เลือกตั้งและการเมือง

กกต.แจงปม 'พิธา' ถือหุ้นไอทีวี ยื่นศาลหลังเลือกตั้งได้ - ‘ปิยบุตร’ สงสัยทำไมไม่ร้องตั้งแต่ปี 62

โดย nattachat_c

12 พ.ค. 2566

960 views

วานนี้ (11 พ.ค. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นเอกสารเพิ่มเติมต่อ กกต. ในกรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล


นายเรืองไกร กล่าวว่า วันนี้ตนได้นำข้อบังคับของพรรคก้าวไกลมายื่นเพิ่มเติม และจับประเด็นว่านายพิธาจะพ้นจากสมาชิก และหัวหน้าพรรคหรือไม่ เพราะข้อบังคับพรรคก้าวไกลมีการแก้ไขลงในราชกิจจานุเบกษา ปี 2563 ซึ่งข้อบังคับพรรคในข้อ 12,21,37


ซึ่งในข้อ 12 ระบุว่า สมาชิกต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ดังนั้น เมื่อระบุเช่นนี้ มาตรา 98 (3) ก็จะทำให้พ้นสมาชิกหรือไม่ และกรรมการบริหารพรรค รวมทั้งหัวหน้าพรรค ก็จะต้องขาดจากความเป็นหัวหน้าพรรคโดยสิ้นสุดเฉพาะตัว รวมถึงคณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ตามข้อบังคับพรรคก้าวไกลข้อที่ 36


นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า ตนได้ตั้งข้อสังเกตให้ กกต. ตรวจสอบในกรณีที่ถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เข้าข่ายว่า จะมีลักษณะต้องห้ามเป็น ส.ส. รวมถึงเป็นสมาชิกพรรค และหัวหน้าพรรคไม่ได้ ซึ่งผลที่ตามมาในการสมัครเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3-7 เม.ย. ที่ผ่านมา นายพิธาได้เซ็นรับรองการสมัครส.ส. เกือบ 400 เขต และส.ส. บัญชีรายชื่อ ดังนั้น จึงขอให้ กกต.ตรวจสอบเพิ่มเติมว่า การยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครส.ส. ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ขอให้ กกต.ดำเนินกฎหมายต่อไป


เมื่อถามว่า ถ้านายพิธามีความผิดจริง และได้ไปเซ็นรับรองการสมัครส.ส. ของพรรค ถ้าเป็นเช่นนี้ การสมัครนั้นจะเป็นโมฆะใช่หรือไม่

นายเรืองไกร กล่าวว่า ก็ให้ กกต.ตรวจสอบว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องถอดสมการว่าการเป็นหัวหน้าพรรคพ้นไปหรือยัง เพราะในข้อบังคับเป็นหน้าที่ของนายทะเบียน แล้วนายพิธาก็ให้สัมภาษณ์ด้วยว่าเรื่องนี้รู้มาตั้งนานแล้ว ซึ่งเรื่องนี้พรรคเคยมาปรึกษาตน แต่ไม่ได้ยกประเด็นนี้มาปรึกษา แต่ถึงอย่างไ รตนก็ได้ให้ความรู้เรื่องกฎหมายไป ตนไม่ได้เลือกที่รักมักที่ชัง

-------------

วานนี้ (11 พ.ค. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. กล่าวถึงกรณี มีการร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้นสื่อ บมจ.ไอทีวี ว่า


ตนยังไม่เห็นคำร้อง ซึ่งเรื่องนี้เป็นการร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติ มีขั้นตอนตามกฎหมาย มีอยู่ 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ช่วงหลังวันเลือกตั้ง และช่วงประกาศผลการเลือกตั้ง


โดยก่อนการเลือกตั้ง ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยกรเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 61 ถ้า กกต.ตรวจสอบแล้ว เห็นว่าไม่มีคุณสมบัติ ให้ยื่นต่อศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาเพียง 2 วัน แต่หากดำเนินการไม่ทัน หลังการเลือกตั้ง ก่อนการประกาศผล


ถ้าเห็นว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้ามในการลงรับสมัครรับเลือกตั้ง กกต.ก็จะมีมติให้ดำเนินคดีอาญามาตรา 151 ฐานรู้อยู่แล้วว่า มิมีคุณสมบัติในการสมัครแต่ก็ยังลงสมัคร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะไม่เป็นเหตุให้นำไปสู่การไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง ดังนั้น ก็ต้องประกาศผลให้เป็น ส.ส.ไปก่อน จากนั้นจะเป็นการดำเนินการหลังการประกาศผล มีรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งได้กำหนดช่องทางในการดำเนินการไว้ ทั้งให้ ส.ส.หรือ ส.ว. เข้าชื่อ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต.เป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้


เมื่อถามว่า ทำไม กกต.ไม่ยื่นให้ศาลฎีกาพิจารณาดำเนินการก่อนการเลือกตั้ง เพราะถ้ายื่นหลังการเลือกตั้ง จะมีผลกระทบมากกว่า


นายแสวง กล่าวว่า ทุกอย่างมีกระบวนการที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เมื่อมีเรื่องร้องเรียน สำนักงานก็จะมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหา ก่อนนำเสนอให้ กกต.พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา


อย่างเช่น เมื่อวานนี้ (11 พ.ค. 66) หน่วยงานที่ กกต.ได้ขอความร่วมมือในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพิ่งส่งข้อมูลล่าสุดมาให้ พบว่า มีผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ คนหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย


แต่ กกต.เห็นว่าจำเป็นต้องให้ความเป็นธรรม และได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติก่อน จึงให้สำนักงานไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า คำสั่งล้มละลายยังมีผลอยู่หรือไม่ และผู้ถูกกล่าวได้ได้มีการดำเนินการในเรื่องของการต่อสู้อย่างไรหรือไม่ จากนั้น กรรมการค่อยมาพิจารณาเรื่องกรยื่นต่อศาล ดังนั้น จึงต้องแยกเรื่องกระบวนการให้ความเป็นธรรม กับผลกระทบออกจากกัน

------------

วานนี้ (11 พ.ค. 66) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้สัมภาษณ์ภายหลังปราศรัยจังหวัดปทุมธานี กรณีที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐร้อง กกต.ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ถือหุ้นสื่อ


นายธนาธร กล่าวว่า กรณีนี้คล้ายๆ กันกับของตน เมื่อปี 2562 เมื่อพรรคก้าวไกลมีความนิยมจากประชาชน ก็มีการกันแกล้งกัน มีการเตะสกัดขา วัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ เอามาไว้ใช้เพื่อสกัดไม่ให้นักการเมืองมีสื่ อหรือใช้สื่อหาเสียงให้ตัวเองจนเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม


ตนมองว่า ระเบียบข้อนี้มันล้าสมัยไปแล้ว เพราะวันนี้ทุกคนเป็นสื่อด้วยกันหมด ทุกคนเป็นนักประชาสัมพันธ์ และทุกคนเป็นตัวละคร รวมถึงเป็นผู้เสพสื่อในคนคนเดียวกัน ตอนนี้อยากทำข้อความสื่อสารอะไรกับประชาชนก็สามารถสื่อสารได้โดยตรงโดย ไม่ต้องผ่านสื่อในรูปแบบเดิมๆ กรณีของนายพิธา ชัดเจนว่าไอทีวีหยุดปฏิบัติการไปนานแล้ว ไม่สามารถนำมาให้คุณให้โทษทางการเมืองได้


เมื่อถามว่า หลายคนมองว่าเป็นความประมาทของนายพิธา ที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงใกล้จะเลือกตั้ง

นายธนาธร กล่าวว่า หากมองในมุมนายพิธา ก็แจ้งกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่สมัยเป็น ส.ส. ตอนนั้นก็ไม่มีข้อร้องเรียน ต้องเข้าใจว่าพอมีกระแส ก็มีคนอยากทำลาย มองว่ารัดกุมแค่ไหนก็ถูกทำลายอยู่ดี หากเค้าจะเล่นงาน ตนคิดว่าเป็นเกมในการทำลายกันมากกว่า


“ต้องบอกว่าถ้าเขาจะเล่นงานหาช่องผิดได้หมดทุกช่อง ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม กฎหมายที่เขียนมาแต่ละอย่างโดยเฉพาะกฎของ กกต. ถ้าจะเอาให้หยุดพรรคกันจริง ก็สามารถทำได้ทุกพรรค”


"ต่อให้โดนตัดสิทธิ นายพิธาก็ยังเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่ได้กังวลอะไร ก็เราผ่านอะไรมาเยอะ และหนักแน่นพอที่จะเดินฝ่าเรื่องนี้ไปด้วยกัน"


“การฟ้องแต่ละครั้งประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เป็นการฟ้องเพื่อเรียกราคา หรือเป็นการเรียกร้องความสนใจกับประชาชน หรืออะไรก็ว่ากันไป แต่ผมว่าหลายครั้งไม่เกิดประโยชน์ และเป็นภาระสังคม เจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ เจ้าหน้าที่ศาล เขาทำงานเยอะอยู่แล้ว ไปเพิ่มคดีให้เขาไม่มีใครได้ประโยชน์ ถ้าเจ้าหน้าที่ยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม ผมเชื่อว่าคดีแบบนี้ถูกปัดตกไปตั้งแต่แรก”

------------

ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุุล กล่าวว่า


ตนไม่ทราบในรายละเอียด แต่ในฐานะผู้ที่มองเข้าไป ตนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมก่อนหน้านี้เข้าไม่ร้องในเมื่อนายพิธา ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2562 แล้ว ทำไมถึงต้องมาร้องในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นวัฏจักรการเมืองในรอบ 20 ปี ที่ใช้มาโดยตลอด ทำไมไม่แข่งขันการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมา พรรคไหนชนะก็ได้ดำรงตำแหน่ง ทำไมต้องมีกระบวนการเตะตัดขาทุกครั้ง กลายเป็นว่าประชาชนเลือกแล้วยังต้องลุ้นอีก ว่าจะได้เป็นหรือไม่ได้เป็น ตนคิดว่าเป็นกลไกที่ผิดปกติมากที่เรื้อรังมาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549


การใช้นิติสงครามมุ่งทำลายกันในทางการเมือง เห็นว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยโดนเรื่องนี้ทั้งคู่ และเป็นกรณีคล้ายกัน ทั้งกรณีเด็ดหัวแคนดิเดตนายกฯ และกรณีที่จะนำไปสู่การยุบพรรค ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เมื่อมีผู้มีอำนาจรู้ตัวว่าตนเองจะเสียอำนาจ รู้ว่าเมื่อถึงเวลากลับมาเลือกตั้งพวกคุณจะแพ้ และแพ้อย่างถล่มทลาย ก็มาใช้วิธีแบบนี้อีกแล้ว


“…ทำไมไม่เรียนรู้ประสบการณ์จากอดีต และทำความเข้าใจได้เสียทีว่า เวลากลับมาเลือกตั้ง ประชาชนเขาเป็นเสียงสวรรค์ เขายืนยันว่าจะให้ข้างนี้เป็นรัฐบาล และก็ต้องทำใจได้แล้ว เตรียมลงจากอำนาจได้แล้ว ไม่ใช่หาทางในการยื้อต่อ เราจะปล่อยให้การเมืองไทยวนเวียนอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผมว่าไม่ได้แล้วหล่ะ ดังนั้น จะคิดอ่านอะไร จะเล่นพิเรนทร์อะไร อยากชวนให้มาฟังเสียงประชาชน มาเดินหาเสียงกับผมดูว่าประชาชนเขาคิดอะไร ฝากสั้นๆคำเดียวว่า Do you hear the people sing ได้ยินเสียงกร่นร้องของประชาชนไหม เวลาของพวกคุณจะหมดแล้ว คุณปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเถอะ…”

------------


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/e_sv9vVtGvk

คุณอาจสนใจ

Related News