เลือกตั้งและการเมือง
'ชัชชาติ' ร่วมโต๊ะ พนง.ทำความสะอาด - ลุยจตุจักร ชาวบ้านแจ้งมีคนมาเก็บ 'ค่าวิน' นอกรอบ
โดย nattachat_c
4 ก.ค. 2565
14 views
วานนี้ (3 ก.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตามนโยบายผู้ว่าฯ สัญจร ที่เขตจตุจักร โดยได้ประชุมหารือกันถึงเรื่องการบริหารจัดการและปัญหาในการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต จุดอ่อนน้ำท่วมขัง จุดเสี่ยงภัยและอันตราย หลังจากเกิดเหตุการณ์จี้ชิงทรัพย์เด็กนักเรียนโรงเรียนหอวังเกิดขึ้น และจุดผู้ค้าหาบเร่-แผงลอยรวมถึงจุดก่อสร้างขนาดใหญ่ ในพื้นที่เขตจตุจักรที่มีทั้งหมด 7 จุด อีกทั้งยังหารือถึงจุดชุมนุมสาธารณะ, การจัดเก็บภาษี, ข้อมูลขยะในพื้นที่
จากนั้นนายชัชชาติ พร้อมด้วยนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ ได้เชิญพนักงานฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ เขตจตุจักร รวม 5 คน ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารเที่ยง มีดังนี้
- นายฉัตรชัย แสงน้ำรัก พนักงานทั่วไป (ระบายน้ำ)
- นายก้าน ภิกษุณี พนักงานประจำรถ (สูบสิ่งปฏิกูล)
- นายศักดิ์เจริญ แย้มบู่ พนักงานทั่วไป (เก็บขยะมูลฝอย)
- นางสาวพนม เทพประสิทธ์ พนักงานสวนสาธารณะ บ 2
- นางสาวกัลชนา เนตรวิจิตร ลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งพนักงานทั่วไป (กวาด)
สำหรับพนักงานทั้ง 5 คน เป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียร ตั้งใจปฏิบัติงานและมีจิตสาธารณะ หนึ่งในนั้นคือนางสาวกัลชนา เนตรวิจิตร เป็นผู้เห็นเหตุการณ์และติดตามผู้กระทำผิดกรณีจี้ชิงทรัพย์เด็กนักเรียนโรงเรียนหอวัง พร้อมตรวจดูสภาพความปลอดภัยถนนหน้าโรงเรียนหอวัง เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา จนสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้
สำหรับอาหารที่รับประทานคือข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง และบะหมี่เกี๊ยวหมูแดง โดยนายชัชชาติ เริ่มทักทายด้วยการหยิบรายชื่อในใบกระดาษมาตรวจสอบและพูดคุยถึงประวัติ ลักษณะการทำงาน และข้อมูลการบรรจุตำแหน่งงานของพนักงานแต่ละคน ในช่วงที่เริ่มนั่งโต๊ะรับประทานอาหาร นายชัชชาติ ได้แกะซีลจานอาหารให้พนักงานที่ร่วมโต๊ะ โดยพนักงานได้ยกมือไหว้ขอบคุณ บรรยากาศระหว่างร่วมรับประทานอาหารเป็นไปด้วยความเป็นกันเอง เรียบง่าย
ในตอนหนึ่งพนักงานกล่าวว่า ‘ไม่กล้ากิน’ นายชัชชาติได้ยิน จึงกล่าวว่า ‘แหม เขินอะไร กินกะผู้ว่าฯ ไม่ใช่ดารา’ จากนั้น สอบถามว่าใครอยากรับประทานอะไรบ้าง ข้าวมันไก่หรือข้าวหมูแดง
โดยนายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์ ถึงการรับประทานอาหารกลางร่วมกับพนักงาน กทม. หลังลงพื้นที่ผู้ว่าฯ สัญจร เขตจตุจักร ระบุ เป็นเรื่องดี ๆ เพราะได้เห็นปัญหาต่าง ๆ และพบว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องสวัสดการ เพราะบางคนเป็นพนักงานที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ เมื่อไม่ได้บรรจุ ก็จะไม่สามารถเบิกต่าเล่าเรียนลูกได้ ซึ่งเป็นปัญหาหลัก อย่างพี่แก้ว เจ้าหน้าที่ กทม.ที่ช่วยแจ้งครู เรื่องนักเรียนโรงเรียนหอวัง ถูกจี้ขอเงิน เล่าให้ฟังว่า พี่แก้วเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ยังไม่ได้บรรจุ ก็ต้องไปขายของต่อตอนเย็นหลังเลิกงาน เพราะเงินไม่พอเลี้ยงลูก
ดังนั้นได้กำชับผ่านรองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ให้ไปดูแลพนักงานที่เงินเดือนน้อยให้ดี เพราะสุดท้ายคนเหล่านี้คือโซ่ข้อสุดท้ายที่เชื่อม กทม.กับประชาชน ต่อให้มีนโยบายดีแค่ไหน แต่ถ้าโซ่สุดท้ายไม่มีกำลังใจไปทำงานให้ประชาชนก็ไม่มีทางดีได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายชัชชาติ ได้ประชุมกับผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม และหัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาด และสวนสาธารณะสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ซึ่งนายชัชชาติ ได้เสนอในที่ประชุมว่า ขอให้เพิ่มการคัดเลือกพนักงานดีเด่นทุกอาทิตย์ เพื่อร่วมรับประทานอาหารกับผู้ว่าฯ กทม. ในช่วงกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร
โดยสัญจรไปที่สำนักงานเขตไหน ก็ให้ทางสำนักงานเขตนั้นคัดเลือกประมาณ 4-5 คน เพื่อร่วมทานข้าว พูดคุยแลกเปลี่ยนปัญหาในการปฏิบัติงาน และสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน ซึ่งตามปกติ กทม.จะมีการประกวดพนักงานรักษาความดีเด่นเป็นประจำทุกปี โดยมีคณะกรรมการคัดเลือก
--------
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตจตุจักร เดินเลียบคลองเปรมประชากร เยี่ยมชุมชนประชาร่วมใจ 2 ติดตามโครงการบ้านมั่นคง รวมถึงชุมชนสามัคคีเทวสุนทร ติดตามการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่และการพัฒนาที่อยู่อาศัย พร้อม ส.ก.เขตจตุจักร โดยนายชัชชาติ ได้โบกมือทักทายไหว้ประชาชนสอบถามความเป็นอยู่และรับฟังปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนในพื้นที่ ฝากให้ทุกคนช่วยกันดูแลความสะอาดและปัญหาขยะ อย่าทิ่งขยะลงน้ำ พร้อมสอบถามมีอะไรต้องปรับปรุงหรือไม่
ระหว่างลงพื้นที่นายชัชชาติ ได้พูดคุยกับคุณยายรายหนึ่ง สอบถามว่าอยู่บ้านมั่นคงเป็นอย่างไรบ้าง อยู่กับใคร ใครผ่อน อยากให้ผู้ว่าฯ ทำอะไรบ้างมีอะไรให้รับใช้มั้ย โดยคุณยายบอกว่าอยากให้เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ นายชัชชาติ ตอบว่า “ไม่ใช่แล้วอันนั้นรัฐบาล” จากนั้นนายชัชชาติ รับฟังการก่อสร้างสะพานเหล็กข้ามคลองเปรมฯ เพื่อให้ชาวบ้านสัญจรและให้เด็กเดินข้ามไปโรงเรียนวัดเสมียนนารี ผู้ว่าฯ สอบถามว่ายังติดปัญหาอะไรบ้างมั้ย
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ยังระบุอีกว่า จุดดังกล่าวแต่ก่อนเป็นชุมชนที่อยู่ริมน้ำตอนนี้เอาขึ้นหมดแล้ว บ้านมั่นคงถือว่าเป็นผลงานของรัฐบาลที่ดีมาก ทั้งคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร ที่ช่วยให้ช่วยให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ในน้ำขึ้นไป ชีวิตมั่นคงขึ้น ช่วยให้คุณภาพน้ำดีขึ้นด้วยไม่ต้องทิ้งขยะลงน้ำ พร้อมระบุว่าทำเขื่อนแล้วดีขึ้น สมามารถขุดลอกคลองได้ดีขึ้น
จากนั้นนายชัชชาติ ได้ลงพื้นที่ชุมชนประชาร่วมใจ 1 ซึ่งเปลี่ยนจากบ้านริมคลองเป็นบ้านมั่นคง 295 หลังคาเรือน เน้นย้ำประชาชาชนให้ดูแลเรื่องความสะอาด โดยประชาชนให้การต้อนรับด้วยรอยยิ้ม พากันขอถ่ายรูปเซลฟี่ และสะท้อนเสียงไม่อยากให้ขึ้นค่าแผงลอย พร้อมส่งเสียง “ยังไงก็รักชัชชาติ” ซึ่งทาง กทม.ได้จัดเจ้าหน้าที่มารับเรื่องร้องทุกข์ด้วย
ระหว่างลงพื้นที่ชุมชนประชาร่วมใจ 1 มีประชาชนมายื่นหนังสือร้องเรียนเรื่องวินมอเตอร์ไซค์เก็บค่าวินแพงรวมถึงปัญหาต่าง ๆ เช่น เวลาฝนตกน้ำท่วมขังถนนไม่มีท่อระบายน้ำ ซึ่งทางผู้ว่าฯ ชัชชาติ ให้เลขาฯ รับเรื่องไว้บอกจะจัดการให้ นอกจากนี้ยังได้พูดคุยสอบถามเด็ก ๆ ในชุมชนเกี่ยวกับการเรียนและถามว่ามีหมวกกันน็อคมั้ย ถ้าไม่มีจะจัดหาให้
จากนั้นนายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เขตจตุจักร เป็นเขตที่มีผู้ร้องเรียนผ่าน ‘ทราฟฟี่ฟองดูว์’ เยอะที่สุด 4,000 กว่าเรื่อง แต่ก็เป็นเขตที่ได้รับการแก้ไขมากที่สุดเหมือนกันจำนวน 1,839 เรื่อง ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี พิสูจน์ให้เห็นว่าสมารถปรับการให้บริการประชาชนได้โดยไม่ต้องมีการทำเอกสาร แก้ไขได้ทันที หรือส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขได้
สำหรับเขตจตุจักร ตนได้พูดคุยกันหลายเรื่อง หนักๆ เป็นเรื่องน้ำท่วมโดยเฉพาะในซอยเสือใหญ่อุทิศ (รัชดาภิเษก 36) ซึ่งน้ำที่ท่วมขังจะลงคลองลาดพร้าว ปัญหาคือยังทำเขื่อนไม่เสร็จล่าช้ามากครึ่งปีซึ่งจะต้องเร่งรัด ถ้าเขื่อนไม่เสร็จทำให้ขุดลอกคลองยาก การระบายน้ำไหลได้ไม่ค่อยดีซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา อีกทั้งบริเวณคลองลาดพร้าว มีโครงการก่อสร้างค่อนข้างเยอะ เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งตนได้ประชุมหารือแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ประชาชนร้องเรียนเยอะคือถนนเลียบทางรถไฟ ถนนทางเข้าทางรถไฟ ซึ่งมันมีความรับผิดชอบที่เลื่อมล้ำกันอยู่ บางโครงการได้ส่งคืนให้การรถไฟเพื่อไปดำเนินการ บางโครงการเป็นเป็นสิ่งที่ทาง กทม.รับผิดชอบอยู่ ก็จะมีการการือกันอีกครั้ง เพราะเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้เยอะ จะไปดูเรื่องการบำรุงรักษาให้ดีคงเกี่ยงกันไม่ได้เรื่องความรับผิดชอบ
ส่วนเรื่องชุมชนยังพบปัญหาชุมชนลุกล้ำคลองลาดพร้าว และคลองเปรมประชากร ที่ผ่านมารัฐบาลทำได้ดีมาก เอาชุมชนขึ้นจากคลองขึ้นไปอยู่ที่ธนารักษ์ ซึ่งอยู่ริมคลองเป็นบ้านมั่นคงหลายร้อยครัวเรือน แต่ยังมีบ้านเรือนบางหลังยังไม่ได้ขึ้นไปก็จะเร่งรัด ขณะที่ทาง กทม. มีส่วนร่วมเจรจาการจัดตั้งสหกรณ์ ทำบ้านมั่นคง จากการลงพื้นที่พบว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น เด็กๆ มีความเป็นอยู่ที่มั่นคง
นายชัชชาติ กล่าวถึงกล้อง CCTV ยังมีหลายจุดที่ต้องพัฒนาเพิ่มขึ้น จะปรับปรุงให้ดีขึ้น ทำตามสัญญาที่จะให้ประชาชนสามารถดูกล้อง CCTV ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ตอนนี้เริ่มมีการพัฒนาแล้ว ส่วนหนึ่งต้องร่วมมือกับตำรวจ เพราะการขอ CCTV ต้องนำใบแจ้งความมา แจ้งความเสร็จ นำใบแจ้งความมาก็สามามรถดกล้อง CCTV ได้เลย ทำให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง
ประเด็นเรื่องถังดับเพลิง ตนมีนโยบายสั่งการให้ตรวจดูทุกชุมชนให้ดี (ระหว่างนี้มีสุนัข 1 ตัว มายืนอยู่ข้าง ๆ ผู้ว่าฯ ชัชชาติ พูดว่า “มีเพื่อนมาร่วมแถลงข่าวด้วย”) รวมถึงการตรวจสถานบริการ สถานคล้ายสถานบริการในเขตจตุจักร ประมาณ 50 แห่ง ให้ไปตรวจดูอีกที ซึ่งทางเขตฯ บอกว่าได้ไปตรวจแล้วเรียบร้อยหมด แต่ทางเรายังไม่ค่อยเชื่อ เรื่องการหนีไฟคิดว่าคงตรวจไม่ครบถ้วน ต้องตรวจให้เข้มข้นอีกที
สำหรับพื้นที่เขตจตุจักร มีกรณีเด็กหอวัง ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า ง่ายๆ จะทำอย่างไรที่สามารถช่วยได้เร็วขึ้น ซึ่ง ผอ.เขตจตุจักร มีไอเดียคือแจกนกหวีดให้กับพนักงานที่อยู่พื้นที่ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินให้เป่านกหวีดก่อน จะทำให้คนร้ายตกใจไม่กล้าก่อเหตุ เป็นวิธีง่ายๆ ไม่ได้ใช้เงินเยอะ ให้พนักงานทุกฝ่ายเป็นหูเป็นตาแทนประชาชน ดูแลเด็กนักเรียนด้วย ดูจุดมืดจุดอับและทำการปรับปรุง ส่วนเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียน ได้สั่งการให้เทศกิจลงพื้นที่ เน้น กทม.ก่อนดูเรื่องทางข้ามม้าลายและดุความปลอดภัยด้วย
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ขอชมเชยเขตจตุจักร ที่แก้ปัญหาจากทราฟฟี่ฟองดู ได้อย่างรวดเร็ว และมีการส่งต่อการช่วยเหลือแบบไร้รอยต่อ ไปยังการไฟฟ้านครหลวง กาประปา และจำรวจ สามารถส่งข้อมูลแบบออนไลน์ และไปแก้ไขปัญหาได้ทันที ไม่ต้องรอส่งเอกสารเป็นกระดาษ
หลังให้สัมภาษณ์เสร็จ มีชาวบ้านมอบดอกเข็ม พวงมาลัยดอกดาวเรือง น้ำดื่ม ให้กับผู้ว่าฯ ชัชชาติ ขณะที่เด็ก ๆ ตะโกนบอกยากได้สนามเด็กเล่น โดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ บอกให้ ผอ.เขตจตุจักร ให้ไปจัดหางบประมาณมาทำสนามเด็กเล่นให้เด็ก ๆ ในชุมชน จากนั้นผู้ว่าฯ ชัชชาติ เดินไปที่เสาไฟฟ้า ดูสายสื่อสารถามว่า “อันนี้ตัดแล้วใช่มั้ย” จากนั้นผู้ว่าฯ ชัชชาติ เดินลัดเลาะสำรวจพื้นที่ในชุมเลียบคลองเปรมฯ เพื่อดูปัญหาการระบายน้ำในชุมชน
ทั้งนี้อยากให้เขตจตุจักร ทำให้เป็นฮับ เพราะเป็นเขตที่มีประชากรเยอะ 1.5 แสนคน และมีชุมชนแออีกเยอะ เพราะอยู่ใกล้แหล่งงาน ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวทิ้งท้าย “วันนี้วันอาทิตย์สบาย ๆ แล้วเราไปดูดนตรีในสวนกัน”
รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/4uOrGWd0xyI