เลือกตั้งและการเมือง

สาวเผชิญหน้าม็อบกดดัน ส.ว. เผยเป็นด้อมส้มแท้ แต่ไม่เห็นด้วย หวั่น ‘พิธา’ ตั้งรัฐบาลสะดุด

โดย nattachat_c

24 พ.ค. 2566

59 views

วานนี้ (23 พ.ค.66) ที่ด้านหน้ารัฐสภา กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีการจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ในวันที่มีการประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) ภายใต้หัวข้อ “อย่าให้ใครขโมยความฝันและความหวังของเรา สว.ต้องไม่สวนมติประชาชน และชัยชนะของประชาชนในครั้งนี้ต้องไม่ถูกทำลายโดยเสียงของสมาชิกวุฒิสภา” เพื่อเป็นการเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ร่วมโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี


เวลา 14.00 น. น.ส.กัลยกร ตัวแทนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้เข้าพูดคุยกับเจ้าหน้าที่รัฐสภาและตำรวจ บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อแจ้งขอใช้สถานที่บริเวณลานหน้าอาคารรัฐสภา จัดกิจกรรม “ส.ว.ต้องไม่ฝืนมติประชาชน” ตั้งแต่เวลา 17.00-20.00 น.


และ ระบุว่า เป็นการนัดมวลชนแสดงจุดยืนในหลักการ เพื่อชวนให้ ส.ว.โหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่า ไม่ได้เดินทางมาด้วยท่าทีดุดัน แต่มาให้กำลังใจ ส.ว.ที่ตัดสินใจโหวตให้นายพิธา


ส่วนคนไหนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ ก็จะเวทีจะมีการจัดกิจกรรมวิชาการ เพื่อสร้างความเข้าใจว่าเหตุใด ส.ว.จึงต้องยืนข้างประชาชน


ส่วนประเด็นที่มีเสียงสะท้อนต่อการจัดกิจกรรมของกลุ่มแนวร่วมฯ ที่หลายคนอาจเป็นห่วงภาพลักษณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ค่อนข้างดูรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา แต่ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ตาม กลุ่มแนวร่วมฯ คิดว่าการชุมนุมคงเกิดขึ้นได้ตามปกติ และวันนี้ต้องการมาเพื่อยืนยันจุดยืน


น.ส.กัลยกร ระบุอีกว่า ไม่กังวลเรื่องสถานการณ์สุ่มเสี่ยง เพราะคาดว่าหลายส่วนที่ร่วมกันจัดกิจกรรมจะรับมือได้ และหวังว่าความรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งภาคประชาชนที่มาร่วมต่างคุ้นเคยกัน แต่หากเป็นมือที่สามจากฝ่ายอื่น ก็มีการประสานขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้แล้ว ขณะที่การรักษาความปลอดภัยบริเวณพื้นที่ชุมนุม ใช้กำลังตำรวจจาก สน.ท้องที่ และตำรวจรัฐสภาเป็นหลัก

-------------

วานนี้ (23 พ.ค.66) น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ 'มายด์' เดินทางมาด้านหน้ารัฐสภา เพื่อร่วมสังเกตการณ์กิจกรรมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม


โดย น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า  กิจกรรมเมื่อวานนี้จะเป็นการย้ำเตือนว่า ส.ว.ไม่ได้มีอำนาจในการพิจารณาหรือพิเคราะห์สิทธิของประชาชนซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพราะมองว่า บทบาทหน้าที่ก็มีที่มาไม่ชอบธรรมตั้งแต่แรก และที่มาของส.ว.ชุดนี้ ก็ยังเป็นข้อครหาแก่ประชาชน  


เมื่อถามว่า ท่าทีของ ส.ว.เมื่อทราบว่าจะมีการจัดกิจกรรม ซึ่ง ส.ว.บางท่านมองว่าไม่เหมะสม

น.ส.ภัสราวลี ระบุว่า ส่วนแรก คือมองว่า ส.ว.ไม่ควรที่จะมีความเห็นใดๆ เลย  เพราะว่าด้วยความไม่ชอบธรรม ซึ่งอาจจะหลงลืมไปในส่วนนี้


อีกส่วนตนยืนยันว่า การใช้สิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนในการพูดถึง บุคคลที่ได้รับเงินภาษีของประชาชน ย่อมพูดได้ แล้วยิ่งเป็นช่วงที่จะเกิดรัฐบาลใหม่ ประชาชนเองก็คาดหวังและตั้งใจเป็นอย่างมากในวันไปเลือกตั้งที่ผ่านมา 


เพราะฉะนั้น ทาง ส.ว.จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นความเห็นส่วนบุคคลกันไป แต่ไม่ควรที่จะมีผลต่อการตัดสินใจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี


เมื่อถามว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้ จะมีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว.มากน้อยแค่ไหน

น.ส. ภัสราวลี  กล่าวว่า ในมุมที่ดี การสื่อสารในวันนี้จะเป็นไปอย่างมีเหตุผล และไม่ใช่จังหวะในการกดดัน อย่างที่หลายคนกังวลอยู่แน่นอน เพราะฉะนั้น ถ้าหากเราพูดด้วยเหตุผลแล้ว ส.ว.ควรที่จะรับฟัง ไม่เกี่ยวกับว่าจะใช้ดุลพินิจตัวเองในการตัดสินใจอย่างไรในการยกมือหรือไม่


ซึ่งขอย้ำอีกครั้งว่า ส.ว.250 คน ไม่มีสิทธิ์ในการใช้ดุลพินิจของตัวเองมาตัดสินว่า จะยกมือให้ใคร 


ส่วนกรณีที่หลายคนบอกว่าการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้เร็วเกินไปหรือไม่

น.ส. ภัสราวลี  กล่าวว่า หลายคนอาจจะพบกับชุมนุมในลักษณะของความรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการตอบโต้การชุมนุมอย่างรุนแรง ตนจึงอยากชี้แจงตรงนี้ว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองมีลักษณะที่หลากหลาย ไม่ได้มีเพียงแค่การชุมนุมกดดันเพียงอย่างเดียว แต่มีทั้งการขุดคุยกันดีๆ ใช้วงเสวนาในการพูดคุย ใช้ดนตรีในการปลุกใจรวมพลกัน ฯลฯ ซึ่งตนอยากให้ลองดูงานในวันนี้ว่า ไม่ได้ต้องการดุดัน แต่เป็นการส่งข้อมูลสื่อสารของประชาชนไปถึง ส.ว.


เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นแกนนำที่เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง คิดอย่างไรกับรัฐบาลของนายพิธา

น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า ถ้าพูดถึงเสียงที่ประชาชนโหวตในการเลือกตั้งที่ผ่านมา ค่อนข้างจะเป็นฉันทามติของสังคมอย่างชัดเจนว่า ประชาชนต้องการออกจากระบอบเผด็จการ และต้องการรัฐบาลใหม่


ซึ่งรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ถ้าหากเป็นไปตามกลไกลประชาธิปไตย ก็หวังว่าจะได้จัดตั้งรัฐบาล และจะได้รีบทำงานให้กับประชาชนโดยเร็ว เพื่อตอบสัญญาที่ให้กับประชาชนไว้ก่อนการเลือกตั้ง


เมื่อถามต่อว่า คาดหวังอย่างไรกับรัฐบาลชุดนี้

น.ส.ภัสราวลี กล่าวว่า จริงๆ ตนเองคาดหวังกับทุกรัฐบาล แต่รัฐบาลชุดนี้จะต้องแก้ไขเชิงโครงสร้างที่จะวางรากฐานไม่ให้เกิดการรัฐประหาร ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำได้


สำหรับประเด็นแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ที่ไม่ได้อยู่ใน MOU นั้น

น.ส.ภัสราวลี เผยว่า หลายๆ คนอาจจะคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ในความเห็นส่วนตัวมองว่า เรื่องกฎหมายมาตรา 112 พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคอาจจะพูดไม่ชัดเจน การที่ระบุลงไปอาจจะเป็นการกึ่งมัดมือพรรคร่วมรัฐบาล แต่ถ้าพรรคก้าวไกลยืนยันว่าจะผลักดันประเด็นนี้ต่อไป เราก็อาจจะได้เห็นประเด็นนี้ในสมัยรัฐบาลใหม่


เมื่อถามถึงว่า หากพรรคก้าวไกลขอไปทำประเด็นอื่นก่อนเรื่องแก้มาตรา 112

น.ส.ภัสราวลี เชื่อว่า ในวาระ 4 ปีนี้ จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่หากรัฐบาลไม่ผลักดันให้เกิดขึ้น ประชาชนจะเป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้ด้วยตัวเอง


ทั้งนี้ หากพรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ มีความกังวลว่าจะนำไปสู่การชุมนุมหรือไม่

ภัสราวลี ระบุว่า ประชาชนมีสิทธิอย่างเต็มเปี่ยมที่จะออกมาปกป้องความเป็นประชาธิปไตย  และเสียงโหวตของตัวเองที่อยากได้รัฐบาลชุดใหม่ ฉะนั้น ถ้าใครมาขัดขวางระบอบประชาธิปไตยที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือขัดขวางประชาชนที่ออกมาปกป้องสิทธิ ตนก็คิดว่าประชาชนก็พร้อมที่จะออกมายืนยันสิทธิของตัวเองเช่นกัน

------------
เวลา 18.00 น. กิจกรรมเริ่มต้นขึ้น โดยเป็นรูปแบบเวทีเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงหลักการและเหตุผลว่าทำไมถึงต้องให้ ส.ส.สนับสนุนนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี


โดยมี นักวิชาการ คืออาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ประจำสาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และอาจารย์อุเชนทร์ เชียงแสน อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมทั้งนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ โดยช่วงหนึ่งมีการพูดถึงช่วงเวลานี้ที่มองว่า เป็นโอกาสของประชาธิปไตย


จากนั้นทางตัวแทนของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้อ่านแถลงการณ์ ที่ขอให้ สมาชิกวุฒิสภาเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนในการลงมติเห็นชอบให้ผู้ที่ได้รับเสียงข้างมากจาก ประชาชนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า


สืบเนื่องจากวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ได้มีการจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผลปรากฏว่าพรรคก้าวไกล ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาเป็นลำดับที่ 1 โดยได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 152 ที่นั่ง และสามารถรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆ ในการจัดตั้งรัฐบาลรวมกันได้มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ


จึงหมายความว่าพรรคก้าวไกล มีสิทธิอันชอบธรรมโดยสมบูรณ์ในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ปรากฏว่า สมาชิกวุฒิสภาบางท่าน แสดงท่าที่ไม่เห็นด้วยในการเลือกนายกรัฐมนตรีอที่มาจากเจตจำนงและความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชน


ด้วยท่าที่ของสมาชิกวุฒิสภาบางท่าน ที่ปฏิเสธเจตจำนงของประชาชน นำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อสมาชิกวุฒิสภา ในการดำรงไว้ซึ่งหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ประชาชนไม่ว่าจะมีฐานะ หรือสถานภาพแตกต่างกันก็ ล้วนมีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากัน


ทั้งนี้ ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีของสมาชิกวุฒิสภา จึงขอให้ สมาชิกวุฒิสภา เคารพเจตจำนงของประชาชน โดยการลงคะแนนเสียงเห็นชอบ ให้ตัวแทนพรรคการเมืองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุด ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนให้พรรคการเมืองที่มาจากประชาชนในการจัดตั้งรัฐบาล


เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน เพื่อให้การกระทำที่สง่างา มและตามหลักการของประชาธิปไตยในครั้งนี้ ถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

------------
ช่วงหนึ่ง ระหว่างการอ่านแถลงการณ์ เกิดเหตุชุลมุนขึ้น โดยพบว่า เมื่อเวลา 18.50 น. ด้านหน้าอาคารรัฐสภา ถัดจากบริเวณที่มีการจัดเวทีเสวนา “ส.ว.ต้องไม่สวนมติประชาชน” มีกลุ่มทะลุวัง นำโดย นภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ 'สายน้ำ' นักเคลื่อนไหวทางการเมือง นำมวลชนบางส่วน พยายามเข้าไปริมประตูอาคารรัฐสภาเพื่อติดแผ่นป้ายไวนิลระบุข้อความด่าทอ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)  เช่น “ส.ว. หัว ค.ว.ย.”


แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของเวทีเสวนาได้เข้ามาห้ามปราม และขอให้ยุติการทำกิจกรรมดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่ที่ต้องการติดไวนิลเป็นพื้นที่นอกเหนือการขออนุญาตและการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ประจำรัฐสภา


นอกจากนี้ ยังถือเป็นการผิดวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรม ที่ต้องการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไม่ใช่การกดดันสร้างความรุนแรง ขณะเดียวกันทางกลุ่มดังกล่าวยังมีการนำรูปวาด พร้อมตะโกนข้อความยกเลิกมาตรา 112 ทำให้บริเวณที่จัดงานเกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากผู้ที่มาฟังเวทีเสวนาไม่เห็นด้วยกับการทำกิจกรรมของกลุ่มดังกล่าว


จากนั้น 19.00 น. จากกรณีที่ นักกิจกรรมกลุ่มกลุ่มทะลุวัง เข้ามาชูป้าย "คัดค้าน มาตรา 112" และ "ส.ว.หัว ค.ว.ย." ทำให้มีบุคคลรายหนึ่งที่มาร่วมกิจกรรมหลักบนเวทีในวันนี้ มีท่าทีไม่พอใจ เกิดการถกเถียงว่า การทำแบบนี้เป็นการกดดัน ส.ว.มากเกินไปหรือไม่ และหวั่นว่า บรรยากาศการชุมนุมครั้งนี้ อาจจะทำให้การตั้งรัฐบาลสะดุด และเกิดปัญหาในการโหวตพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมรัฐสภาซึ่งมี ส.ว.ร่วมโหวตด้วย ซึ่งมองว่าจะส่งผลเสียมากกว่าดี


จนเกิดการโต้ตอบกันอย่างดุเดือดระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย โดยฝ่ายที่เข้ามาชูป้าย ยืนยันที่จะทำกิจกรรมต่อไป โดยระบุว่า วันนี้เราตั้งใจมาไล่ ส.ว. และเราไม่ได้เป็นคนเลือก ส.ว.เข้ามา เพราะฉะนั้นการวิจารณ์ ส.ว.ในลักษณะนี้ เป็นสิทธิ สามารถทำได้


ช่วงนี้ พบว่า วรวรรณ แช่อั้ง หรือป้าเป้า และทีมผู้จัดงาน เข้ามาพูดคุยเจรจาให้เหตุการณ์สงบลง โดยป้าเป้าบอกว่า "เป็นพวกเดียวกัน แค่เห็นไม่เหมือน ก็อย่าเพิ่งทะเลาะกัน รอให้เขาตั้งรัฐบาลให้เสร็จก่อน"


จากนั้น ทีมข่าวได้คุยกับมวลชนหญิงรายนี้เพิ่มเติม โดยเจ้าตัวบอกว่าเป็นส้มแท้ ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการที่มาจัดกิจกรรมกดดัน ส.ว. และเชื่อว่ามี ส.ว.จำนวนไม่น้อย ที่พร้อมจะโหวตให้นายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะ สว.ทั้ง 250 คน ก็ไม่ได้เห็นชอบไปในแนวทางเดียวกันอยู่แล้ว ก่อนจะยกสุภาษิตที่ว่า “ยืนเฉยๆ ยังไงเขาก็รัก” เพราะ ส.ว.ที่ฟังเสียงประชนชนจริงๆ ก็มี


มวลชนหญิงรายนี้ กล่าวว่า ช่วงนี้ปล่อยให้นายพิธาทำไปก่อน เพราะเขามีทีมเจรจาอยู่แล้วและจากเหตุการณ์นี้ ตนเชื่อว่ามีผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว.และสร้างความเกลียดชังมากขึ้น และ การจัดกิจกรรมแบบนี้คุณอาจจะมองได้ว่าเป็นตัวแทนของก้าวไกล และจะมองว่าก้าวไกลไม่ดี พิธาไม่ดี อีกทั้งช่วงนี้เป็นช่วงลำบากสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นกังวล


ทั้งนี้ พบว่า ระหว่างนั้น มีทีมผู้จัดงานเข้ามาพูดคุยเจรจาให้เหตุการณ์สงบลง ขณะเดียวกันยังพบว่า มีมวลชนบางส่วนที่ เห็นเหตุการณ์ ได้เข้ามาคุยกับมวลชนหญิงรายนี้ ที่เชื่อว่าการจัดกิจกรรมเป็นการกดดัน ส.ว. แต่อีกฝ่ายเชื่อว่าควรส่งเสียง ถึง ส.ว. ก่อนจะพยายามเชิญมวลชนหญิงรายนี้ ซึ่งเห็นต่างมุม ออกนอกพื้นที่ โดยมี จนท.ตำรวจคุมเชิง และดูความปลอดภัยโดยรอบบริเวณที่ชุมนุม


นอกจากนี้ อีกด้านหนึ่งของงานปรากฏว่าน้องหยกเยาวชนอายุ 15 ปี ในคดี ม.112 หลังจากศาลปล่อยตัวออกมา พบว่าวานนี้ (23 พ.ค.66) น้องหยก โผล่รวมงาน พร้อมได้มาชูข้อความ ยกเลิก ม.112 อีกด้วย


จากนั้นเวลา 20.00 น. ทีมจัดงานของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้ประกาศยุติกิจกรรม หลังจากเสร็จสิ้นวงเสวนาส่งเพื่อส่งเสียงถึง ส.ว. ก่อนที่ผู้มาร่วมกิจกรรมจะทยอยเดินทางแยกย้ายกันกลับบ้าน

---------------

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/aFo-5I8D-mU

คุณอาจสนใจ

Related News