เลือกตั้งและการเมือง

เลือก(สัก)ตั้ง Ep 22 : ใบเหลือง ใบแดง ใบส้ม ใบดำ ใบสีต่าง ๆ กับการเลือกตั้ง

โดย paweena_c

1 พ.ค. 2566

41 views

สารพัดมาตรการลงโทษสำหรับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เรามาดูกันว่า แต่ละใบมีความหมายอย่างไร "ใบเหลือง-ใบแดง-ใบส้ม-ใบดำ"

ถ้าเปรียบการเลือกตั้งเป็นการแข่งขัน ทุกคนก็ต้องการความยุติธรรม และหากใครที่เล่นนอกเกม ก็มีข้อเรียกร้องให้ลงโทษเหมือนการเล่นกีฬา ถึงตอนนี้ทุกคนคงรู้จักใบแดง - ใบเหลือง ในการเลือกตั้ง แต่รู้กันหรือไม่ ว่านวัตกรรมใบเหลือง ใบแดง นี่เพิ่งมีมาในการเลือกตั้งไทยประมาณ 20 ปี เท่านั้น

เรื่องของเรื่องก็เหมือนที่เรารู้ก่อนหน้านั้นการเลือกตั้งไทย มีการทุจริตค่อนข้างมาก มีการซื้อเสียง จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มี กกต. และให้ กกต. มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งใหม่

กกต. จัดการเลือกตั้งครั้งแรกคือเลือกตั้ง ส.ว. ปี 2543 ครั้งนั้นก็พบว่ามีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นกับท่านว่าที่ ส.ว. ถึง 82 คน

ทำให้ กกต. ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ตอนนั้นเริ่มมีคำว่าใบเหลือขึ้นมา แต่ยังไม่มีใบแดง

แต่เมื่อเลือกแล้วก็ยังได้คนเดิม หรือผู้สมัครก็ยังใช้ชุดเดิมที่ตกเป็นข้อครหาว่าทุจริต จึงมีการเสนอว่า อย่างนั้นควรเพิ่มบทลงโทษอะไรอีกหรือไม่

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2544 จึงมีการแก้กฎหมายและกำหนดให้มีใบแดง คือถ้าใครมีหลักฐานชัดๆว่าทำผิดกฎหมายก็ให้ กกต. สั่งห้ามลงรับสมัครใหม่ไปเลย แล้วหลังการเลือกตั้งก็ค่อยส่งให้ศาลพิจารณา นี่จึงเป็นที่มาของคำว่าใบแดง

แต่การเมืองไทยก็มีพัฒนาการมากขึ้นเรื่อยๆ มีการตั้งคำถามถึงความเป็นกลางของ กกต. ความเหมาะสมของอำนาจ จนกระทั่งมาถึง รัฐธรรมนูญ 2560  เราลองมารีวิวกันว่ามี “ใบ” อะไรบ้าง

อย่างแรกเลย คือ “ใบเหลือง” ชื่อจริงก็คือการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ โดยไม่พบชัดเจนว่ามีผู้ใดกระทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม  โดยสามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังประกาศผลการเลือกตั้ง โดยก่อนประกาศผล เป็นอำนาจของ กกต. แต่หากเป็นหลังประกาศผลก็ต้องให้ยื่นต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้เลือกตั้งใหม่

ใบต่อมาคือ “ใบส้ม” หรือง่ายๆก็คือไม่ให้ลงสมัครในการเลือกตั้งใหม่ โดยช่วงแรกช่วงก่อนวันเลือกตั้ง จะเป็นเรื่องการขาดคุณสมบัติ ซึ่งจะต้องส่งให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา  ส่วนช่วงที่สองคือหลังวันเลือกตั้ง คราวนี้จะเป็นเรื่องทุจริต  กกต. จำมีอำนาจพิจารณา ไม่ให้ผู้สมัครลงสมัครใหม่ โดยมีกำหนดเวลา 1 ปี

ใบที่สามคือ “ใบแดง” หรือชื่อจริงคือการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด  การเพิกถอนใบแดงนี้จะไม่ได้ทำโดย กกต. ซึ่งกกต. จะเป็นผู้ยื่นเรื่องศาลฎีกาเป็นคนออกคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น โดยหากในกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ศาลฎีกาจะสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลาสิบปี

และมีใบสุดท้ายคือ “ใบดำ” ซึ่งก็เป็นผลจากใบแดงนั่นแหละ เพราะเมื่อถูกศาลฏีกาสั่งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ทำให้ผู้นั้นจะไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นและไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตลอดชีวิต หรือเหมือนเป็นการประหารชีวิตทางการเมืองนั่นเอง

แล้วถามว่าต่างจากใบแดงยังไง คือ 'ใบแดง' แม้แต่เลือกตั้งก็ไปไม่ได้ แต่เมื่อพ้นสิบปีก็ยังไปเลือกตั้งได้ แต่จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้อีกตลอดชีวิต


คุณอาจสนใจ

Related News