เลือกตั้งและการเมือง

นายกฯ ขอบคุณทุกคนเตรียมงานประชุมเอเปค ให้ราบรื่น-สมเกียรติไทยเป็นเจ้าภาพ

โดย kanyapak_w

8 ส.ค. 2565

44 views

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเตรียมการจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ในช่วงที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค



โดยนายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกหน่วยงานในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มรับหน้าที่ ทุกคนได้ร่วมมือกัน และเตรียมการสนับสนุนการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกรอบการประชุมเอเปคด้วยความเรียบร้อย ราบรื่น สมเกียรติ กับการเป็นเจ้าภาพของไทยในปีนี้ และวันนี้จะติดตามความคืบหน้าในการพิจารณาและตัดสินใจร่วมกัน เพื่อเตรียมการประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปคที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือนแล้ว


ด้านนางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินของรัฐ 6 แห่ง ประกอบด้วย 1.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 2.ธนาคารออมสิน 3.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) 5.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และ 6.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ที่ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลให้ความช่วยเหลือประชาชน และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านมาตรการต่างๆ



ตัวเลขจากสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รายงานว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 สถาบันการเงินของรัฐ ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการรวม 6.8 ล้านราย คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายละเอียดตามโครงการความช่วยเหลือ ดังนี้



1. โครงการสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ มีจำนวนสินเชื่อที่ได้รับอนุมัติแล้ว 44,466 ล้านบาท 17,147 ราย เฉลี่ยอนุมัติสินเชื่อต่อรายอยู่ที่ 2.59 ล้านบาท

2. โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายจากการกู้ยืมเงิน และให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจเมื่อมีศักยภาพในอนาคต โดยมียอดภาระหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือรวม 3,441 ล้านบาท 53 บัญชี

3. โครงการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ จำนวน 958,025 ล้านบาท 2,250,854 บัญชี

4. โครงการให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง มีการอนุมัติสินเชื่อแล้ว 346,656 ล้านบาท 4,590,483 ราย แบ่งเป็น สินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจ 280,805 ล้านบาท 89,334 ราย และสินเชื่อสำหรับรายย่อย 65,851 ล้านบาท 4,501,149 ราย  

5. โครงการความช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่านทางด่วนแก้หนี้ จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 29,101 ราย  สามารถให้ความช่วยเหลือแก้ไขหนี้ได้สำเร็จถึง 81.84%



ทั้งนี้ ทางสมาคมฯให้ความเชื่อมั่นว่า แนวทางการดำเนินงานของสถาบันการเงินของรัฐ ในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ยังคงเป็นไปตามแนวทางที่รัฐบาลให้ไว้คือ การลดภาระทางด้านการเงิน เพิ่มสภาพคล่อง และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับประชาชน ผู้ประกอบการ และภาคธุรกิจ อีกทั้งพร้อมพิจารณาตรึงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำให้นานที่สุด หรือหากมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นตามคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อบริหารต้นทุนการดำเนินงาน ก็จะปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ให้น้อยที่สุดเพื่อลดผลกระทบภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้า ประชาชน และผู้ประกอบการ



“นายกรัฐมนตรี พึงพอใจที่ได้เห็นธนาคารของรัฐ มีบทบาทสำคัญในการเป็นที่พึ่งทางการเงิน ช่วยประคับประคองสภาพคล่องของประชาชนและภาคเอกชน ในยามที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบจากโควิด19 อย่างไรก็ตาม นายกฯยังได้ฝากธนาคารฯพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการที่ยังคงได้รับผลกระทบทางรายได้ หรือธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เพื่อให้ก้าวผ่านสถานการณ์ตรงนี้ และกลับมามีความเข้มแข็งทางการเงิน สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามปกติ” นางสาวรัชดา กล่าว

คุณอาจสนใจ

Related News