เลือกตั้งและการเมือง
เลือก(สัก)ตั้ง Ep 45 : เข้าใจศัพท์การเมือง
โดย paweena_c
12 พ.ค. 2566
0 views
วันนี้เราจะมาอธิบายคำศัพท์การเมืองที่ได้ยินบ่อยๆ แต่อาจจะไม่รู้ความหมายและที่มา วันนี้มาทำความเข้าใจแล้วคุณจะตามข่าวเลือกตั้งได้สนุกยิ่งขึ้น
อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้ง ข่าวการเมืองก็มากขึ้นตามลำดับ หลายคนเป็นคอการเมืองอาจจะตามการเมืองด้วยความสนุกสนานและมีความเข้าใจอย่างดี ขณะที่อีกหลายๆคนก็อยากรู้ แต่ก็ยังไม่เข้าใจดีนัก เพราะมีศัพท์แปลกๆ
วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจศัพท์การเมืองที่จะได้ยินบ่อยๆ เพื่อจะได้หายสงสัยว่า เอ๊...คำคำนี้จริงๆแปลว่าอะไรกันแน่
คำแรก เราได้ยินบ่อยมาก คือคำว่า “แลนด์สไลด์” แปลกันแบบตรงตัวก็ดินถล่ม แต่ในทางการเมืองคือการชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย เป็นฉันทามติ ถ้ายังนึกไม่ออกให้นึกภาพการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งที่ผ่านมา นั่นแหละแลนด์สไลด์ หรือการเลือกตั้งของประเทศพม่าเมื่อปี 2563 พรรคของ ออง ซาน ซูจี ที่ได้ 322 ที่นั่งจาก 498 ที่นั่ง ซึ่งคราวนี้ก็มีพรรคการเมืองที่ตั้งเป้าแลนด์สไลด์เพื่อเอาชนะเสียงของ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีให้ได้
คำต่อมาคือ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ” ง่ายๆก็คือรัฐบาลที่มีเสียงเกินครึ่งมานิดเดียว โดยอาจจะได้เสียงเพียง 250 - 260 ที่นั่ง จากทั้งหมด 500 ที่นั่ง ซึ่งหมายความว่า หากฝ่ายค้านเข้าประชุมครบทุกคน ฝ่ายรัฐบาลก็ต้องเข้าประชุมให้ครบเช่นกันไม่เช่นนั้นอาจแพ้โหวต อุปมาก็เหมือนคนจะจมน้ำ คืออยู่แบบปริ่มๆ อีกนิดเดียวก็จะจม
คำต่อมาคือ “แทงกั๊ก” แปลตรง ๆ ก็คือยังไม่ยอมบอกว่าจะเข้าข้างหรือมีความเห็น จุดยืนไปในทางใดทางหนึ่ง ต้นทางคำว่า “แทงกั๊ก” มาจากการพนันที่เรียกว่า “โป” เป็นการแทงสองทาง คือถ้าออกสองตัวตามที่แทงไว้ก็จะได้เงิน พอจะนึกภาพออกหรือยังว่า แทงกั๊กจริงๆแล้วเป็นอย่างไร
ต่อมาคือ “แบ่งเค้ก” เอาง่ายก็คือแบ่งผลประโยชน์กันนั่นเอง เปรียบเหมือนมีเค้กอยู่ก้อนหนึ่งจะกินกันหลายๆคนก็ต้องแบ่งใช่ไหม นั่นแหละที่มาของคำว่าแบ่งเค้ก
มาดูอีกคำที่หลายคนสงสัยคือคำว่า “ล็อบบี้” ความหมายทางการเมืองคือการ “วิ่งเต้น” หรือชักจูงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ หรือให้ลงมติไปในทางที่ต้องการ จุดเริ่มต้นก็มาจากความหมายตรงตัวของคำว่าล็อบบี้ คือ “ห้องนั่งเล่น” หรือ “ห้องพักผ่อน” ซึ่งการล็อบบี้จากการบันทึกครั้งแรกก็เกิดขึ้นใน “ห้องล็อบบี้” ของสมาชิกรัฐสภา ของสหรัฐ โดยเป็นการรวมตัวของสมาชิกรัฐสภาเพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงสนับสนุนในการลงมติ ซึ่งต่อมาการล็อบบี้ก็ขยายวงกว้างขึ้นไปสู่วงต่างๆ
และคำว่า “ล็อบบี้” ก็มาคู่กับ คำว่า “ล็อบบี้ยิสต์” หรือนักล็อบบี้นั่นเอง เพราะจะมีคนประเภทหนึ่งที่มีความสามารถในการโน้มน้าวหรือเจรจา ดังนั้นเวลาใครบางคนต้องการจะเจรจาโน้มน้ว แต่ตัวเองไม่มีความสามารถหรือไม่สามารถทำออกนอกหน้าได้ก็จะว่าจ้างหรือไหว้วานล็อบบี้ยิสต์ให้ทำแทน ซึ่งล็อบบี้ยิสต์มักจะช่ำชองในการเจรจาและมีคอนเนกชั่นที่หลากหลาย ที่สำคัญล็อบบี้ยิสต์นี่ค่าไหว้วานไม่น้อยเลย
คำต่อมาเป็นภาษาอังกฤษที่เรียกว่า “แคนดิเดต” ครั้งนี้เราก็ใช้คำว่า “แคนดิเดตนายกฯ” แคนดิเดต แปลว่าผู้สมัคร ถ้าเป็นแคนดิเดตนายกฯก็คือผู้สมัครนายกฯ หรือ ส.ส. ก็เป็นแคนดิเดต ส.ส. เช่นเขตเลือกตั้งนี้มีใครเป็นแคนดิเดตบ้าง
ศัพท์คำถัดมาคือคำว่า “งูเห่า” ศัพท์คำนี้เริ่มต้นมาจากนิทานชาวนากับงูเห่า ที่ชาวนาช่วยงูเห่าเอาไว้แต่สุดท้ายถูกแว้งกัด แต่ถูกนำมาใช้ทางการเมืองครั้งแรก ครั้งปี 2540 ตอนนั้นพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ จากปัญหาการลอยตัวค่าเงินบาท โดยพรรคร่วมรัฐบาลเดิมต้องการสนับสนุน พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ แต่ อีกฟากฝ่ายค้านก็สนับสนุนคุณชวน หลีกภัย
ทีนี้ฝ่ายค้านเดิมก็ไปดึงเสียงพรรคร่วมรัฐบาลมาได้สองพรรคพรรคคือพรรคเสรีธรรม และ กิจสังคม แต่คะแนนก็ยังแพ้พรรครัฐบาลเดิมหนึ่งเสียง ส่วนพรรคอื่นก็ยังไม่ยอมแยกตัว ทำให้ตอนนั้น “เสธ.หนั่น”พล.ต.สนัน ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ มองเกมด้วยการดึง “ส.ส.” กลุ่มหนึ่งจากพรรคประชากรไทย ของคุณสมัคร สุนทรเวช ทำให้พรรคฝ่ายค้านตอนนั้นพลิกกลับมาชนะ ท่ามกลางความเจ็บแค้นของคุณสมัคร และคุณสมัครทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่าเป็นเจ้าสำบัดสำนวน จึงยกนิทาน “ชาวนากับงูเห่า” ขึ้นมาเปรียบกับกรณีนี้ เพราะ กลุ่มที่แยกตัวออกไปคือกลุ่มของนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งมีชื่อเสียงไม่ดีจนไม่มีพรรคไหนรับ แต่พรรคประชากรไทยรับมา แต่สุดท้ายก็ตีตัวจากซึ่งคุณสมัครมองว่าเป็นการหักหลัง จนเปรียบเป็นงูเห่าที่ทรยศชาวนาอย่างคุณสมัคร
“รับกล้วย” คำนี้เพิ่งเกิดเมื่อไม่นาน จากรัฐบาลที่ผ่านมานี่เอง โดยขณะนั้นมีปัญหาเรื่องการลงมติและความไม่พอใจของพรรคเล็ก นาทีนั้น พล.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ว่ากันว่าเป็นผู้ดีลพรรคเล็ก ก็ออกมาเดินเกมจนสยบความขัดแย้งก่อนจะหลุดวาทะ “ผมเปรียบเหมือนคนเลี้ยงลิง เลยต้องเอากล้วยให้ลิงกินตลอดเวลา ขณะนี้เชื่อว่ากินจนอิ่มแล้ว น่าจะพอได้แล้ว" ทำให้ถูกมองว่า พรรคเล็ก รับ “กล้วย” หรือผลประโยชน์ นี่เองจึงกลายเป็นศัพท์ทางการเมืองใหม่ ที่แปลว่าการแจกผลประโยชน์ให้ ส.ส.เพื่อให้สนับสนุนตัวเอง
และคำสุดท้ายคำว่า “กิโล” มาจากการบอกว่าให้เงินกี่กิโลกรัม ซึ่งไม่มีใครยอมรับว่ารับเงินกี่กิโลกรัม แต่มีการขยายความว่าเงินหนึ่งล้านบาทเท่ากับหนึ่งกิโลกกรัม นี่จึงเป็นที่มาของการบอกว่าให้ หนึ่งกิโล สิบกิโล
เป็นไงบ้างศัพท์การเมือง จากนี้ไปอาจจะทำให้ตามข่าวการเมืองได้สนุกขึ้น