เลือกตั้งและการเมือง

มติ ครม.ชิงปลดล็อก 'สุราพื้นบ้าน' ตัดหน้า ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มีผลบังคับใช้ 2 พ.ย.65

โดย petchpawee_k

2 พ.ย. 2565

24 views

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน  เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 153 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยกฎกระทรวงนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือมีผลตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

ประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎกระทรวงว่าด้วยการอนุญาตผลิตสุรา เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุรา

รวมทั้งปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตผลิตสุราทั้งการผลิตสุราที่มิใช่เพื่อการค้าและการผลิตสุราเพื่อการค้าให้เกิดความชัดเจน อันจะทำให้การบริหารการจัดเก็บภาษี และการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานการผลิตสุราเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

สำหรับกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 นั้น ในการประชุมครม. เช้าวันนี้ เพิ่งเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงการอนุญาตผลิตสุรา พ.ศ. 2560

กฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. 2565 มีสาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

1. เปิดโอกาสให้สุราชุมชนขนาดเล็ก จากที่ต้องใช้เครื่องจักรในการผลิตต่ำกว่า 5 แรงม้า และใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน ให้สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลาง ที่ใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และสามารถใช้คนงานมากกว่า 7 คนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50 คน

แต่ทั้งนี้ ผู้ผลิตสุราชุมชนที่จะขยายกำลังการผลิตจากระดับเล็กเป็นระดับกลาง จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ หรือสุรากลั่นชุมชนขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต หรือเคยกระทำความผิดและพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี

นอกจากนี้ ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

2. ยกเลิกการกำหนดกำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียนสำหรับทั้งกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) และโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมนั้น ในกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปีและไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี

กรณีโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี สำหรับทุนจดทะเบียนนั้น ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ กรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง


3. เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาที่มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และนิติบุคคลสามารถขอใบอนุญาตผลิตสุราที่มิใช่เพื่อขาย แลกเปลี่ยน หรือดำเนินการอื่นใดโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน และต้องมีปริมาณการผลิตสุราไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี


อย่างไรก็ดี สถานที่ผลิตสุราต้องมีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น และมิใช่สถานที่ผลิตสุราของผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรารายอื่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการบริโภคสุราและมิติของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ


ด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การปลดล็อกสุราจะเป็นการช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เปิดโอกาสธุรกิจให้เติบโตสามารถขยายกิจการได้ รวมถึงเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการนำสินค้าเกษตรมาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตยังคงให้ความสำคัญและคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย สาธารณสุข สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีกรอบการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและผลกระทบตามมา”


ด้านนายนายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิตในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า การปรับปรุงแก้ไขใบอนุญาตดังกล่าวนั้น เราแบ่งอนุญาตเป็น 2 ประเภท คือ ใบอนุญาตผลิตสุราแช่ และ ใบอนุญาตผลิตสุรากลั่นชุมชน ทั้งนี้ กรณีสุราแช่ เดิมคุณสมบัติในการผลิตเบียร์ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท หรือ มีกำลังผลิต 1 แสน – 1 ล้านลิตร ต่อปี ซึ่งจะมีการยกเลิกทั้งหมด


หมายความว่า เบียร์โรงเล็กไม่จำเป็นต้องมีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท รวมถึงไม่จำเป็นต้องมีกำลังการผลิตขั้นต่ำ ในขณะเดียวกัน ในตัวสินค้า หรือ เครื่องมือการผลิต จะต้องเป็นไปตามระเบียบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม และกรมควบคุมมลพิษ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“จะเป็นการปลดล็อกกรณีที่เป็นการค้า และโรงใหญ่ก็จะได้รับสิทธิเช่นกันคือ ปลดล็อกเรื่องทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิต” นายณัฐกร กล่าว


นายณัฐกร กล่าวว่า ส่วนในกรณีที่ไม่ใช่การค้า ทำเอง บริโภคเอง สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ 1.ต้องขออนุญาตจากกรมสรรพสามิตร 2.กำลังการผลิตต้องไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี 3.ต้องเป็นคนที่บรรลุนิติภาวะ ไม่น้อยกว่า 20 ปี บริบูรณ์ 4.เบียร์ สุราแช่อื่นๆ เวลาผลิตแล้วต้องนำให้กรมสรรพสามิตรตรวจสอบคุณภาพ เพื่อไม่ให้มีเรื่องสารปนเปื้อนที่เป็นสารต้องห้ามตามหลักสากล


ส่วนสุรากลั่นชุมชน ที่กำหนดกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แรงม้า และกำลังคน 7 คน วันนี้เราจะขยายให้สำหรับโรงขนาดกลาง มีกำลังการผลิตไม่เกิน 50 แรงม้า และกำลังคนไม่เกิน 50 คน จะเป็นตัวช่วยให้สุรากลั่นชุมชนขยายตัวได้ เนื่องจาก เมื่อกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตก็จะถูกลง จะส่งผลให้คุณภาพของสุราดีขึ้น ต่อไปจะเปิดให้มีสุรากลั่นชุมชน S M L ได้อย่างเต็มรูปแบบ

อย่างไรก็ตาม ทำบริโภคภายในบ้านได้ แต่ไม่สามารถนำไปขาย หรือไปแจกเพื่อนบ้านได้ เพราะถ้านำไปแลกเปลี่ยนก็ถือว่าเป็นการค้าประเภทหนึ่ง ทั้งนี้ ขั้นตอนการขออนุญาต สามารถไปขอที่สรรพสามิตรพื้นที่ และนำใบอนุญาตมากรอกว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/S-bbIvK37Bw

คุณอาจสนใจ

Related News