เลือกตั้งและการเมือง

เช็กรายชื่อ 3 กลุ่ม ส.ว.ท่าทีโหวตนายก 'จาตุรนต์ - ส.ว.ทรงเดช - พริษฐ์' เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง ส.ว.

โดย nattachat_c

18 พ.ค. 2566

973 views

วานนี้ (17 พ.ค. 66) เพจ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความ ระบุว่า 


“จาตุรนต์ ฉายแสง” แนะนักการเมืองต้องร่วมมือเพื่อหยุดรัฐบาลเสียงข้างน้อย เร่งปิดฉากรัฐบาลรักษาการเร็วที่สุด


จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก คาดการณ์ 2 ฉากทัศน์หาก สว. และ สส.จากรัฐบาลเดิมไม่หนุนพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ประเทศวิกฤติหนักกว่าเดิม วอนทุกฝ่ายเห็นแก่บ้านเมืองสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว โดยมีข้อความดังนี้


“ถึงเวลาพรรคการเมือง-นักการเมืองจะช่วยกันหาทางออกให้ประเทศแล้ว”


เมื่อพรรคการเมืองรวมเสียงได้เกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ปรกติก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องให้พรรคการเมืองอื่นๆลงมติสนับสนุนพรรคที่้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ยิ่งการเรียกร้องให้พรรคการเมืองที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลลงมติสนับสนุนการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็ยิ่งเป็นเรื่องแปลก


แต่ที่ต้องเรียกร้องกันอยู่ก็เพราะเราอยู่ในระบบที่ไม่ปรกติคือไม่เป็นประชาธิปไตย ที่ให้ สว.ร่วมลงมติเลือกนายกฯได้ด้วย


หลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว. 250 พร้อมใจกันเลือกพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้เพราะรัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาให้มีสว.ไว้ช่วยในการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์โดยเฉพาะ


มาคราวนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก พลเอกประยุทธ์มาเดินหาเสียงเหมือนนักการเมืองคนอื่นอย่างเต็มตัว และผลการเลือกตั้งออกมาก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯอีกแล้ว อีกทั้งคะแนนของพรรคร่วมรัฐบาลก็น้อยกว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างมาก สว.ทั้งหลายจึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ ที่จะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์อีกต่อไป


แต่ดูเหมือน สว.ส่วนใหญ่จะเลือกใช้วิธีการงดออกเสียงในการเลือกนายกฯซึ่งจะทำให้การเลือกนายกฯเกิดผลสำเร็จได้ยากเนื่องจากต้องการเสียง สส.มากถึง 376 คนขึ้นไป


ดังนั้น หากจะให้เกิดรัฐบาลใหม่ขึ้นได้จึงต้องอาศัยเสียงจากสส.มากกว่า 309 เสียงซึ่งหมายถึงต้องอาศัยเสียงสส.จากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมด้วย และหากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมไม่สนับสนุนการจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนอยู่ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสถานการณ์เป็น 2 แบบคือ


1. พรรคร่วมรัฐบาลเดิมย้อนกลับไปตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่อาศัยเสียง ส.ว. 250 คนให้การสนับสนุน ซึ่งจะเป็นรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรม ขัดต่อเจตจำนงของประชาชนและไม่มีเสถียรภาพอย่างยิ่ง บริหารประเทศไม่ได้และจะมีอายุสั้นมาก


2. ไม่มีใครจัดตั้งรัฐบาลได้และรัฐบาลรักษาการก็ทำหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆจนกว่าสว.จะหมดอำนาจในการเลือกนายกฯ รัฐบาลที่ไม่มีใครเชื่อถือที่จะดันทุรังกันต่อไปจะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้และยังจะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองเลวร้ายลงไปอีก


สถานการณ์ทั้งสองแบบนี้จะทำให้ประเทศไทยจมดิ่งลงไปในวิกฤตที่ร้ายแรงมากยิ่งขึ้น เกิดความเสียหายต่อทุกฝ่ายทุกคนในประเทศนี้


มีการพูดอยู่เสมอว่าถ้านักการเมืองพรรคการเมืองพร้อมใจกันไม่ร่วมมือกับเผด็จการบ้านเมืองคงดีกว่านี้ แต่นักการเมืองและพรรคการเมืองของไทยเราก็ไม่เคยรวมกันติด


มาคราวนี้ผู้ที่ทำรัฐประหารมาก็เสื่อมถอยลงไปมาก ถูกประชาชนตัดสินไปแล้วว่าประชาชนไทยไม่ต้องการให้พวกเขาอยู่ในอำนาจต่อไป เพียงแต่กฎกติกาที่พวกเขาสร้างไว้ยังเป็นอุปสรรคในการที่จะตั้งรัฐบาลให้เป็นไปตามฉันทามติของประชาชน


ในสถานการณ์เช่นนี้ เพื่อจะหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจาการตั้งรัฐบาลไม่ได้ จึงมีความจำเป็นที่นักการเมืองทั้งหลายจะช่วยกันหาทางออกให้แก่บ้านเมืองด้วยการสนับสนุนพรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ต่อไป


“เห็นแก่บ้านเมือง เห็นแก่ประชาชนเถอะครับ ตั้งรัฐบาลแล้ว ต่างฝ่ายต่างก็ทำหน้าที่กันต่อไป ถึงเวลาต้องแข่งขันกันอีก ก็ให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ให้ระบบที่เผด็จการวางไว้มาตัดสินและทำให้บ้านเมืองเสียหายย่อยยับอย่างที่ผ่านมา” อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าว

-------------

วานนี้ (17 พ.ค. 66) นายทรงเดช เสมอคำ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยทีมข่าวเรื่องเล่าเช้านี้ กรณีการโหวตนายกรัฐมนตรี ว่า


ได้มาคิดไตร่ตรองส่วนตัวแล้วว่า เราต้องเคารพสิทธิ เคารพเสียงส่วนมากของประชาชน ถึงแม้ว่าจะเป็นเสียงส่วนหนึ่ง หรือ 14 ล้านเสียงที่เห็นด้วย จึงตัดสินใจได้ว่าถ้าหากพรรคไหนสามารถรวมเสียงได้มากเกินครึ่งคือ 250 หรือ 251 เสียงขึ้นไป ตนก็พร้อมที่จะโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ อีกทั้งเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศไทย จึงเห็นด้วยที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีจากเสียงข้างมาก


นายทรงเดช ยังกล่าวว่า ประเทศเราเว้นว่างกันมานานแล้ว ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. 66 ที่ผ่านมา จากการหมดวาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) / ขณะเดียวกันมุมมองส่วนตัว ไม่รู้เหมือนกันว่าอีกประมาณ 6 จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ แต่คิดว่าน่าจะสามารถจัดตั้งได้


เมื่อถามว่าส่วนตัวของนายทรงเดช มองทิศทางการโหวตของเพื่อน ส.ว.ด้วยกันอย่างไร

นายทรงเดช ระบุว่า ในส่วนของเพื่อน ส.ว. ตนไม่ก้าวก่ายสิทธิ แต่ส่วนใหญ่เห็นด้วยเยอะ ประมาณ 10-20 คน แต่ยังไม่สามารถยืนยันตัวเลขกลมๆ ได้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่ขอให้นายพิธา หรือพรรคก้าวไกล ประสานมาด้วยความมีมิตรไมตรี ตามที่นายวิษณุ เครืองาม พูดไว้ ซึ่งตนมองว่าถ้าหากประสานมาด้วยความมีมิตรไมตรี พูดแบบการฑูต หรือพูดว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเราสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซี่งตนก็เป็นผู้ใหญ่ ย่อมสามารถคิดได้ว่าอันไหนมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ ซึ่งเราก็พร้อมจะทำ


เมื่อถามถึงกรณีที่มี ส.ว. บางคน ออกมาประกาศว่า จะปิดสวิตช์ตัวเองด้วยการงดออกเสียงนั้น

ส.ว.ทรงเดช มองว่า ตรงนี้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หากงดออกเสียงก็เปรียบเสมือนเกียร์ว่าง ไม่มีประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติเลย และตนมองว่าเราต้องตัดสินใจเลยว่าจะให้หรือไม่ให้ ต้องชั่งว่าอะไรมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะเรามาทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ซึ่งตนก็จะทำหน้าที่ไปจนถึงเดือน พ.ค. ปี 2567 นี้ ก็อยากให้ประเทศชาติที่ตนอยู่ ได้พัฒนาประเทศอย่างเต็มที่


ช่วงท้าย ส.ว.ทรงเดช ยังกล่าวว่า

ส่วนตัวมองว่า ท้ายที่สุดแล้ว การโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น จะสามารถโหวตผ่านได้ โดยไม่มีอะไรติดขัด และต้องอยู่กับการประสานงานแบบมีมิตรไมตรี แบบที่ตนกล่าวไปข้างต้นด้วย

-------------
วานนี้ (17 พ.ค. 66)  นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลำดับที่ 174 มีจดหมายเปิดผนึก กรณีท่าทีต่อผลการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป พ.ศ.2566 โดยระบุว่า


การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ลุล่วงไปด้วยดี โดยมีประชาชนทุกช่วงวัยไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนมากเป็นประวัติการณ์ นับเป็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นใจอย่างยิ่ง


ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ บ่งชี้ว่า พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้รับคะแนนนิยมมากที่สุด และมีผู้สมัครได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.มากที่สุดเป็นอันดับ 1


ตามครรลองแห่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ย่อมได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล และหัวหน้าพรรค หรือผู้มีรายชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ย่อมมีความเหมาะสมที่สุดที่จะได้รับการสนับสนุนให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี


ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่ง ที่เคยมีประสบการณ์ปฏิบัติงานสำคัญ รับใช้ชาติบ้านเมืองมาตลอดช่วงชีวิตของการรับราชการ เคยต้องขมขื่นกับความแตกแยกขัดแย้งในบ้านเมือง


ขอถือโอกาสนี้แสดงเจตนารมณ์ภายใต้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 สนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมือง ที่มีจำนวน ส.ส.มากที่สุด ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี


ทั้งนี้ เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งความสมานฉันท์ในบ้านเมือง และธำรงไว้ซึ่งหลักการตามระบอบประชาธิปไตย ตลอดจนสอดคล้องกับฉันทามติของมหาชนที่ไปใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.2566

-------------

วานนี้ (17 พ.ค. 66) น.ส.ภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ลำดับที่ 135 เป็นอีกคนที่ประกาศจุดยืนกรณีลงมติเลือกนายกฯในที่ประชุมรัฐสภา ตามรายชื่อที่พรรคการเมืองซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.มากที่สุด เสนอต่อที่ประชุม ที่ระบุว่า ภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เคารพมติของประชาชน ขอประกาศจุดยืนสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

-------------

เมื่อเวลา 14.53 น. วานนี้ (17 พ.ค. 66) นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่าน Facebook ระบุว่า


“จุดยืนไม่เปลี่ยน...


ขอทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าสิ่งที่โซเชียลเอาไปปะติดปะต่อ จับแพะชนแกะ เหมือนกับผมพูดให้ก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้านนั้น แล้วก็เอาคำพูดบางตอนมาตัดต่อขยายความกันไปสารพัด พูดมันส์ปากกันไปเรื่อยเปื่อย


ขอยืนยันว่า ไม่ใช่ความจริง เพราะกว่าจะมาถึงข้อความนั้นมันเป็นคำอธิบายว่า ถ้าโหวตแล้วพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล ก็เป็นไปตามที่เสียงส่วนใหญ่โหวตให้ แต่ถ้าโหวตแล้วไม่ผ่าน ไม่ได้เป็น ก็ต้องให้คนอื่นเขาจัดตั้งรัฐบาลต่อไป พรรคก้าวไกลก็ไปเป็นฝ่ายค้าน เป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญตามหลักการปกติ เป็นคำอธิบายในหลักการทั่วๆไป ไม่ได้ไล่ให้พรรคก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน ใส่สีตีไข่ไปกันใหญ่ แล้วการตัดต่อเสียงก็ไม่ได้ตัดมาให้ครบถ้วนมาตั้งแต่ต้น คนก็ไปฟังบางส่วนบางตอนเลยเข้าใจผิดกันไปใหญ่


โดยส่วนตัวของผมยืนยันว่า

1. ใครรวมเสียงส.ส.ได้ข้างมากก็โหวตให้คนนั้น

2. เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

3. เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง


จุดยืนนี้ไม่เปลี่ยนแปลงครับ... จบแล้ว... ต่อแต่นี้ขอนั่งสมาธิ สวดมนต์ภาวนาเพื่อความสงบร่มเย็น ณ วัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน... มากราบหลวงพ่อสัมฤทธิ์ประสิทธิโชคกันนะครับ สาธุ...


ส.ว.วันชัย สอนศิริ

17 พฤษภาคม 2566”

-------------

เบื้องต้นเท่าที่ทีมข่าวตรวจสอบจากที่ ส.ว.หลายท่านออกมาแสดงจุดยืน แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ


1.กลุ่มที่มีท่าทีจะโหวตตามเสียงข้างมาก ของ ส.ส. เบื้องต้นมี 11 คนแล้ว ได้แก่

  • วัลลภ ตังคณานุรักษ์
  • เฉลิมชัย เฟื่องคอน
  • ซากีย์ พิทักษ์คุมพล
  • รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล
  • ประมาณ สว่างญาติ
  • อำพล จินดาวัฒนะ
  • ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม
  • วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
  • ภัทรา วรามิตร
  • ทรงเดช เสมอคำ
  • วันชัย สอนศิริ


ในจำนวนมี 2 ท่าน ที่เพิ่งจะมาชัดเจนตอนหลัง คือ ครูหยุย วัลลภ ตังคณานุรักษ์ กับ คุณเฉลิมชัย เฟื่องคอน อย่างครูหยุย เดิมที ประกาศ ปิดสวิตซตัวเอง งดออกเสียง แต่เมื่อวันที่ 16 พ.ค. ที่ผ่านมา พูดใหม่ชัดๆ ว่า ถ้าใคร รวมเสียง ส.ส.ได้มากกว่า 250 เสียง หรือเกินครึ่ง สภา ส.ส. ตนเองพร้อมจะโหวตให้ทันที ไม่ว่าจะเป็น คุณพิธา หรือ พลเอกประยุทธ์ เพราะต้องเดินไปตามเสียง ข้างมากของ ส.ส.


2. กลุ่มที่จะงดออกเสียง ตอนนี้นับได้ 9 คน ได้แก่ผู้นำเหล่าทัพทั้งหมดที่เป็น ส.ว. ได้แก่

  • พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม
  • พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  • พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก
  • พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
  • พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ
  • พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ


นอกจากนี้ก็จะมี นายพรเพชร พิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ซึ่งก็น่าจะงดออกเสียงเหมือนเมื่อครั้งที่แล้ว /นายกิตติศักดิ์ /รัตนวราหะ และ นายจเด็จ อินสว่าง


3.กลุ่มที่ยังไม่บอก ชัดๆ ว่าจะโหวตอย่างไร บางท่านบอกขอดูหน้างานอีกครั้ง ตอนนี้ก็มี

  • พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์
  • พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช
  • เสรี สุวรรณภานนท์

-------------
วันที่ 16 พ.ค. 2566 เพจ พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu ได้โพสต์จดหมายเปิดผนึก ระบุข้อความว่า


ถึงสมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน


ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาในการรณรงค์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมยืนยันมาตลอดว่าในบรรดาเนื้อหาทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง มาร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นมาตราที่เป็นปฏิปักษ์ที่สุดต่อระบอบประชาธิปไตย


ผมเชื่อว่าท่านเข้าใจดี ว่าการวิจารณ์ในลักษณะนี้ ไม่ได้มาจากอคติส่วนบุคคล แต่มาจากการยึดหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน ในการมี 1 สิทธิ 1 เสียง เพื่อกำหนดอนาคตของประเทศผ่านคูหาเลือกตั้ง


ไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่เป็นประชาธิปไตย ที่ให้ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจในการมาร่วมเลือกนายกฯ และเปิดช่องให้ขัดเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านคูหาเลือกตั้ง


หากท่านจะอ้างว่าบางประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มี ส.ว. แต่งตั้ง (เช่น สหราชอาณาจักร) ก็พึงตระหนักไว้ ว่า ส.ว. ในประเทศเหล่านั้น มีอำนาจน้อยมาก (เช่น ชะลอร่างกฎหมาย) เพื่อให้อำนาจและที่มาสอดคล้องกัน


หากท่านจะอ้างว่าบางประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มี ส.ว. ที่มีอำนาจเยอะ (เช่น สหรัฐอเมริกา) ก็พึงตระหนักไว้ ว่า ส.ว. ในประเทศเหล่านั้น มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้อำนาจและที่มาสอดคล้องกัน


และหากท่านจะอ้างว่าการมี ส.ว. แต่งตั้งที่มีอำนาจเลือกนายกฯ มาจากการลงประชามติเมื่อปี 2559 ก็พึงตระหนักไว้ว่า ประชามติครั้งนั้นไม่ได้เป็นประชามติที่เสรีและเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล - หลายคนที่รณรงค์คัดค้านถูกจับกุมดำเนินคดี ในขณะที่คำถามพ่วงก็ถูกเขียนในลักษณะที่กำกวมและชี้นำโดยเจตนา


ดังนั้น ในเมื่อมาตรานี้ยังไม่ถูกยกเลิกไป วิธีการเดียวที่ท่านจะทำได้เพื่อเคารพหลักการขั้นพื้นฐานของประชาธิปไตย คือการสนับสนุน “นายกฯและรัฐบาล ที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร” (งดออกเสียงไม่พอ เพราะรัฐธรรมนูญเขียนว่านายกฯต้องได้รับการ “เห็นชอบ” เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา “ที่มีอยู่” (ไม่ใช่ “ที่ลงมติ”)) โดยไม่แสดงท่าทีหรือความเห็นเป็นอื่นใด ที่ไปกระทบต่อกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลและการตัดสินใจของพรรคการเมืองหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร


แต่ลึกๆ ผมก็เข้าใจว่าการอ้างอิงหลักประชาธิปไตยอย่างเดียว คงไม่สามารถโน้มน้าวทุกท่านได้ เพราะหากทุกท่านยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย ทุกท่านคนคงเห็นด้วยกับการยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ไปแล้วตอนที่ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในช่วง 2563-65 (รวมกันถึง 3 ครั้ง)


ดังนั้น ผมเลยขอยกอีก 5 เหตุผล ที่เพียงแต่ขอให้ท่านเพียงยึดคำพูดของตัวในอดีต


1. บางท่านเคยโหวตสนับสนุนการยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ ในรัฐสภา

เรามี ส.ว. ทั้งหมด 64 คนที่เคยสนับสนุนการยกเลิก มาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ (อย่างน้อย 1 ครั้ง จาก 3 ครั้งที่ถูกเสนอในรัฐสภาในช่วง 2563-65 - รายชื่อด้านล่าง) - แม้แต่ละท่านอาจมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แต่การลงมติของท่านแสดงให้เห็นว่าท่านเห็นตรงกันว่ามาตรา 272 มีปัญหาและไม่มีความจำเป็นต้องคงไว้อยู่


ดังนั้น ผมขอเรียกร้องไม่ให้ท่านเอามาตราที่ท่านเองก็เห็นว่าเป็นปัญหา มาขัดเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง


2. หลายท่านเคยบอกว่าไม่จำเป็นต้องยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ เพราะอำนาจนี้ตามมาตรา 272 “ไม่มีความหมาย” “ไม่มีน้ำยา” และ “ไม่มีราคา”

ส.ว. บางท่านเคยบอกว่า การมีอยู่หรือไม่ของอำนาจเลือกนายกฯ ของ ส.ว. ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะใครก็ตามที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้ารัฐบาลก็ต้องได้รับเสียงข้างมากจาก ส.ส. เสียก่อน โดยหาก ส.ว. เลือกคนที่ไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากได้ ก็ย่อมทำให้เกิดทางตันทางเมืองเพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะไม่สามารถผ่านกฎหมายใด ๆ ได้


ดังนั้น หากท่านยืนยันคำเดิมว่ามาตรานี้ไม่ได้มี “ราคา” อะไร ก็อย่านำอำนาจที่ท่านมีจากมาตรานี้ มาโก่งราคาเพื่อบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง


3. หลายท่านเคยอ้างว่าสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เป็น นายกฯ รอบที่แล้ว เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากของ ส.ส.

แม้ผมต้องยืนยันจุดยืนเดิม ว่าการมีอยู่ของอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ ส่งผลต่อการตัดสินใจของพรรคการเมืองและกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนั้น แต่ ส.ว. หลายท่าน (รวมถึง ส.ส. ซีกรัฐบาลเดิม) มักอ้างหลายครั้งว่าที่ ส.ว. โหวตให้ พล.อ. ประยุทธ์ ในการโหวตนายกฯเมื่อปี 2562 เป็นเพราะ พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง (250+) ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน


ดังนั้น หากท่านใช้ตรรกะเดิมที่ท่านเคยอ้างว่าท่านใช้ในการสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ เมื่อปี 2562 ท่านก็ควรต้องสนับสนุน นายกฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส. เกินกึ่งหนึ่ง (250+) ในการเลือกนายกฯในปี 2566 เช่นกัน


4. หลายท่านพูดเสมอถึงความสำคัญของการให้ประเทศได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เจอทางตัน

หากท่านต้องการให้ประเทศได้ “ไปต่อ” โดยไม่เจอทางตัน ผมไม่เห็นเหตุผลใดที่ท่านจะไม่สนับสนุนนายกฯและรัฐบาลที่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เพราะไม่ว่าท่านจะมีความคิดเห็นส่วนตัวอย่างไรกับนายกฯคนนั้น หรือพรรคที่อยู่ในรัฐบาลชุดนั้น แต่หากท่านไปสนับสนุน นายกฯ หรือ พรรคที่ไม่ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร นายกฯหรือรัฐบาลเสียงข้างน้อยชุดนั้น จะไม่สามารถบริหารประเทศให้ไปต่อได้ - กฎหมายจะไม่ผ่านสักฉบับ งบประมาณจะไม่ผ่านสักบาท และรัฐบาลก็จะล้มทันทีที่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ


ดังนั้น ในเมื่อท่านเองก็น่าจะเห็นเหมือนผมว่าการสนับสนุนนายกฯที่ได้รับการสนนับสนุนจากแค่เสียงข้างน้อยของ ส.ส. จะนำไปสู่ทางตัน ผมก็หวังว่าท่านจะไม่เลือกนำพาประเทศไปเจอทางตันนั้น


5. หลายท่านพูดเสมอถึงความสำคัญของ “การตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล”

หากท่านไม่ประกาศสนับสนุนหลักการว่าท่านจะโหวตให้นายกและรัฐบาลที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส. (เกิน 250 คน) แต่บีบให้เขาต้องรวบรวมเสียงให้ได้เกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา (เกิน 375 คน) ท่านกำลังกระทำสิ่งที่เสี่ยงจะบีบให้ฝ่ายค้าน (ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล มีความอ่อนแอลงหรือมีเสียงน้อยลง


แม้พรรคก้าวไกลเรายืนยันว่าเราจะไม่หลงกลนี้ และเราจะไม่ตัดสินใจดึงพรรคที่อุดมการณ์ไม่ตรงกับเราเข้ามาร่วมเป็นรัฐบาล (โดยยังคงหวังว่าพรรคที่แม้ไม่ได้ร่วมรัฐบาลกับเรา แต่เห็นถึงความวิปริตของอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ จะมาร่วมโหวตให้เราเป็นกรณีพิเศษ) แต่ผมเพียงอยากชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งของท่านระหว่างการโยนให้พรรครัฐบาลต้องรวบรวมเสียงได้เกิน 375 เสียง กับคำพูดของท่านว่าต้องการจะสร้างระบบรัฐสภาที่มีการตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาลอย่างเข้มข้นโดยฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง


6. หลายท่านพูดเสมอถึงความสำคัญของการไม่อยากเห็น “บ้านเมืองขัดแย้ง”

ผมขอยืนยันว่าแม้การมีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายเป็นเรื่องปกติของสังคมที่หลีกเลียงไม่ได้และไม่ควรต้องหลีกเลี่ยง แต่การบริหารจัดการความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ให้ทวีคูณไปเป็นความขัดแย้งที่ดีที่สุด คือการมีกระบวนการตัดสินใจที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย


ดังนั้น ในเมื่อการเลือกตั้ง คือกระบวนการตัดสินใจที่เป็นธรรมกับประชาชนทุกกลุ่มความคิด เพราะเป็นการให้ประชาชนทุกคนทุกความคิด มี 1 สิทธิ 1 เสียง เท่าเทียมกัน หากท่านใช้อำนาจของท่านในทางใดที่เสี่ยงจะฝืนเจตนารมณ์ของประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง ท่านเองจะเป็นคนที่นำบ้านเมืองไปสู่ความขัดแย้ง


ดังนั้น ผมขอเรียกร้องให้สมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน สนับสนุน “นายกฯและรัฐบาล ที่รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร”


มันเป็นสิทธิของท่านในระบอบประชาธิปไตย ที่จะไม่เชื่อว่า นายกและรัฐบาล นี้ เป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ที่สุดของประเทศ


แต่มันไม่ควรเป็นสิทธิของท่านในระบอบประชาธิปไตย ที่จะขัดขวางเจตนารมณ์ของประชาชน ที่แสดงออกมาชัดเจนผ่านคูหาเลือกตั้งถึงความต้องการอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง


สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง พัดโชยมาถึงแล้ว


และหากจะต่อยอดจากคำพูดของคุณ @หนุ่มเมืองจันท์ - ถึงเวลาที่ท่านต้องเลือก ว่าท่านจะเลือกเป็นอะไร


ระหว่าง “กังหันลม” ที่โอบรับและก้าวไปด้วยกันกับความเปลี่ยนแปลงที่สังคมปราถนา


กับ “กำแพง” ที่ฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลงที่สังคมต้องการไว้แค่เพียงชั่วคราว แต่ทิ้งรอยร้าวและซากปรักหักพังไว้ทั่วแผ่นดิน เมื่อวันที่สายลมมันแรงเกินกว่ากำแพงใดๆจะต้านทานไว้ได้


#สวต้องเคารพเสียงประชาชน

---------------

ภายในงานพฤษภารำลึก ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เย็นนี้ (17 พ.ค. 66) พรรคก้าวไกลจะเชิญ หัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาล มาพูดคุยกัน หากบรรลุข้อตกลงเบื้องต้น จะแถลงต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ส่วนสถานที่ในการพูดคุยขอไม่เปิดเผย เพราะอยากคุยอย่างเป็นกันเองก่อน โดยจะมีการพูดคุยถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ยังไม่ได้ลงรายละเอียด MOU เนื่องจากต้องใช้เวลา เป็นกระบวนการหลังจากนี้


ผู้สื่อข่าวถามว่าในฐานะที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะมีการตั้งเงื่อนไขอะไรหรือไม่ นายชัยธวัช กล่าวว่า วันนี้พูดถึงแนวทางเบื้องต้นไม่ได้ลงรายละเอียด เรื่องวาระหลักที่พรรคร่วมรัฐบาลจะผลักดันกันคงจะเป็นหลังจากนี้ ส่วนกระแสสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่อาจจะไม่โหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า ส.ว.หลายท่านมีวุฒิภาวะคงไม่อยากเห็นทางตันทางการเมือง


หากมีโอกาสจะประสานงานพูดคุยกับ ส.ว.ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อทำความเข้าใจ และคลายความกังวลในส่วนที่มีมายาคติต่อพรรคก้าวไกล ทั้งนี้ไม่ได้กังวลที่จะไปพูดคุยกับ ส.ว. เนื่องจากการพูดคุย เปิดใจคุยกันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

---------------

วานนี้ (17 พ.ค. 66) นายรังสิมันต์ โรม ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า


“…การโหวตเลือกคุณพิธาเป็นนายกฯ ผมเข้าใจว่ามีความไม่ชอบกันอยู่ ไม่ชอบนโยบาย ไม่ชอบอะไร แต่อันนี้คือการปลดล็อคกฎหมาย เพื่อให้ความต้องการของประชาชนที่มากที่สุดได้รับการตอบสนอง อย่าสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้สุดท้าย ประเทศเกิดคำถามว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่ฟังเสียงประชาชน…”
---------------



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/Al9LKGwjA6w

คุณอาจสนใจ

Related News