เลือกตั้งและการเมือง

'วิษณุ' เผย ยุบสภาใกล้ครบวาระ ไม่ขัดกฎหมาย ยันไม่มีแจ้งในที่ประชุม ครม.

โดย weerawit_c

9 มี.ค. 2566

44 views

วานนี้ (8 มี.ค.) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กระแสข่าวอาจมีการยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคมนี้ ซึ่งใกล้กับวันครบวาระของรัฐบาลในวันที่ 23 มีนาคมนี้ จะมีปัญหาตามมาหรือไม่ ว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหา เพราะในข้อกฎหมายสามารถทำได้ แม้จะเหลือแค่ 1 วัน ก่อนครบวาระก็สามารถทำได้ เหมือนกรณีรัฐบาลนายชวน หลีกภัย 2 ก็ยุบสภาแม้จะใกล้เลือกตั้งแล้ว และไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เมื่อเลือกใช้วิธียุบสภา คือการให้ความสะดวกแก่ทุกฝ่าย ไม่มีใครเดือดร้อนหรือเสียหายจากเรื่องนี้ และหลังจากที่มีการประกาศยุบสภาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ถึงจะมีการประกาศจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้ง ภายใน 5 วัน


ส่วนการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา ยืนยันว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ได้มีการแจ้งวันที่ชัดเจน ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบถึงวันยุบสภา แต่นายกรัฐมนตรีอาจจะเรียกพรรคร่วมรัฐบาลเข้าไปพูดคุยส่วนตัว ซึ่งตนเองไม่ทราบ


แต่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้ และขอย้ำว่า รัฐบาลยังต้องประชุมคณะรัฐมนตรีแม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการก็ตาม เพราะเมื่อยุบสภาแล้ว ยังประชุมคณะรัฐมนตรีได้ จนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่ ดังนั้น ไม่ใช่ว่าการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 14 มีนาคมจะเป็นครั้งสุดท้าย หรือเมื่อยุบสภาแล้ว จะไม่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอีก


ซึ่งรัฐบาลรักษาการ อาจมีวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีน้อยลง และยังสามารถแต่งตั้งข้าราชการ กรรมการรัฐวิสาหกิจ ก็ยังสามารถทำได้ และ อนุมัติโครงการบางอย่างก็สามารถทำได้ แต่บางอย่างไม่สามารถทำได้ ก็ต้องสอบถามไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)


ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ เพิ่มค่าป่วยการให้กับ อสม. และ อสส. จาก 1,000 บาท ต่อคนต่อเดือน เป็น 2,000 บาท ต่อคนต่อเดือนนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้สามารถทำได้ เพราะเป็นการใช้งบประมาณปี 2567 เมื่ออนุมัติหลักการและไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร เมื่อถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2566 ก็จะเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ แต่ถ้าก่อน 1 ตุลาคม มีรัฐบาลใหม่เข้ามาแล้ว ยกเลิกคำสั่งนี้ ก็จะดำเนินการไม่ได้


ซึ่งเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการให้คำมั่นสัญญาของรัฐบาล แต่เป็นการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะวันนี้ยังไม่มีการยุบสภา รัฐบาลมีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่การให้คำมั่นสัญญาแลกกับการให้คะแนนเสียง ซึ่งเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าฝ่ายรัฐบาลอาจจะได้เปรียบ


“คือคนเป็นรัฐบาลย่อมได้เปรียบตรงนี้ ที่ทำอะไรได้บางอย่างได้แนบเนียนกว่า คนที่ไม่ได้เป็นรัฐบาล ไม่งั้นรัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้เลยสิ ซึ่งมันก็ไม่ใช่ เช่นเดินทางไปต่างจังหวัด ไปไหนในราชการ แม้จะได้ประโยชน์จากคะแนนเสียง ก็เป็นรัฐบาล ก็ได้ประโยชน์ตรงนี้ตามมา อันนี้เป็นของแน่”


ส่วนใกล้ยุบสภาจะต้องมีการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้งอีกครั้งหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า หลังการยุบสภาก่อนถึงจะมีการหารือ


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/QsQou3w82gM

คุณอาจสนใจ

Related News