกิจการต่อ


“ในรายละเอียดของเรื่องคดีนี้ ต้องพิจารณาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งผูกพันทุกองค์กร รวมถึงองค์กรอิสระด้วย ส่วนที่มีหลายฝ่ายยกคำวินิจฉัยของศาลฏีกาในคดีของหลายคนมาต่อสู้นั้น ในประเด็นดังกล่าวคำตัดสินมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความเท่านั้น ซึ่งต่างจากศาลรัฐธรรมนูญที่ผูกพันกับทุกองค์กร และจาก 4 คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเป็นแนวทางเดียวกัน คือ การถือหุ้นเพียงหุ้นเดียวเท่ากับว่าครอบครองหุ้นสื่อฯ” นายสมชาย กล่าว

-----------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/0nk9Hrcy1k0

แท็กที่เกี่ยวข้อง  หุ้นไอทีวี ,พิธาซุกหุ้นไอทีวี ,คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ,สำนักงาน กกต. ,พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ,พรรคก้าวไกล ,เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ,พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ,วิษณุ เครืองาม ,ศาลปกครองสูงสุด ,สมชาย แสวงการ ,พ.ร.ป.พรรคการเมือง ,คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน ,เสรี สุวรรณภานนท์

คุณอาจสนใจ

Related News