เลือกตั้งและการเมือง

กกต. เรียก 'เรืองไกร-สนธิญา-นพรุจ' ให้ถ้อยคำปม 'พิธา' ถือหุ้นสื่อ ITV

โดย passamon_a

29 พ.ค. 2566

122 views

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีให้ตรวจสอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค กรณีการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ว่าเป็นการกระทำผิดขัดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น


ล่าสุดมีรายงานว่า ในวันที่ 29 พ.ค.66 สำนักงาน กกต. ได้เชิญ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ มาให้การยืนยัน ยื่นคำร้องดังกล่าวต่อ กกต.หรือไม่ พร้อมทั้งให้ถ้อยคำเพิ่มเติมด้วย รวมทั้งยังเชิญ นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำพิราบขาว 2006 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบนายพิธา ในกรณีเดียวกัน


นอกจากนี้ ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ได้เชิญให้ นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร มาให้ถ้อยคำในการยื่นเรื่องร้องเรียนเดียวกันด้วย ส่วนกรณีของ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย คาดว่าสำนักงาน กกต. จะมีการเชิญมาให้ถ้อยคำในลำดับถัดไป ภายในสัปดาห์นี้เช่นเดียวกัน


ด้าน นายเรืองไกร ยืนยันในเรื่องดังกล่าวว่า วันจันทร์นี้ กกต.เชิญตนไปให้ถ้อยคำเรื่องหุ้นไอทีวี ซึ่งจะถือโอกาสนี้ยื่นหลักฐานอ้างอิงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญปี 2563 จำนวน 1 เรื่อง และคำวินิจฉัย กกต. เมื่อปี 2564 จำนวน 4 เรื่อง ซึ่งมีทั้งประเด็นการขอให้วินิจฉัยย้อนหลังไปว่า นายพิธาจะพ้นสมาชิกภาพตั้งแต่ปี 2562 หรือไม่ และจะต้องดำเนินคดีอาญาตามแนวคำวินิจฉัย กกต. หรือไม่ด้วย


นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ตนจะนำข้อมูลเอกสารมายื่นต่อ กกต. เพื่อเทียบเคียงกรณีของนายพิธา ในกรณีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2563 นั้น เป็นกรณีของ นายธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ที่ศาลวินิจฉัยให้พ้นสมาชิกภาพ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ในส่วนคำวินิจฉัยของ กกต. 4 เรื่องในช่วงปี 2564 ที่ กกต.มีมติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย มีกรณีของผู้สมัคร ส.ส. ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคอนาคตใหม่


นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีผู้สมัคร ส.ส.ของอดีตพรรคอนาคตใหม่รายดังกล่าว ได้ยื่นเอกสารรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ต่อ กกต. เมื่อวันที่ 4 ก.พ.62 ซึ่งยื่นเอกสารวันเดียวกับนายพิธา โดยที่นายพิธายังถือหุ้นไอทีวี แต่กรณีของนายพิธาจะแตกต่างจากกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้สิ้นสมาชิกภาพ เนื่องจากถือครองหุ้น มีผลเฉพาะตัวนายธนาธร


นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ขณะที่ในกรณีนายพิธา มีการเขียนข้อบังคับพรรคก้าวไกลกำหนดคุณสมบัติและข้อห้ามลักษณะเกี่ยวกับการถือหุ้นไว้ ดังนั้นหากนายพิธาซึ่งเป็นผู้เซ็นรับรองผู้รับสมัคร ส.ส. 400 เขตเลือกตั้งของพรรค เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขาดสมาชิกภาพตั้งแต่วันยื่นสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งจะมีผลว่านายพิธาไม่ใช่หัวหน้าพรรค รวมทั้งไม่ใช่สมาชิกพรรคที่มาเซ็นรับรองผู้สมัครรัยเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคก้าวไกล อีกด้วย


ขณะที่ นายสนธิญา เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เวลา 13.30 น. ทางสำนัก กกต.ได้นัดหมายเชิญตนไปให้การยืนยันคำร้องที่ยื่นต่อ กกต.ให้ตรวจสอบกรณีนายพิธาถือหุ้นไอทีวี ตนจะไปยืนยันต่อ กกต.ว่าเป็นการตรวจสอบคุณสมบัตินายพิธา ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และก่อนหน้านี้ เลขาธิการ ป.ป.ช.มีการแถลงว่านายพิธาได้ยื่นการถือครองหุ้นไอทีวีจริง


นายสนธิญา กล่าวอีกว่า ตามขั้นตอนถ้า กกต.มีคำวินิจฉัยว่าให้ส่งเรื่องของนายพิธาไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น หาก กกต.มีการรับรอง ส.ส.ครบ 95 % ก็จะเป็นขั้นตอนเปิดประชุมสภาและเลือกประธานสภา เมื่อได้ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งประธานสภาแล้วประธานสภาฯ จะมีการเรียกประชุม ส.ส. โดยมีวาระเสนอชื่อและเลือกนายกฯ


นายสนธิญา กล่าวต่อว่า หากมีการเสนอชื่อนายพิธาเป็นนายกฯ แล้ว ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. จะเล็งเห็นปัญหาการโหวตเลือกนายพิธาเป็นนายกฯ ที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหนัง นอกจากนี้ ผู้ที่เป็นประธานสภาฯ จะเสนอชื่อนายพิธา ให้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ นั้น จะเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทหรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า นายพิธามีปัญหาคุณสมบัติใด ๆ ที่กระทบต่อการสมัครรับเลือกตั้งเป็นแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล


คุณอาจสนใจ

Related News