เลือกตั้งและการเมือง

'เรืองไกร' ร้อง กกต.ยุบ 8 พรรคเซ็น MOU - พร้อมยื่นหลักฐานเพิ่ม ปมพิธาถือหุ้น ITV

โดย nattachat_c

25 พ.ค. 2566

82 views

วานนี้ (24 พ.ค. 66) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อให้ตรวจสอบว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล หรือ MOU ที่ลงนามโดยพรรคก้าวไกลและพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลอีก 7 พรรค เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะทำให้พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรค ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง  จนถึงขั้นถูกยุบพรรคหรือไม่


โดย นายเรืองไกร บอกว่า มีข้อความหนึ่งของการทำ MOU ทั้ง 8 พรรคนั้น ระบุว่า ทุกพรรคการเมืองมีสิทธิ์ผลักดันนโยบายอื่นๆ เพิ่มเติม โดยไม่ขัดไปจากนโยบายที่อยู่ใน MOU ไม่ว่าจะเสนอผ่านอำนาจฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติก็ตาม


ส่วนตัวมองว่า นี่เป็นการผูกมัดบีบให้พรรคการเมืองทั้ง 7 พรรคอ ยู่ภายใต้การครอบงำชี้นำของพรรคก้าวไกลหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมส่งผลให้พรรคการเมืองทั้ง 8 พรรคนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ที่ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมไม่อยู่ในความผูกมัดหรือครอบงำใดๆ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 ที่บัญญัติชัดเจนว่า ห้ามพรรคการเมืองยินยอมหรือกระทำการอันใด อันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำพรรคการเมือง จนทำให้พรรคการเมืองนั้นขาดความเป็นอิสระไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม และการทำ MOU ดังกล่าวนั้น ไม่มีกฎหมายใดรองรับและหัวหน้าพรรคก้าวไกลคือนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แม้จะเป็นพรรคที่มีเสียงอันดับ 1 ในการจัดตั้งรัฐบาล ก็ไม่มีอำนาจในการทำ MOU


นอกจากนี้ นาย เรืองไกรยัง ยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้กับ กกต. กรณี นาย พิธา ถือครองหุ้นสื่อ บริษัทไอทีวี จำกัด มหาชน โดยนำตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2549 - 2566 และตารางรายได้รวมของไอทีวี ตั้งแต่ปี 2549 - 2565 (ยกเว้นปี 2555) เพื่อแสดงให้เห็นว่า นายพิธาถือครองหุ้นตั้งแต่ปี 2551 และไม่ได้ระบุว่าเป็นผู้จัดการมรดก และบริษัทไอทีวียังยังมีผลประกอบการของบริษัทอยู่ แม้จะอ้างว่าไม่ได้ประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ตั้งแต่ปี 2561 แล้วก็ตาม

-------------

ส่วนกรณีที่มีสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ออกมาพูดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นของนายพิธาเรื่องถือหุ้นสื่อไอทีวีเช่นเดียวกัน รวมทั้งมีรายงานข่าวว่า สมาชิกพรรคภูมิใจไทยคนดังกล่าว เคยเข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทไอทีวีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้น สมาชิกพรรคภูมิใจไทยคนดังกล่าวได้ถามถึงวัตถุประสงค์ของการคงอยู่ของบริษัท ซึ่งทางที่ประชุมผู้ถือหุ้นกล่าวอ้างว่า บริษัทยังคงอยู่เพื่อประกอบกิจการสื่อ จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า สมาชิกพรรคภูมิใจไทยคนดังกล่าว มีส่วนเกี่ยวข้องรู้เห็นกับการร้องเรียน กกต. ของนายเรืองไกรครั้งนี้หรือไม่


นายเรืองไกร กล่าวว่า ตนไม่ทราบ ไม่รู้เรื่อง และไม่เกี่ยวข้อง ที่ตนทำก็เพราะตนทำด้วยตนเอง โดยมีนักการเมืองที่อยู่ในสภา ซึ่งตนขอไม่เปิดเผยว่าเป็นใครและอยู่ฝ่ายไหน ส่งข้อมูลให้ตน เมื่อตนเห็นว่ากรณีนี้อาจจะขัดต่อหลักกฎหมาย จึงอยากร้องให้ทาง กกต. ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยังระบุอีกว่า มีนักการเมืองผู้ใหญ่อีกหลายคนที่มีชื่อถือหุ้นในสื่อเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้มีประเด็นเรื่องของการลงรับสมัครเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่นำมาสู่ข้อสงสัยเฉกเช่นเดียวกับนายพิธา


นายเรืองไกร ยังกล่าวอีกว่า หากทาง กกต. ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ล่าช้า จนไม่ทันประกาศรับรองผลการเลือกตั้งและเปิดสมัยประชุมรัฐสภา ตนแนะนำว่า หลังจากนี้ หากเปิดรัฐสภาแล้ว ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายไหนก็ได้ เข้าชื่ออย่างน้อย 50 คนขึ้นไป ส่งเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยประเด็นถือหุ้นสื่อของนายพิธาได้โดยตรงเพื่อความรวดเร็ว  เหมือนเช่นกรณีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ


รวมทั้งตนจะไปเสนอแนะกับ วุฒิสมาชิก ให้เข้าชื่อ 1 ใน 4 ของวุฒิสมาชิกทั้งหมด ตรวจสอบและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายพิธาเช่นเดียวกัน และย้ำว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นเกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะตัวของนายพิธาเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคก้าวไกลแต่อย่างใด


อย่างไรก็ตามก็ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัย และตรวจสอบข้อเท็จจริงของกกต ตนไม่ใช่ผู้มีอำนาจหรือผู้วิเศษที่จะไปสั่ง กกต. ให้วินิจฉัยว่าผิดแต่อย่างใด


ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงเจตนารมณ์ของนายเรืองไกรที่มายื่นให้ กกต.ตรวจสอบ MOU ของ 8 พรรคการเมือง รวมไปถึงกรณีการตรวจสอบหุ้นสื่อของนายพิธา ว่าเป็นเพียงแค่ให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย หรือจงใจที่จะก่อให้เกิดอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล หลังการเลือกตั้งหรือไม่


นายเรืองไกรได้ยกธรรมะมากล่าวอ้างว่า หากเกิดแผลก็ต้องย่อมรักษา หากเกิดแผลก็ต้องดูแล เช่นนั้น หากเกิดข้อสงสัยใด ๆ ที่อาจจะขัดต่อข้อกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ก็เป็นหน้าที่ของตนในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการยื่นตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ผ่านมา ตนก็เคยยื่นตรวจสอบทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมาหลายครั้ง


แม้กระทั่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ตนก็เคยยื่นให้ตรวจสอบหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง วาระ 8 ปี แต่ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครสนใจและมองข้าม


พอครั้งนี้ตนตรวจสอบนายพิธาและพรรคก้าวไกล ก็มาหาว่าตนรับงานหรือมีเจตนาก่อนิติสงคราม ตนมีเพียงเจตนาในการตรวจสอบตามสิทธิของรัฐธรรมนูญหากพบว่าการกระทำใดมีข้อสงสัยว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เท่านั้น


และระหว่างที่นาย เรืองไกร มาร้อง นายวรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้เดินทางเข้ามาในวงแถลงข่าว พร้อมกับชูป้ายข้อความระบุว่า "ขอให้กำลังใจและสนับสนุนพิทาลิ้มเจริญรัตน์เป็นนายกรัฐมนตรี อย่าให้เหมือนสมัครทำกับข้าว" เพื่อเป็นการคัดค้านนายเรืองไกร ช่วงที่นาย เรืองไกร ไปยื่นเอกสารร้องเรียนที่ กกต. นาย วรัญชัย ตะโกนว่า ไม่อยากให้เหมือนกับกรณีของอดีตนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งพ้นจากตำแหน่งจากกรณีจัดรายการชิมไปบ่นไปเมื่อปี 2551  

-------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/KNFtWEGETA0



คุณอาจสนใจ

Related News