เลือกตั้งและการเมือง

'ก่อแก้ว' ชี้ ยกเลิกคำสั่ง คสช. คือโอกาสเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ยุติรัฐประหารโดยสันติวิธี

โดย chawalwit_m

1 ก.ย. 2567

109 views

นายก่อแก้ว พิกุลทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คำสั่ง คสช.) บางฉบับที่หมดความจำและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน พ.ศ. … (หรือ กมธ.ยกเลิกคำสั่ง คสช.)

ล่าสุดได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงความคืบหน้ากระบวนการเริ่มต้นยกร่างกฏหมายยกเลิกคำสั่งของ คสช. ว่าจะเป็นกระบวนการที่พาประเทศกลับเข้าสู่ประชาธิปไตย ยุติผลพวงของรัฐประหาร พร้อมเปลี่่ยนผ่านประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไปสันติวิธีที่สุด โดยหวังให้ประเทศได้เดินหน้าพาเศรษฐกิจกลับมาแข็งแกร่ง นักลงทุนมั่นใจเสถียรภาพการเมืองและพี่น้องประชาชนได้เดินหน้าทำมาหากินได้ปราศจากความขัดแย้ง โดยนายก่อแก้วได้โพสต์ข้อความดังนี้



“ผมมีข่าวดีที่อยากแจ้งพี่น้องทุกท่านทราบครับ

ขณะนี้ สภาผู้แทนราษฎรของเรา ได้ตั้งคณะกรรมมาธิการชุดสำคัญนั่นคือ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คำสั่ง คสช.) บางฉบับที่หมดความจำเป็นและไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือเรียกสั้นๆว่า “กมธ.ยกเลิกคำสั่ง คสช.” โดยมีคุณจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการ มี อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 1 และผม ก่อแก้ว พิกุลทอง เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 2 มีพี่น้องจากพรรคการเมืองทุกพรรค ซึ่งเป็นตัวแทนของทุกความคิดทางการเมือง และ นักวิชาการจำนวนหนึ่ง อยู่ กมธ.ชุดนี้ ซึ่งหลายคนเคยผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการ “ประกาศ-คำสั่ง คสช.”


ซึ่ง พ.ร.บ.ทั้งหมด 5 ร่าง โดยมี 3 ร่างที่มีบัญชีแนบท้ายคำสั่ง คสช. ได้แก่ ร่างของคณะรัฐมนตรี 23 คำสั่ง, พรรคประชาชน 17 คำสั่ง และพรรคภูมิใจไทย 71 คำสั่ง


นี่เป็นเรื่องที่น่ายินดีอีกครั้งในทางการเมือง เป็นการเดินหน้าครั้งสำคัญ ในการกลับเข้าใกล้การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น

และนี่เป็นจุดสำคัญอีกครั้งในการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยให้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย หากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียนของเราอย่าง ‘อินโดนีเซีย’ ที่เมื่อค่อยๆ เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนขณะนี้มีมูลค่า GDP กว่า 1.41 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการขยายตัว 5.0% ในปี 2566

ในอดีตประเทศอินโดนีเซียต้องตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ถึง 32 ปี (2509-2541) ที่นำโดย ‘ซูฮาร์โต’ เป็นประธานาธิบดีในเวลานั้น ซึ่งนำทหารเข้ามาอยู่ในบริบทการเมือง หรือที่เรียกกันว่า ‘ยุคระเบียบใหม่’ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งนายพลมาเป็นสมาชิกรัฐสภา หรือดำรงตำแหน่งของพลเรือน และยังมีแนวคิด ‘ทวิหน้าที่’ (Dwifungsi) เป็นการสร้างความชอบธรรมให้ทหารทำหน้าที่ทั้งป้องกันประเทศ และมีบทบาทในทางการเมืองอย่างออกนอกหน้า

แต่เมื่อ ‘ซูฮาร์โต’ ลงจากอำนาจในปี 2541 ด้วยสาเหตุวิกฤติเศรษฐกิจ และการลุกขึ้นต่อต้านของประชาชน ก็ได้มอบอำนาจให้แก่ ‘เบ.เจ.ฮาบีบี’ รองประธานาธิบดี จากนั้นจึงเข้าสู่ ‘ยุคปฏิรูป’ ที่ค่อยๆ สร้างนัยยะสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาทิ การลดจำนวนที่นั่งของทหารในสภาฯ และการทยอยปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองที่ถูกจับกุม

ซึ่งขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรของไทยได้มีการพิจารณาเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมีความก้าวหน้าอยู่เป็นระยะ รวมไปถึงการยกเลิกข้อจำกัดทางเสรีภาพสื่อมวลชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง แก้ไขกฎหมายว่าด้วยสถานะหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร และตามมาด้วยการพัฒนากองทัพ ให้เข้ายุคสมัย

กระบวนการที่ ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ ใน 26 ปีนี้ (2541-ปัจจุบัน) ทำให้ประเทศอินโดนีเซียได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และไม่ถูกแทรกแซงโดยอำนาจหน้าที่ของทหาร และไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีกเลย

ผมในฐานะหนึ่งในคนที่เคยออกไปต่อสู้บนท้องถนนกับคนเสื้อแดง ในฐานะแกนนำ นปช. เราเคยถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยคำสั่ง คสช.ในหลายวาระ นี่ยังไม่นับรวมวิธีการนอกกฎหมายอีกสารพัดในวันที่บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย เมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมา

จึงพูดได้เต็มปากว่านี่คือ “โอกาสสำคัญ” ที่สังคมเราจะมีฉันทามติร่วมกันในเรื่องประชาธิปไตย และ หยุดยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหาร


“ทั้งหมดที่พวกเราทำ ในนามผู้แทนของปวงชน จะส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจ เพราะหากกฎหมายเราไม่ใช่กฎหมายเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และไม่ตราขึ้นโดยคณะรัฐประหาร นักลงทุนต่างชาติก็จะกลับมาลงทุนกับเรา และเป็นการรองรับการฟื้นคืนกลับมาของประเทศไทย เพื่อพวกเราทุกคน มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี กลับมามีรอยยิ้มอีกครั้งหนึ่งครับ”




คุณอาจสนใจ

Related News