เลือกตั้งและการเมือง

ศึกแย่งเก้าอี้ 'ประธานสภา' ก้าวไกล - เพื่อไทย ซัดกันนัว 'อดิศร' เปรียบไม่ควรเอาพระบวชใหม่ เป็นเจ้าอาวาส

โดย nattachat_c

26 พ.ค. 2566

23 views

เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2566 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า


[“ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด]


การเมือง คือ ศิลปะของการทำสิ่งที่คนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ 


แต่เมื่อดุลกำลังอำนาจยังไม่เพียงพอ การประนีประนอมกันเพื่อรักษาสถานะความเป็นไปได้ของการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ก็เป็นเรื่องจำเป็น


พรรคก้าวไกลมี ส.ส. 152 คน ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว จำเป็นต้องตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคเพื่อไทยซึ่งมี ส.ส.141 คน


เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ค่อยปรากฏในแวดวงการเมืองทั้งไทยและต่างประเทศเท่าไรนัก หากพรรคก้าวไกลต้องการเป็นรัฐบาล ก็ต้องมีพรรคเพื่อไทยร่วมด้วยสถานเดียว หากไม่มีพรรคเพื่อไทยร่วมด้วย ก็ไม่มีทางที่พรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล


สองสามวันมานี้ มีข่าวปรากฏออกมาตามสื่อมวลชนว่า พรรคเพื่อไทยขอให้พรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย


ผมเห็นว่าพรรคก้าวไกลปล่อยตำแหน่งนี้ให้กับพรรคใดๆ ไม่ได้


การเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดเนื้อหาใน MOU ได้ผ่านพ้นไปด้วยดี ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลได้ถอยในหลายประเด็น จนเหลือแต่ประเด็นที่ทุกพรรคยอมรับได้ และยอมเพิ่มอีกหลายข้อความเพื่อให้ทุกพรรคคลายความกังวลและสบายใจมากขึ้นแล้ว


เมื่อถึงคราวจัดสรรกระทรวงให้แต่ละพรรค พรรคก้าวไกลก็คงต้องยินยอม “เฉือน” อีกหลายกระทรวงให้กับพรรคอื่นๆ เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ โดยเฉพาะกระทรวงที่สังคมจัดให้เป็นเกรด A โดยพิจารณาจากงบประมาณและโครงการ “เป็นเนื้อเป็นหนัง”


เมื่อถึงช่วงเขียนนโยบายของรัฐบาลเพื่อแถลงต่อสภา พรรคก้าวไกลก็ต้องประสานเอาความต้องการของทุกพรรคเข้ามาไว้ด้วยกัน สภาพการประนีประนอม การเจรจาต่อรอง ระหว่างพรรคการเมือง และการยอมถอยให้พรรคการเมืองอื่น จะดำเนินเช่นนี้เรื่อยไปตลอดระยะเวลาของรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาดในทางการเมือง และเป็นเรื่องปกติในรัฐบาลผสม


ปัญหามีอยู่ว่า พรรคก้าวไกลจะต้องถอยจนถึงเมื่อไร ต้องยินยอมถึงขนาดไหน เพื่อให้ทุกพรรคพอใจและตั้งรัฐบาลได้? และไปต่อได้?


ผมเห็นว่า การประนีประนอม การเจรจาต่อรองของพรรคก้าวไกล จะต้องไม่ไปถึงขนาดที่ยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับ ส.ส.พรรคอื่น โดยทั่วไป ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็มาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับที่หนึ่งอยู่แล้ว


กรณีสมัยที่แล้ว เป็นข้อยกเว้นอย่างยิ่ง เพราะ จำนวน ส.ส.ซีกรัฐบาลมีมากกว่าอีกฝ่ายไม่กี่เสียง ทำให้พรรคพลังประชารัฐต้องยอมเสียตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแลกกับการสนับสนุนประยุทธ์


ในเมื่อครั้งนี้ ใครๆ ต่างก็บอกว่า ประสงค์จะให้การเมืองไทยกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการเมืองไทยที่ใช้กันในสภาวะปกติ ก็ต้องถูกนำมาปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็น รัฐบาลเสียงข้างมาก รัฐบาลรวมเสียงได้กว่า 300 ก็ถือว่ามากพอแล้ว รวมไปถึง ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฏร ต้องมาจาก ส.ส.ของพรรคอันดับหนึ่ง


นอกจากนี้ นโยบายของพรรคก้าวไกลที่ใช้รณรงค์หาเสียงจนได้คะแนนมากกว่า 14 ล้านเสียง หลายเรื่องต้องผลักดันผ่านสภา ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ จึงจำเป็นต้องมี ส.ส.ของพรรคตนเองทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมวาระและญัตติ


กล่าวจำเพาะกรณีการนิรโทษกรรมในคดีความผิดเกี่ยวกับการแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไข ป อาญา มาตรา 112 (ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ไม่อยู่ใน MOU และไม่อยู่ในวาระร่วมหรือนโยบายของรัฐบาลแน่ๆ) พรรคก้าวไกลก็ต้องใช้กลไกสภาในการผลักดัน หากไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรมา ก็อาจประสบปัญหาอุปสรรคได้


มิพักต้องกล่าวถึง พรรคก้าวไกลต้องมีคนของตนเองทำหน้าที่ประธารสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคุมเกม ใช้และตีความข้อบังคับการประชุม และกำหนดทิศทางในการประชุมเพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย


การประนีประนอมและการเจรจาทางการเมือง เป็นเรื่องเข้าใจได้ในการตั้งรัฐบาลผสม แต่การถอยถึงขนาดยอมยกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้พรรคอื่น เป็นเรื่องเข้าใจไม่ได้ หวังว่าพรรคก้าวไกลจะพิจารณาประเด็นนี้ให้ถ้วนถี่

------------

ต่อมา วันที่ 24 พ.ค. 2566 นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายปิยบุตร จะกินรวบทุกตำแหน่ง โดยเข้าใจว่าตัวเองมีเสียงข้างมาก แต่ความจริง 152 เสียง ยังเป็นเสียงที่ไม่ได้เกินครึ่ง ถ้าอยากได้ทุกตำแหน่งต้องทำให้ได้เหมือนพรรคไทยรักไทย 377 เสียง ที่จะชี้เป็นชี้ตายเอาตำแหน่งไหนก็ได้


นายอดิศร ย้ำว่า พรรคเพื่อไทยยินดีที่จะสนับสนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี "แต่เมื่อพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคที่ได้ไข่เป็ดไข่ไก่ ไม่ใช่ว่าได้ฝ่ายบริหารแล้วจะไม่ให้พรรคอื่นไปดำรงตำแหน่งฝ่ายนิติบัญญัติ"


เพราะฝ่ายนิติบัญญัติต้องดูความเหมาะสมของแต่ละช่วงเวลา และยกตัวอย่างกรณีของนายชวน หลีกภัย ที่ได้เป็นประธานสภา ทั้งที่พรรคประชาธิปัตย์มีเสียง ส.ส.แค่ 60 เสียง และ กรณีนายอุทัย พิมพ์ใจชน ที่มีเพียง 3 เสียงก็ยังเป็นประธานสภา


และบอกว่า ด้วยความเหมาะสมปอนด์ต่อปอนด์แล้ว บุคลากรของทั้ง 2 พรรค ตนคิดว่าบุคลากรของพรรคเพื่อไทยน่าจะมีความเหมาะสมในตำแหน่งประธานสภาฯมากกว่า และคิดว่าควรไปโหวตตำแหน่งนี้ในสภาฯ


เมื่อถามว่านายปิยบุตรอาจจะไม่เห็นด้วยในเรื่องของเอ็มโอยูที่ไม่มีการแก้ไขม.112 และต้องการตำแหน่งประธานสภาผลักดันแก้กฎหมายฉบับนี้ นายอดิศร ระบุว่า นายปิยบุตรควรไปพูดคุยกันในพรรคก้าวไกล เพราะในการหาเสียงของพรรคก้าวไกลมีการนำเรื่องการแก้ไขม.112 มาหาเสียงจนได้ชัยชนะ จึงเป็นห่วงว่ากลุ่มประชาชนที่สนับสนุนจะมองว่า "สู้ไปโกหกไปหรือไม่" จึงเป็นห่วงภาพลักษณ์ของก้าวไกล ยังไม่เป็นรัฐบาลเลยก็ทำแบบนี้เสียแล้ว


นายอดิศร ฝากถึงนายปิยบุตร ด้วยว่า ถ้าจะเป็นรัฐบาลอย่าห่วงเรื่องเล็ก "ผมขอสอนหน่อยในฐานะที่นายปิยบุตรเป็นรุ่นน้อง ขอแตะมือกันนะน้องจ๋า... ไม่ได้สักตำแหน่งก็ไม่ล้มเสียหายตายเสียจาก"

-----------

วันที่ 24 พ.ค. 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์แสดงความเห็นเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯว่าต้องเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น จะลดเพดานเรื่องอื่นได้ แต่เรื่องนี้ไม่ได้ ว่า 


เป็นการแสดงความคิดเห็นของคนที่น่าจะถือว่าเป็นคนทั่วไปก็ได้ หรือจะเป็นคนที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ได้ เพราะตอนนี้เรายังไม่ได้มีการพูดคุยในเรื่องของตำแหน่งต่างๆ เป้าหมายแรกคือ เราต้องเลือกนายกฯให้ได้ก่อน


ส่วนตำแหน่งประธานสภาฯต้องเป็นของพรรคเสียงข้างมากหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อยู่ที่การตกลงพูดคุยกัน ดูเรื่องของความเหมาะสม ซึ่งแต่ละยุคแต่ละสมัยไม่เหมือนกัน และยกตัวอย่างสมัยประธาน อุทัย พิมพ์ใจชน มี 3 เสียง ยังได้เป็นประธานสภาฯเลย


เมื่อถามว่า ในพรรคเพื่อไทยมีบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นประธานสภาฯใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน บอก เราเป็นพรรคการเมืองที่อยู่มานานกว่า 20 ปี มีบุคลากรที่ผ่านการทำงานมาเยอะ แต่ไม่ขอบอกว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เพราะเดี๋ยวจะไปกระทบคนอื่น แต่ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีบุคลากรที่พร้อม


และย้ำว่า พรรคร่วมฯ ยังไม่ได้พูดคุยกันเรื่องตำแหน่ง ต้องรอพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเป็นผู้นัดหมาย เพราะเราให้พรรคแกนนำเป็นผู้มีสิทธิ์เต็มที่ เราจะไปกำหนดหรือกดดันเขาไม่ได้

-----------
วันที่ 24 พ.ค. 66 เวลา 16.49 น. เพจ พรรคก้าวไกล - Move Forward Party ได้โพสต์ข้อความระบุว่า


[ 3 วาระที่พรรคก้าวไกลต้องการผลักดันในฐานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ]


พรรคก้าวไกลเดินทางบนเส้นทางการเมืองไม่ใช่เพื่อตำแหน่งหรืออำนาจ แต่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง มี 3 วาระที่สำคัญมากของพรรคก้าวไกลที่เราจำเป็นต้องใช้สถานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ในการผลักดัน


วาระแรก: เพื่อผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า

ตลอด 4 ปี ของสภาผู้แทนราษฎรภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ 2 มีกฎหมายถูกเสนอเข้าสู่สภามากกว่า 478 ฉบับ แต่มีกฎหมายที่ผ่านสภาไปเพียงแค่ 78 ฉบับ เท่านั้น เฉลี่ยกฎหมาย 1 ฉบับใช้เวลาในการพิจารณากว่า 310 วัน และในจำนวนกฎหมาย 78 ฉบับที่ผ่าน เกือบทั้งหมดเป็นกฎหมายของ ครม. มีกฎหมายของ ส.ส. ซีกรัฐบาลผ่านเพียง 4 ฉบับเท่านั้น และไม่มีกฎหมายของภาคประชาชนที่ผ่านสภาเลย ทำให้เกิดสภาวะที่กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน และไม่รองรับความท้าทายใหม่ๆ ได้ดีเท่าที่ควร


กฎหมายส่วนใหญ่จาก 400 ฉบับที่ตกไป ไม่ใช่เพราะผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบ แต่กลับตกไปด้วยสาเหตุอื่น ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายที่รอบรรจุระเบียบวาระแต่ไม่ถูกหยิบขึ้นมาพิจารณา 180 ฉบับกฎหมายที่ถูกประธานสภาวินิจฉัยว่าเป็นร่างกฎหมายการเงิน และนายกรัฐมนตรีปัดตกไม่นำเสนอเข้าสู่สภา 85 ฉบับ


มีกฎหมายที่สภาพิจารณาและถูกปัดตกไปจริงๆ เพียง 45 ฉบับเท่านั้น เท่ากับว่าร่างกฎหมายที่ถูกนำเสนออีก 355 ฉบับ ถูกปัดตกไปด้วยกระบวนการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และให้อำนาจดุลพินิจแก่ประธานสภาและนายกรัฐมนตรีเพียงแค่คนใดคนหนึ่ง กลับมีอำนาจมากกว่าเจตจำนงของผู้แทนประชาชนที่เหลือ


ในสัญญาประชาคมที่พรรคก้าวไกลให้ไว้กับประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับของพรรคก้าวไกลที่ต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร เป็นกฎหมายการเมือง 11 ฉบับ กฎหมายสิทธิเสรีภาพ 8 ฉบับ กฎหมายปฏิรูปที่ดิน 8 ฉบับ กฎหมายปฏิรูประบบบริหารราชการ 8 ฉบับ กฎหมายบริการสาธารณะ 4 ฉบับ กฎหมายเศรษฐกิจ 4 ฉบับ กฎหมายสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ กฎหมายแรงงาน 2 ฉบับ กระบวนการนิติบัญญัติที่ก้าวหน้าจำเป็นอย่างยิ่งในการทำให้กฎหมายเหล่านี้ได้รับการพิจารณาอย่างมีประสิทธิภาพ


วาระที่สอง: เพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นวาระสำคัญ และถูกระบุไว้ใน MOU ของพรรคร่วมรัฐบาล การทำภารกิจนี้ให้ลุล่วง จะต้องผ่านการประชุมสภาหลายครั้ง และจะมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในเนื้อหาที่มีความแหลมคม จำเป็นอย่างยิ่งที่ประธานสภาต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ในการอำนวยการประชุมให้เดินหน้าไปอย่างราบรื่น เป็นที่ยอมรับของสมาชิกสภาทุกฝ่าย และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้


วาระที่สาม: ก้าวไกลจะผลักดันหลักการ “รัฐสภาโปร่งใส” และ “ประชาชนมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย

“รัฐสภาโปร่งใส” หรือ Open Parliament จะเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ อยู่ที่ประธานรัฐสภา พรรคก้าวไกลประกาศเจตจำนงแน่วแน่ว่าจะทำให้รัฐสภาไทยโปร่งใสมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนในการมีส่วนร่วมและตรวจสอบกระบวนการนิติบัญญัติ โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุด


3.1 ถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ ให้พี่น้องประชาชนติดตามได้

หรือหากไปไกลกว่านั้น ก็เป็นการรายงานบันทึกการออกเสียงลงมติต่างๆ ของผู้แทนราษฎรทุกคน โดยนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ เข้าถึงง่าย และรวดเร็ว เพื่อให้พี่น้องประชาชนติดตามการทำงานของผู้แทนของตนได้อย่างสะดวก ว่าในแต่ละประเด็น ผู้แทนของตนเองได้ลงมติออกเสียงไปอย่างไรบ้าง


3.2 ส่งเสริมการทำงานของสำนักงบประมาณรัฐสภา (Parliamentary Budget Office หรือ PBO) ในการทำหน้าที่อย่างเต็มที่

เพื่อตรวจสอบและวิเคราะห์การใช้งบประมาณแผ่นดินของหน่วยงานองค์กรต่างๆ เพื่อให้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์นั้นจะถูกใช้ไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน


3.3 ตั้งสภาเยาวชน หรือ Youth Parliament (ซึ่งอาจต่อยอดจากสภาเด็กและเยาวชนที่มีอยู่) ที่ขึ้นตรงกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

โดยกำหนดให้สมาชิกสภาเยาวชนทุกคนมาจากการเลือกตั้งของเยาวชนทั่วประเทศ และกำหนดให้ข้อเสนอใดที่สภาเยาวชนลงมติเห็นชอบ ถูกบรรจุเป็นวาระที่รัฐสภาต้องรับไปพิจารณาต่อโดยอัตโนมัติ ด้วยสถานะเทียบเท่ากับร่างกฎหมายที่ประชาชน 10,000 คน สามารถร่วมกันลงชื่อเสนอสู่สภาได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน


พรรคก้าวไกลต้องการให้ผู้แทนราษฎรของเราดำรงตำแหน่งประธานสภา ไม่ใช่เพื่อตำแหน่ง แต่เราต้องการอำนาจเข้าไปเปลี่ยนแปลงรัฐสภาไทยให้สามารถออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ สามารถแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนได้จริง และเป็นรัฐสภาที่เปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทำให้ระบอบประชาธิปไตยเข้มแข็ง

-----------

วานนี้ (25 พ.ค.) นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะคณะเจรจาจัดตั้งรัฐบาล ตอบคำถามสื่อมวลชน เรื่องตำแหน่งประธานสภา ยืนยันพรรคก้าวไกลจำเป็นต้องมีตำแหน่งประธานสถา นอกเหนือจากอำนาจบริหาร ก็มีความจำเป็น ต้องเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติด้วย​ เพราะมี​ 3 วาระที่ต้องผลักดันตามที่โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กของพรรค ซึ่ง​ 4 ปี ที่ผ่านมาเห็นแล้วว่าตำแหน่งนี้สำคัญต่อการผลักดันกฎหมายแค่ไหน​ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การร่างฉบับใหม่​ ถ้าจะทำให้ลุล่วงต้องมีการประชุมสภาอีกหลายครั้ง​ ต้องมีประธานที่มีเจตนารมณ์แน่วแน่ในการแก้


นอกจากนี้ยังต้องผลักดันให้มีสภาที่โปร่งใส​ มีส่วนร่วมของประชาชน​ เช่นที่เราเคยผลักดันให้ถ่ายทอดสดในชั้นกรรมาธิการ​ ซึ่งจะเป็นหนึ่งในวาระ​ที่จะทำให้โปร่งใส่​ตรวจสอบได้​ รวมไปถึงสภาเยาวชน​ ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อฟังเสียงเยาวชน​ เพื่อฟังเสียง ซึ่งจะขึ้นตรงกับสำนักเลขาสภาผู้แทนราษฎร


กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกลยืนยันว่าต้องการตำแหน่งดังกล่าว เพราะมีความสำคัญต่อการผลักดันกฎหมายเร่งด่วนทั้ง 45 ฉบับ รวมถึงกฎหมายสำคัญอื่นๆ รวมถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ลุล่วงผ่านการประชุมรัฐสภา จึงต้องการประธานสภาฯ ที่มีเจตจำนงแน่วแน่

ส่วนเรื่องนี้เป็นห่วงว่ากระแสจะทำให้พรรคเพื่อไทยพิจารณาถอนตัวออกจากการจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะเล็งเห็นว่าความหวังที่พี่น้องประชาชนมอบให้ ในการจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จลุล่วงน่าจะมีความสำคัญ และเรื่องนี้น่าจะเป็นการที่จะได้พูดคุยเจรจากันภายหลังต่อไป ตนมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะอยู่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะมีตำแหน่งประธานสภาฯหรือไม่ก็ตาม


เมื่อถามว่ามีการแทงข้างหลังกันจริงหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ไม่เป็นความจริง


“ดิฉันยังยืนยันข้อความที่ระบุไว้ใน MOU ว่าเราต้องซื่อสัตย์ จริงใจต่อกัน ดังนั้นปรากฏการณ์แทงข้างหลังจะไม่มีทางปรากฎขึ้นแน่นอนจากทางฝั่งพรรคก้าวไกล” นางสาวศิริกัญญา กล่าว


นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม มีความพยายามในการสื่อสารตรงไปตรงมา ส่วนไหนที่ยังคิดว่าเป็นข้อกังวลที่จะเป็นการไม่จริงใจต่อกันก็สามารถที่จะพูดคุยกันได้


เมื่อถามย้ำว่าหากพรรคเพื่อไทยถอนตัว แนวทางของพรรคก้าวไกลหลังจากนี้จะทำอย่างไร นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า เราไม่มีความเชื่อใดๆ ว่าพรรคเพื่อไทยจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ หลังจากที่ได้มีการพูดคุยกันหลายครั้ง ได้มีการแถลงข่าวการร่วมมือกัน ได้ลงนาม MOU ตนมั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่ถอนตัว


นางสาวศิริกัญญา ย้ำว่า พรรคก้าวไกลเน้นที่ตัววาระและนโยบายเป็นหลัก เรื่องการเจรจาต่อรองต้องไปพูดคุยกันในรายละเอียด ว่าใครได้บริหารกระทรวงไหน การที่พรรคที่ได้อันดับ 1 ขอตำแหน่งประมุขในสภาไม่ใช่เรื่องผิดแผกอะไร เนื่องจากเรามีวาระที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนในตำแหน่งประธานรัฐสภา


เมื่อถามว่ามีการวางตัว ตำแหน่งประธานสภาไว้แล้วว่าต้องเป็นใครหรือไม่ เนื่องจากหลายคนคาดการณ์ไปที่นายณัฐวุฒิ บัวประทุม รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมาย น.ส.ศิริกัญญา ยอมรับว่ามีการพูดคุยกันแต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นใคร ในพรรคมีคนที่เหมาะสมหลายคน คาดว่าจะมีการเปิดเผยรายชื่อในช่วงใกล้วันที่จะต้องโหวตประธานสภาฯ ซึ่งตำแหน่งนี้ไม่ได้เพียงควบคุมการประชุมเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นในการขับเคลื่อนฟื้นฟูประชาธิปไตย ตนมั่นใจว่าคนของพรรคก้าวไกลสามารถทำได้


ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าในโผมีชื่อ นายณัฐวุฒิ อยู่แล้วใช่หรือไม่ น.ส.ศิริกัญญา ยกตัวอย่างโปคณะรัฐมนตรีที่เคยหลุดออกมา ว่าอยู่ในกรณีเดียวกัน ยังไม่มีการสรุปชื่อใดๆ เมื่อถามว่ามั่นใจว่ามีความสามารถในการควบคุมสภาได้หรือไม่ เนื่องจากมีการมองว่า ส.ส.พรรคก้าวไกล เป็น ส.ส.ใหม่ อายุไม่มาก น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า ในอดีตก็มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานสภาฯ ที่มีอายุน้อย มองว่าเรื่องอายุไม่ใช่ประเด็น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ยากถ้ามองเพียงประเด็นความอาวุโสและประสบการณ์มากเกินไป


ส่วนที่นายอดิศร เพียงเกษ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ออกมาบอกว่าพรรคก้าวไกลได้ฝ่ายบริหารแล้ว ไม่ควรกินรวบ นางสาวศิริกัญญา ยืนยันว่า พรรคก้าวไกลยึดตัววาระและนโยบายเป็นหลัก ส่วนการเจรจาต่อรองคงต้องไปพูดคุยกันรายละเอียด ว่าได้ฝ่ายบริหารไปแล้วคือใครได้กระทรวงไหนอย่างไร ซึ่งการที่พรรคที่มีจำนวน ส.ส. มากเป็นอันดับหนึ่ง จะขอตำแหน่งประธานสภาซึ่งเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติด้วยในเวลาเดียวกัน ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแผก และพรรคก้าวไกลก็ชัดเจนว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรในการที่มีตำแหน่งประธานสภา ซึ่งต้องพูดคุยกันว่าวาระเหล่านี้จะสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไร


เมื่อถามว่าสาเหตุที่พรรคก้าวไกลต้องการตำแหน่งประธานสภา เพราะไม่ไว้ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาลแข่งหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา ยืนยันว่า ไม่ได้กังวลเรื่องนี้ว่าจะมีการเสนอชื่อคนอื่นเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อแข่งกันตั้งรัฐบาล เพราะเชื่อใจพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มที่ว่าจะร่วมหัวจมท้ายไปกับพรรคก้าวไกล พร้อมยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้ยึดติดเก้าอี้ แต่ยึดวาระที่ต้องการขับเคลื่อน


ส่วนที่นายอดิศร พรรคเพื่อไทย เสนอว่าให้เปิดเป็นฟรีโหวตในสภา นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ยังไม่ไปถึงขั้นนั้น เราคาดว่าน่าจะได้ข้อยุติกันก่อนที่จะไปถึงให้ฟรีโหวต

-------------
วานนี้ (25 พ.ค.) นายสมคิด เชื้อคง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดอุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก แนะนำพรรคเพื่อไทยให้ถอยเป็นฝ่ายค้าน โดยข้อความระบุว่า ทำไมวานนี้ (24 พฤษภาคม) พรรคเพื่อไทยมีการประชุมผู้สมัครทั้งสอบผ่านและสอบไม่ผ่าน ก็เป็นปกติธรรมดาที่พรรคต้องพูดคุยกัน จุดดี-จุดด้อยอย่างไรก็ว่ากันไปในการทำงาน ซึ่งก็ทำกันมาทุกครั้งหลังเลือกตั้ง


นายสมคิด ระบุว่า ตนได้พูดคุยกับผู้บริหารในพรรค ตนออกความเห็นเรื่องตั้งรัฐบาล ตนก็ถามว่าทำไมต้อง MOU ในเมื่อเราสามารถตกลงแนวทางกันได้ พรรคเพื่อไทยบอกจนปากฉีกว่าไม่ตั้งรัฐบาลแข่งก้าวไกลตั้งแต่แรก สื่อโซเชียลยังกระหน่ำตลอดว่าจะตั้งแข่งทำไม ใครทำ ทำไมพรรคก้าวไกลถึงรีบประกาศยึดตำแหน่งประธานสภาก่อน ทั้งที่สามารถคุยกันภายในได้ เหมือนใช้สื่อบีบทุกพรรคให้ทำตาม ทำไมไม่คุยกันว่าทำอย่างไรจะตั้งรัฐบาลได้ ทำอย่างไรสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จะโหวตให้ แกนหลักอย่างพรรคก้าวไกลควรคุยกันภายในและถอยลงมาบ้าง


“หากพรรคก้าวไกลได้ 250 เสียงขึ้นไปไม่ถอยก็ได้ นี่มี 151 เสียง อย่าคิดว่าจะทำได้ทุกอย่าง ไปทีละอย่างก็ไม่สาย อย่าใจร้อน ให้เกียรติพรรคที่ทำงานร่วมกัน บีบมากๆ เข้าผมว่าพรรคเพื่อไทยถอยไปเป็นฝ่ายค้านก็ได้นะ อย่าคิดว่าเราทำไม่ได้ มันเป็นไปได้หมด เพราะยังไม่ทันตั้งไข่เพื่อนก็กินรวบแล้ว แบบนี้ไหวไหมล่ะ นึกถึงใจเขาใจเรา” นายสมคิด ระบุ

-------------
เมื่อเวลา 13.40 น. วานนี้ (25 พ.ค.) ที่พรรคเพื่อไทย (พท.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการพูดคุยตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร กับพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ว่า ในวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา 8 พรรคได้ลงนามเอ็มโอยู เพื่อไทยแจ้งความประสงค์ถึงตำแหน่งดังกล่าวไปยังแกนนำพรรคก้าวไกล ซึ่งพรรคก้าวไกลบอกว่าขอเวลา 2-3 วัน เพื่อเอาคำตอบมาให้ และขณะนี้ก็รอพรรคก้าวไกลอยู่


เมื่อถามว่าหลายคนในพรรคก้าวไกลระบุตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของพรรคก้าวไกลเท่านั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า กองเชียร์ทั้ง 2 ฝั่งก็ประสงค์จะให้ ส.ส.และแกนนำของแต่ละพรรคเป็น และหากมองอดีตที่ผ่านมา ปี 62 ประธานสภาก็เป็นนายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคลำดับที่ 4 และตนมองว่าด้วยความที่เสียงใกล้กันมาก โดยเฉพาะ ส.ส.เขตที่พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้ 112 เท่ากัน


ฉะนั้น อยากให้พูดคุยกันเพื่อหาทางออก และเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยเคยประสานงานไปแล้ว จึงอยากให้บรรยากาศการทำงานเป็นไปได้ด้วยดี เพราะลงนามเอ็มโอยูไปแล้ว ไม่อยากให้บางเรื่องมาเป็นอุปสรรค


เมื่อถามว่าจะต้องนัดพูดคุยกันเป็นทางการอีกครั้งหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ต้องพูดคุยกัน เพราะหากปล่อยให้ต่างฝ่ายออกมาพูด ก็ไม่จบ ยิ่งนานก็ไม่ใช่ผลดี หากมีการพูดคุยอย่างเป็นทางการเรื่องคงจบได้ ที่ผ่านมาการคุยกับพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมอื่นๆ บรรยากาศเป็นไปได้ด้วยดีทุกครั้ง ไม่มีบรรยากาศที่เป็นอุปสรรค


เมื่อถามย้ำว่าน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงยืนยันตำแหน่งประธานสภาต้องเป็นของพรรคก้าวไกล จะต้องคุยกันใหม่หรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ทั้ง 2 ฝั่งต่างออกมาพูดว่าตำแหน่งต้องเป็นของฝั่งไหน ประธานสภาเป็นตำแหน่งสำคัญ อยากให้คำนึงถึงความเหมาะสม แต่ถ้าพรรคก้าวไกลไม่ยอม พรรคเพื่อไทยคงต้องกลับมาหารือกันอีกครั้งว่าแกนนำหรือกรรมการบริหารพรรคจะว่าอย่างไร


เมื่อถามว่าจะถึงขั้นกระทบกับการจับมือตั้งรัฐบาลหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า เรายืนยันเจตนารมณ์ชัดเจนตั้งแต่ต้น และวันนี้ยังยืนยันอยู่ว่าพรรคเพื่อไทยสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ในฐานะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จุดยืนนี้ไม่เปลี่ยน ส่วนเรื่องประธานสภาเป็นคนละกรณีกัน ซึ่งไม่มีในเอ็มโอยู


เมื่อถามถึงนายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ระบุหากถูกบีบคั้นขนาดนี้ พรรคเพื่อไทยควรแยกออกมาเป็นฝ่ายค้าน นายประเสริฐ กล่าวว่า เป็นเพียงความเห็นและความรู้สึกส่วนตัวของนายสมคิด ตนยังเชื่อว่าการพูดคุยน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า


เมื่อถามว่า 10 เสียงที่ห่างกันไม่ได้มาก พรรคเพื่อไทยถอยให้กับพรรคก้าวไกลพอสมควรหรือยัง นายประเสริฐ กล่าวว่า พอสมควรเพราะ 10 เสียงเป็นคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่ต่างกันเท่านั้น ที่จริงหากพรรคก้าวไกลได้รับการเลือกตั้งส.ส.เกินครึ่งหนึ่งคือ 250 จะจบ ปัญหานี้ไม่เกิดแน่นอน และในอดีตพรรคที่ได้ลำดับที่ 1 กับลำดับที่ 2 จะมีข้อแตกต่างกัน มีความชัดเจนว่าลำดับที่ 1 คะแนนห่างจากลำดับที่ 2 และเป็นคนละฝั่งกัน แต่ครั้งนี้เป็นฝั่งประชาธิปไตยเหมือนกัน และไม่มีพรรคใดที่ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่ง จึงอยากให้ทุกฝ่ายมองถึงความเหมาะสม


ย้ำว่าตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งที่สำคัญ เป็นตำแหน่งศักดิ์ศรีของประเทศ เป็นหมายเลข 1 ของนิติบัญญัติ ฉะนั้น การตั้งประธานสภาต้องใช้ความละเอียดอ่อน และอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าคุยกัน ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล ได้นายกฯ เบอร์ 1 ไปแล้ว ถ้าเพื่อไทยจะมีโอกาสทำงานตรงนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย


เมื่อถามว่าจะถึงขั้นเสนอชื่อแข่งกันหรือไม่ นายประเสริฐ กล่าวว่า ยังไม่อยากให้มองอย่างนั้น เมื่อถามว่าพรรคมีรายชื่อในใจว่าจะเสนอใครแล้วหรือยัง นายประเสริฐ กล่าวว่า กรรมการบริหารพรรคต้องนำมาหารือในที่ประชุมอีกครั้ง


เมื่อถามว่าก่อนหน้านี้มีชื่อของนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายประเสริฐ กล่าวว่า นพ.ชลน่านมีความเหมาะสม มีประสบการณ์ในสภา เป็นส.ส. 6 สมัย เก่งเรื่องข้อบังคับ รวมถึงยังเป็นหัวหน้าพรรคด้วย ซึ่งหัวหน้าพรรคหนึ่งเป็นนายกฯ และหัวหน้าพรรคหนึ่งเป็นประธานสภาก็ไม่เลว


เมื่อถามว่าการพูดคุยกับส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างไร นายประเสริฐ กล่าวว่า ถ้าในนามของพรรคไม่มี เพราะเท่าที่คุยกับพรรคก้าวไกล จะเป็นคนประสานเอง เนื่องจากเป็นพรรคหลักจัดตั้งรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน แต่ถ้ามีเรื่องอะไรให้เราช่วย เราก็ยินดี


มื่อถามถึงกรณีนพ.ชลน่าน กับน.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกฯ พรรคไทยสร้างไทย จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวหรือไม่ นายประเสริฐ หัวเราะก่อนตอบว่า อยากให้บรรยากาศดีกว่านี้ ก็ต้องเคลียร์ใจกันเร็วๆ ที่จริงเมื่อก่อนทั้งสองฝ่ายก็รักกันดี ถูกคอกัน ซึ่งนพ.ชลน่านเป็นผู้ใหญ่และเป็นหัวหน้าพรรค เมื่อมาเจอคำถามในลักษณะเหมือนจะจี้ท่านถามครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 อีก ตนว่าคงทำให้ท่านหงุดหงิดพอสมควร แต่คิดว่าท่านเป็นผู้ใหญ่ ท่านคงให้อภัย
-----------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/2n4KDw4a0WY

คุณอาจสนใจ

Related News