เลือกตั้งและการเมือง

'ชัชชาติ' ตรงดิ่งแยกลำสาลี แก้รถติด อัดเสียงผู้รับเหมาเป็นหลักฐาน รับปากจะคืนพื้นที่ 25 มิ.ย.

โดย thichaphat_d

26 พ.ค. 2565

1.3K views

วานนี้ (25 พ.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยว่าที่ ส.ก. เขตบางกะปิ คันนายาว และสะพานสูง ลงพื้นที่ดูปัญหาการก่อสร้างรถไฟฟ้า และการจราจรที่ติดขัด บริเวณแยกลำสาลี เขตบางกะปิ ซึ่งมีการก่อสร้างพร้อมกัน 3 โครงการคือ รถไฟสายสีส้ม รามคำแหง-สุขาภิบาล รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ศรีนครินทร์-ลาดพร้าว  และสะพานข้ามแยกลาดพร้าวไปสุขาภิบาล ซึ่งการก่อสร้างพร้อมกันทั้ง 3 โครงการ ประกอบกับการก่อสร้างที่ล่าช้า ทำให้การจราจรติดขัด


โดยในส่วน กทม.รับผิดชอบ สะพานข้ามแยกจากลาดพร้าวไปสุขาภิบาล จึงต้องเร่งรัดการก่อสร้างที่ล่าช้าไปมาก ดำเนินการได้เพียง 5% เท่านั้น ขณะเดียวกันต้องเร่งขอคืนพื้นที่จราจร จากผู้รับเหมาในการก่อสร้างรถไฟฟ้า เพราะบางจุดสามารถคืนพื้นที่ได้ แต่ผู้รับเหมาใช้เป็นพื้นที่เพื่อเก็บของ ซึ่งผู้รับเหมาในพื้นที่รับปากจะคืนพื้นที่จราจรภายในวันที่ 25 มิถุนายนนี้ หรือประมาณหนึ่งเดือนนับจากนี้


ซึ่งนายชัชชาติได้ให้ทีมงานบันทึกเสียงของผู้รับเหมาเอาไว้ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าจะดำเนินการตามนั้นจริง


นายชัชชาติ ระบุว่า ปัญหาเรื่องของการจราจรเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องเร่งรัดดูแลเป็นลำดับต้นๆ และเตรียมที่จะพูดคุยกับทั้ง กรมการขนส่งทางบก , กสทช. กรณีนำสายสื่อสารลงดิน , รฟม.กรณีการก่อสร้างรถไฟฟ้า และ องค์การต่อต้านคอร์รัปชัน กรณีการทุจริตต่างๆ โดยจะเข้าไปพูดคุยทันที ที่ได้รับการรับรองผลการเลือกตั้ง


ส่วนที่ นายกรัฐมนตรีระบุว่า หากนโยบาย 214 ข้อทำได้จริง อำนาจก็ยิ่งกว่านายกเสียอีก นายชัชชาติระบุว่า ขอบคุณกำลังใจจากนายกรัฐมนตรี ขอบคุณที่สนใจ น้อมรับทุกคำติชมทุกคำวิจารณ์ ยิ่งทำให้ตนมีแรงกระตุ้นในการทำงานให้ดีที่สุด


ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากทำไม่ได้ตามนโยบาย คะแนนการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจจะลดลงเหลือเพียง 200,000 เท่านั้น นายชัชชาติ ระบุว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่มีสิทธิที่จะพูด ตนน้อมรับทุกความคิดเห็น และยิ่งต้องทำงานให้หนักขึ้นให้เร็วขึ้น และมองว่าเป็นเรื่องที่ดี มีการติเตียนในเชิงสร้างสรรค์ ทุกคนเป็นคนกรุงเทพเหมือนกันสามารถแสดงความคิดเห็นได้


นายชัชชาติย้ำว่า การที่กำหนดนโยบายไว้ชัดเจนทั้ง 214 ข้อ เป็นข้อดีที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ง่าย ทำได้ไม่ได้ ชี้แจงได้หมด เพราะหากพูดแล้วไม่มีอะไรเป็นตัวชี้วัด ภายใน 4 ปี กรุงเทพฯก็เหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง


แต่ที่น่าดีใจมากคือมีบางสำนักงานเขต นำนโยบายบางส่วนไปใช้แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะเห็นว่าทุกคนเริ่มตื่นตัว ตั้งแต่ตนเองยังไม่รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งบางนโยบายสามารถเริ่มทำได้เลยโดยไม่ต้องรอ เช่น การหาพื้นที่ปลูกต้นไม้ การแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย เป็นต้น


นายชัชชาติ ระบุด้วยว่าพร้อมน้อมรับการบ้าน ข้าราชการ และประชาชน เพราะเป็นการสื่อสารสองทาง นโยบายเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของประชาชนเพราะไม่ใช่ศิลาจารึก ซึ่งขอบคุณข้าราชการที่เข้าไปศึกษานโยบาย ยืนยันจะพยายามทำให้ได้มากที่สุด


ส่วนกรณีปัญหาเรื่องป้ายที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เตรียมจะดำเนินการฟ้องร้องหากยังไม่ดำเนินการกับผู้ที่นำป้ายไปหาเสียงไปใช้ นายชัชชาติ ระบุว่า เป็นสิทธิที่ดำเนินคดีหรือไม่ แต่มั่นใจว่าฝ่ายกฎหมายได้ดูเรื่องข้อกฎหมายโดยละเอียดแล้ว


ทั้งนี้ ระหว่างที่นายชัชชาติ ให้สัมภาษณ์อยู่ที่แยกลำสาลี มีพนักงานขับรถเมล์ขสมก.สายหนึ่งได้ชะลอพร้อมปรบมือและโบกมือให้กับนายชัชชาติด้วย แต่ระหว่างนั้นนายชัชชาติให้สัมภาษณ์อยู่จึงไม่เห็น


ขณะเดียวกัน มีพนักงานของ กทม. ที่ทำงานอยู่บริเวณนั้นได้เข้ามาขอถ่ายรูปให้กำลังใจ ร้องขอให้เพิ่มเงินเดือน และสวัสดิการให้กับพนักงาน รวมถึงสะท้อนปัญหาเรื่องการบรรจุ เนื่องจากทำงานเป็นลูกจ้างมานานนับ 10 ปี แต่กลับยังไม่ถูกบรรจุ โดยนายชัชชาติรับปากจะไปดูรายละเอียดในเรื่องนี้


นอกจากนี้ ยังมีแม่ค้าในตลาดบางกะปิ มาร้องเรียนให้ช่วยเหลือ กรณีมาเฟียเก็บค่าจอดรถภายในตลาด ส่งผลให้ลูกค้าเดินทางมาจับจ่ายซื้อของน้อยลง หลังยื่นเรื่องให้ผู้ว่าคนก่อน แต่ไม่ได้รับการแก้ไขและเรื่องเงียบหายไป ทั้งนี้ยังได้มีการแชร์คลิปขณะที่ชาวบ้านมาร้องเรียนลงใน tiktok ด้วย


ต่อมา ยังได้มีการแชร์คลิปหลังจากได้ร้องเรียนกับนายชัชชาติ มีตำรวจ สน.ลาดพร้าว ลงพื้นที่ทันที เข้าไปคุยกับแม่ค้าเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม โดยแม่ค้าชี้แจงไปว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นของรัฐบาลเก็บค่าที่จอดรถ 30 บาท ซึ่งตลาดเอกชนเก็บแค่ 20 บาทเท่านั้น เก็บรายเดือนจาก 1,600 เป็น 1,800 บาท ซึ่งทางแม่ค้าร้องเรียนไปหลายที่ทั้งสำนักงานเขต และผู้ว่าฯ คนก่อนก็ไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งส่งผลกระทบต่อพ่อค้าแม่ค้าอย่างมาก เพราะไม่ค่อยมีลูกค้าเข้ามาจับจ่ายใช้สอย


ทั้งนี้ หลังเสร็จภารกิจนายชัชชาติได้นั่งเรือคลองแสนแสบเดินทางกลับ 

---------

นายชัชชาติกล่าวถึง จุดยืนการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า เป็นแค่หลักการ เพราะยังไม่เห็นข้อมูล ต้องมาดูว่าการรับโอนหนี้จากรัฐส่วนกลางมา มีกระบวนการครบถ้วนแล้วหรือไม่ ต้องผ่านที่ประชุมสภา กทม. เพราะเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ผู้ว่าฯกทม.ไม่มีอำนาจทำได้ ต่อมาสัญญาจ้างเดินรถเป็นการจ้างระยะยาว ที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 (พรบ.ร่วมทุน) ว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อีกทั้งการต่อสัญญาสัมปทานก็ไม่ได้ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุนอีกเช่นกัน


ราไม่ได้ค้านการต่อสัญญาสัมปทาน แต่คิดว่าต้องผ่านกระบวนการตามพ.ร.บ.ร่วมทุน เพราะว่าจะมีการพิจารณาที่ละเอียดถี่ถ้วน มีการแข่งขันกันของเอกชน อีกทั้งการถกเถียงเรื่องค่าโดยสาร 65 บาท เราไม่รู้ว่ามีตัวเลขมาจากไหน


ปัจจุบันราคารถไฟฟ้าตามสัญญาสัมปทานเดิมเก็บสูงสุดที่ 44 บาท ส่วนต่อขยายที่ กทม.รับผิดชอบเก็บสูงสุด 15 บาท รวม 59 บาท ต้องไปดูว่าส่วนที่ กทม.มีการปรับได้มากน้อยเพียงใด โดยในช่วงถึงปี พ.ศ.2572 ต้องไปดูว่ามีผลการดำเนินงานที่เป็นกำไรหรือขาดทุน ถ้ามีกำไรก็สามารถเก็บราคาที่น้อยลงกว่านี้ได้ ตามหลักการต้องลดราคาให้กับประชาชนให้มากที่สุด แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นตัวเลขผลการดำเนินงานการจ้างเดินรถในส่วนต่อขยาย

---------

ด้าน อีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของคนอีสาน ตามแผนการสำรวจเรื่อง คนอีสานกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งผลสำรวจพบว่า


คนอีสานเกือบครึ่งอยากเห็นการกระจายอำนาจบริหารและงบประมาณให้จังหวัดและท้องถิ่นมากขึ้น โดยระบุว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่าจังหวัดในภาคอีสานพร้อมเลือกตั้งผู้ว่าฯเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ภายใน 1-5 ปี มีเพียงส่วนน้อยที่เชื่อว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีข้อเสียมากกว่าข้อดี พร้อมทั้งชูขอนแก่นเป็นจังหวัดนำร่องในการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและเลือกตั้งผู้ว่าฯเช่นเดียวกับกรุงเทพฯ



คุณอาจสนใจ

Related News