เลือกตั้งและการเมือง

ลุ้น กกต.รับรอง 'ชัชชาติ' หลัง 'ศรีสุวรรณ' ร้องเรียน 'กระเป๋าไวนิล-ดูถูกราชการ-ไม่เก็บป้ายหาเสียง'

โดย thichaphat_d

30 พ.ค. 2565

714 views

วานนี้ (29 พ.ค. 65) ที่สน.ลำผักชี นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าฯกทม. และผู้สมัคร ส.ก.เขตหนองจอก ที่ไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียงของตนเองออกจากพื้นที่สาธารณะ ตามที่ กกต.กำหนดภายใน 3 วัน หลังจากเลือกตั้ง ว่า

  • การไม่เก็บป้าย ถือว่ามีความผิดตาม ปอ.368 ฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน
  • การไม่เก็บป้าย มีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด 2535

.

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ริมถนนสุวินทวงศ์ เขตหนองจอก ปรากฎว่ามีป้ายหาเสียงของนายชัชชาติ และผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.คนอื่นอีกหลายคน ที่ปล่อยทิ้งไว้ไม่ยอมจัดเก็บตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ ป้ายของ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ น.ต.ศิธา ทิวารี และยังมีป้ายของผู้สมัคร ส.ก.เขตหนองจอก เขตมีนบุรี อีกหลายคนที่ยังไม่ยอมเก็บป้ายหาเสียง เช่น นายมังกร ศิริศรีโพธิ์ พรรคไทยสร้างไทย น.ส.ณัฐิดา เตาเฟ็ส พรรคประชาธิปัตย์ นายไพฑูรย์ อิสระเสรีพงษ์ และนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ พรรคเพื่อไทย เป็นต้น


และในวันที่ 30 พ.ค.เวลา 09.00 น. จะไปร้องต่อกกต. เพื่อให้ดำเนินการสอบสวนไต่สวนและเอาผิดตาม พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น 2562 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.368 ด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่การให้ใบเหลืองผู้สมัครที่ชนะเลือกตั้งได้อีกด้วย

----------

ซึ่งก่อนหน้านี้ ชัชชาติ ถูกร้องเรียน จำนวน 2 เรื่อง คือ

  • กรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อ กกต.ขอให้ไต่สวนนายชัชชาติ กรณีทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลมีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิลทำกระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน เข้าข่ายกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่

กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง จึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าเข้าข่ายสัญญาว่าจะให้กับผู้ใดภายหลังจากการเลือกตั้ง ตามคำกล่าวอ้างของผู้ร้องหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงนโยบายหาเสียงเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม นโยบายรีไซเคิลและรียูสสิ่งของ

  • การร้องเรียนเกี่ยวกับระบบราชการ ซึ่งเป็นการแจ้งผ่านหน่วยงานอื่นไม่ใช่ กกต.โดยตรง อ้างว่านายชัชชาติ ระบุเนื้อหาทำนองว่าระบบราชการอาจจะส่งผลต่ออุปสรรคการปฏิบัติงานเพราะมีขั้นตอนเยอะ โดยผู้ร้องอ้างว่าการระบุเช่นนี้เหมือนเป็นการดูถูกระบบราชการ

อย่างไรก็ตาม ในข้อที่ 2 นี้ กรณีนี้ไม่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเลือกตั้ง และยังไม่สามารถระบุได้ว่าตรงกับข้อกฎหมายใด

-----------

แหล่งข่าวจาก กกต.แจ้งว่า ปัจจัยการประกาศผลการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของการร้องคัดค้านผู้สมัครที่มีคะแนนสูงสุดแต่ละเขตเลือกตั้ง เมื่อมีการเสนอให้ กกต.ประกาศผลจะเสนอพร้อมกันทั้งหมด ทั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก. ซึ่งต้องแจ้งรายละเอียดให้ กกต.รับทราบด้วยว่ามีผู้สมัครคนใดที่มีเรื่องร้องคัดค้าน ประเด็นใดบ้าง


หลังจากนั้น กกต.จะพิจารณาว่าจะประกาศผลการเลือกตั้งให้ ส.ก.ท่านใดก่อน หรือผู้ว่าฯกทม.ด้วยหรือไม่ ขึ้นอยู่ดุลพินิจของ กกต. ไม่มีการเลือกเสนอ โดย กกต.จะเป็นผู้พิจารณา ถ้ามีเรื่องร้องคัดค้านหรือพบว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อาจจะไม่ประกาศผลการเลือกตั้งได้ สมมุติว่ามีผู้สมัคร ส.ก.ที่ได้คะแนนสูงสุด 45 คนจาก 50 คน ไม่มีเรื่องร้องคัดค้าน จะมีมติให้ประกาศผลการเลือกตั้ง 45 คนก่อน ส่วนที่เหลือจะยังไม่ประกาศ ตามกระบวนการจะตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับระยะเวลาประกาศผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม และ ส.ก. ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 17 ระบุไว้ว่า กกต.จะประกาศผลการเลือกตั้งได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง หากตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม


อย่างไรก็ตาม กรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ว่าจะมีผู้ร้องเรียนกล่าวโทษหรือไม่ ให้ กกต.สืบสวนหรือไต่สวนให้แล้วเสร็จ และประกาศผลการเลือกตั้ง หรือจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง

---------

ด้าน รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทวีตข้อความระบุว่า


"การให้ กกต.มีเวลารับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. ถึง 60 วัน เลือกตั้งผู้ว่ากทม.+ ส.ก. 30 วัน เป็นเรื่องไม่จำเป็น

หากไม่พบว่านับคะแนนผิด รวมคะแนนพลาด ก็ควรประกาศรับรองทันที ส่วนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนสามารถทำภายหลังได้"

คุณอาจสนใจ

Related News