สังคม

ราชกิจจาฯ ประกาศห้ามครอบครอง 'ปลาหมอคางดำ' พร้อมเปิดข้อกำหนดวีธีขนย้าย

โดย panwilai_c

17 ส.ค. 2567

93 views

ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ห้ามครอบครองปลาหมอคางดำ ทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต นอกพื้นที่การแพร่ระบาดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด มีผลบังคับแล้วหลังจากลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวานนี้



เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง พ.ศ.2567 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันอันตรายมิให้เกิดแก่สัตว์น้ำและระบบนิเวศ จึงสมควรกำหนดชนิดสัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมีไว้ในครอบครอง อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 65 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้



ข้อ 1 ห้ามมิให้บุคคลใด มีไว้ในครอบครองปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำ (Sarotherodon melanotheron) มีชีวิตและที่ไม่มีชีวิต นอกพื้นที่การแพร่ระบาดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด



ยกเว้น กรณีมีการครอบครองโดยการเคลื่อนย้ายปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต ซึ่งมีลักษณะ ดังนี้ การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแช่เย็นด้วยน้ำแข็ง ซึ่งมีภาชนะบรรจุมิดชิด การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแช่แข็ง / การเคลื่อนย้ายในลักษณะที่มีการแปรรูปเบื้องต้นแล้ว เช่น การตัดหัว ควักไส้ แล่เป็นชิ้น หมักเกลือ เป็นต้น



กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอสีคางตำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิตเพื่อนำไปแปรรูป เป็นปลาป่น ต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้ง และอยู่ในภาชนะบรรจุมิดชิด

กรณีการเคลื่อนย้ายปลาหมอสีคางดำหรือปลาหมอคางดำที่ไม่มีชีวิต เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบตามโครงการของรัฐ เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ เป็นต้น ต้องเคลื่อนย้ายแบบแห้ง และอยู่ในภาชนะบรรจุมิดชิด / การเคลื่อนย้ายที่ไม่มีชีวิตที่กระทำโดยทางราชการเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดและกำจัดออกจากที่จับสัตว์น้ำ



ทั้งนี้ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาษาเป็นต้นไป ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2567 ลงชื่อโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์



นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษายังเผยแพร่ประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่การแพร่ระบาดปลาหมอสีคางดำ พ.ศ.2567 ตามความในข้อ 1 ของประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับพื้นที่แพร่ระบาดปลาหมอคางดำ 19 จังหวัด



ส่วนฐานความผิดของผู้ฝ่าฝืนประกาศดังกล่าวข้างต้น จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้กระทำผิดแล้วนำสัตว์น้ำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำมีโทษจำคุกไม่เกิน2ปีหรือปรับไม่เกิน2ล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

คุณอาจสนใจ

Related News