เลือกตั้งและการเมือง

วิวาทะ 'เพื่อไทย' VS 'ก้าวไกล' เปิดศึกชิงเก้าอี้ 'ประธานสภาฯ' สาวก พท.นัดกดดันจี้ถอนตัวร่วมรัฐบาล

โดย petchpawee_k

26 พ.ค. 2566

525 views

เรื่องวุ่นๆ ในการจัดตั้งรัฐบาลระหว่าง 2 พรรคหลัก พรรคเพื่อไทยและก้าวไกล ยังคงมีประเด็นรายวัน ล่าสุดในโลกออนไลน์ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องการเลือกประธานสภา 

เริ่มด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย เมื่อ เช้าวานนี้ (25 พ.ค.66) ทวีตข้อความ “เห็นต่างโต้แย้งธรรมดารัฐบาลผสม พรรคแกนนำยิ่งต้องเพิ่มความถี่พูดคุยเอาเหตุผลแต่ละฝ่ายหาจุดลงตัว

ตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย ตามคำสั่งประชาชนไม่บิดพลิ้ว ทำงานใหญ่ใจต้องใหญ่กว่า ซีนงอกแบบไม่ไว้ใจเพื่อนก็หยุดเสีย ไม่เชื่ออย่าใช้ ถ้าจะใช้ก็ต้องให้เกียรติกัน ใจเย็นๆทั้งผู้เล่นทั้งกองเชียร์”

ต่อมาในช่วงบ่าย นายณัฐวุฒิ โพสต์ข้อความอีกว่า พรรคหลักควรคุยภายในไม่ใช่แถลงข่าวถึงกัน โจทย์ใหญ่ตั้งรัฐบาลไล่ลุงใครถอนตัวก็จบ

พท.ถอน กก.ตั้งไม่ได้ ยกมือให้พิธาแล้วค่อยถอนรัฐบาลก็จอดอยู่ดี กก.ถอน พท. จะตั้งกับใคร สูตรผสม พท.ไม่ทำแน่  ถอนทั้งคู่ 2 ลุงก็ตั้งไม่ได้เป็นเสียงข้างน้อย น้ำผึ้งขมก็ค่อยๆกิน ดีกว่ายาพิษที่กรอกประชาชนมา 9 ปี

----------------------------------------------

น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย ทวิตข้อความ ระบุว่า

“#ประธานสภา #พรรคเพื่อไทย  หากเคารพในในหลักการ ประชาธิปไตยกันอย่างแท้จริง เมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน  ก็ต้องเข้าไปตัดสินด้วยการโหวตในสภาและเคารพเสียงข้างมากนะคะ

1.เพื่อไทยให้เกียรติ พรรคแกนนำมาตลอด ตั้งแต่วันนี้รู้ว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล  พรรคเพื่อไทยแสดงสปิริตทางการเมืองทันที ยินดีกับพรรคอันดับ 1 และพร้อมร่วมมือไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลแข่งถึงคะแนนจะห่างกันเพียง 10 ที่นั่ง นั่นคือความจริงใจ

2.เรื่องบางเรื่องทำไม ไม่นำหารือกันในวงประชุมก่อนของทุกพรรคร่วม การประกาศผ่านสื่อ และสร้างความกดดันยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้ง

3. ตำแหน่งประธานสภา เป็นเรื่องของการคุมเกมส์ในสภา แม่นหลักการและกฎหมายให้เกียรติผู้อื่น และผู้อื่นให้ความเกรงใจ ต้องมีวัยวุฒิ คุณวุฒิ วุฒิภาวะ เพราะในอดีตก็เคยเกิดเหตุวุ่นวายในสภาตอนปี 56 มาแล้วถ้ายังจำกันได้ และตรงนี้  ตำแหน่งประธานสภาบุคคลกรของพรรคเพื่อไทยมีความเหมาะสมในทุกมิติ

4.ถ้ามองกันแบบมิตรจริงๆและเชื่อใจกัน ประมุขฝ่ายบริหารเป็นของพรรคแกนนำอันดับ 1 และ ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นของพรรคร่วม ก็ไม่น่ามีความกังวลใจใดถ้ามองอย่างมิตร ยกเว้นว่าคุณไม่เคยมองเราเป็นมิตร

5.สุดท้ายหากมีการจัดสรร รมต.ในอนคต ต้องเป็นไปตามความรู้ ความสามารถ ทีมงาน และความถนัดของแต่ละพรรค และเกิดจากการประชุมและตกลงร่วมกัน

การยอมเสียสละก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งบางสิ่ง อย่ามองว่าเสียสละกว่าใคร พรรคเพื่อไทยก็ถอยจนสุดแล้วเช่นกัน”

--------------------------------------------------------

ทางฝั่งก้าวไกลวานนี้ นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล สมาชิกพรรคก้าวไกล ทวีตข้อความ เป็นภาพพื้นหลังสีส้ม ระบุว่า “ประธานสภา กระดุมเม็ดแรกของก้าวไกลเพื่อผลักดัน กม.ก้าวหน้า”

------------------------------------------------------------

น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล หรือ เดียร์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย บุตรสาว พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ได้ทวีตข้อความ ระบุ "ย้อนไปปี 54. .เพื่อไทยได้เสียงเป็นอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาล ปชป.ได้เสียงเป็นอันดับ 2 "เป็นฝ่ายค้าน" การเจรจาระหว่างเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ณ ตอนนั้น #ประธานสภามาจากเพื่อไทย

 ปี 66...ก้าวไกลได้เสียงเป็นอันดับ 1 เพื่อไทยได้เสียงเป็นอันดับ 2 จับมือกันเป็น "พรรคร่วมรัฐบาล" เพื่อไทยสนับสนุนพิธาเป็นนายก การเจรจาตำแหน่งประธานสภาควรมาจากพรรค....."

------------------------------------------------------------

ขณะที่ทางพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความระบุว่า [ 45 ร่างกฎหมายเปลี่ยนประเทศไทย ก้าวไกลพร้อมผลักดันในสภา ]

ในสัญญาประชาคมที่พรรคก้าวไกลให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เรายืนยันว่าหากได้เป็นรัฐบาล จะพยายามอย่างเต็มที่ในการผลักดัน 300 นโยบายก้าวไกลให้สำเร็จ เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยให้มีการเมืองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน มีสังคมที่เท่าเทียม เศรษฐกิจเติบโตอย่างเป็นธรรม มีระบบการบริหารราชการที่โปร่งใส มีนิติรัฐ นิติธรรม

พรรคก้าวไกลยืนยันว่า เราเดินบนเส้นทางการเมือง ไม่ใช่เพื่อตำแหน่งหรืออำนาจ แต่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง กฎหมายทั้ง 45 ฉบับนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้จริง และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยมีการเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต

------------------------------------------------------

ฝั่งเพื่อไทย ออกมาเคลื่อนไหว เช่นกัน โดยโพสต์ข้อความระบุว่า  ประธานสภา ควรเปิดทางผลักดัน 'ทุกนโยบาย' ของ 'พรรคร่วมรัฐบาล'  ให้สำเร็จ  ไม่ใช่ผลักดันวาระของพรรคใดพรรคหนึ่งเท่านั้น   ปัจจุบันที่เป็น 'รัฐบาลผสม' มีภารกิจสำคัญใน MOU ร่วมกัน ไม่ว่าประธานสภาจะเป็นใคร มาจากพรรคใด ก็ต้องทำภารกิจร่วมกันให้บรรลุเป้าหมาย  


ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวงการเจรจาพรรคร่วมรัฐบาล พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า การจัดสรรตำแหน่งจะคำนึงถึงความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่ายเป็นหลัก  หากจะยกกรณีที่เพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง ชนะโหวตทั้งนายกฯ และประธานสภามาโดยตลอด  ไม่มีพรรคอันดับสองได้  นั่นเป็นเพราะเพื่อไทยชนะเลือกตั้งเด็ดขาด  ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฏร จึงชนะโหวตด้วยเสียงของ ส.ส.และผู้สนับสนุน


ในกรณีนี้ เราชนะมาด้วยกัน ก็ควรทำงานร่วมกันด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจในฐานะพรรรคร่วมรัฐบาล หลีกเลี่ยงที่จะใช้มวลชนกดดัน  แต่ควรหาทางทำภารกิจเพื่อประชาชนร่วมกันให้สำเร็จ ประเทศจึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

---------------------------------------------------

นายจาตุรนต์ ฉายแสง  ทวิตข้อความ ระบุว่า  “เรื่องระหองระแหงกับเพื่อนเป็นเรื่องน่าเห็นใจ แต่เพื่อนกับเพื่อน ๆ กำลังร่วมกันทำงานใหญ่คือการตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตยตามที่ประชาชนมอบหมายมา ถ้าตั้งไม่สำเร็จก็จะเป็นประโยชน์กับการสืบทอดอำนาจเผด็จการ เพื่อนทำให้ไม่พอใจบ้างก็ต้องอดทน ถ้าความอดทนมีขีดจำกัดก็ต้องขยายขีดความจำกัดให้ได้ ”

---------------------------------------------------

และจากการที่ทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้ ในโลกโซเชียลแฟนคลับของพรรคเพื่อไทยได้มีการ นัดรวมกันพลังกันที่พรรคกดดันถอนตัว ร่วมรัฐบาลก้าวไกลในวันอาทิตย์ ที่ 28 พ.ค. นี้ เวลาบ่าย 2 โมง  


ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับการประสานมาจากลุ่มภาคประชาชน ที่จะมายื่นหนังสือเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย ถอนตัวจากการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล และมองว่าการยื่นหนังสือเป็นความห่วงใยของประชาชนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่ง จากหลายๆ องค์ประกอบ ที่พรรคต้องนำมาพิจารณาตัดสินใจ โดยดูข้อมูลและเหตุผลอย่างรอบด้าน และเลือกทิศทางที่ดีที่สุดต่อประเทศชาติ


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/d-hJvxNW2I8


คุณอาจสนใจ

Related News