เลือกตั้งและการเมือง

รัฐสภาเอกฉันท์ เห็นชอบ ''กรอบความตกลง PCA ไทย-ยุโรป'' ขณะที่ ‘รมว.กต.’ เผย เป็นโอกาสของประเทศไทย ยกระดับความสัมพันธ์-ความร่วมมือกับ EU

โดย olan_l

29 ส.ค. 2567

312 views

ที่ประชุมรัฐสภา มีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ 612 เสียง ให้ความเห็นชอบร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกฝ่ายหนึ่งกับราชอาณาจักรไทยอีกฝ่ายหนึ่ง หรือ "กรอบความตกลง PCA" : Framework Agreement on Comprehensive Partnership and Cooperation between the European Union and its Member States, of the one part, and the Kingdom of Thailand, of the other part ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยกรอบความตกลง PCA นี้จะมีผลใช้บังคับ 30 วัน และทั้งไทย และสหภาพยุโรป สามารถเริ่มดำเนินการตามสาขาความร่วมมือ ในส่วนที่อยู่ในอำนาจที่สหภาพยุโรป มีเหนือรัฐสมาชิกไปพลางก่อนได้ โดยไม่ต้องรอกระบวนการภายในของรัฐสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศแล้วเสร็จ และหลังจากที่กรอบความตกลง PCA นี้ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว กระทรวงการต่างประเทศ จะแจ้งให้หน่วยงานภาครัฐรับทราบ และแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันกับสหภาพยุโรปต่อไป

โดยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงสาระสำคัญของ ''กรอบความตกลง PCA'' นี้ว่า เป็นกรอบความสัมพันธ์รอบด้าน ที่ไทยจัดทำร่วมกับสหภาพยุโรป และประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 27 ประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานการเพิ่มพูน การหารือ และขยายความร่วมมือระหว่างกันในสาขาต่าง ๆ ให้มีแบบแผน และทิศทางในระยะยาวบนหลักการที่ทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นร่วมกัน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ครอบคลุมทั้งหลักการที่ยึดถือปฏิบัติ เช่น การเคารพหลักสากลต่าง ๆ ด้านประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน นิติรัฐ และนิติธรรม เศรษฐกิจที่เปิดเสรี และสาขาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่าง ๆ อาทิ การค้าการลงทุน การพัฒนาที่ยั่งยืน และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

สำหรับเนื้อหาภายในกรอบความร่วมมือฯ ส่วนความร่วมมือนั้น นายมาริษ ชี้แจงว่า ประกอบด้วย การกำหนดกรอบการดำเนินความร่วมมือระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ, ความร่วมมือว่าด้วยการค้าและการลงทุน, ความร่วมมือด้านเสรีภาพ ความมั่นคง และการยุติธรรม, ความร่วมมือในภาคส่วนอื่น ๆ ครอบคลุมความหลากหลาย เช่น สิทธิมนุษยชน วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสมุทราภิบาล รวมถึงเครื่องมือสำหรับการดำเนินความร่วมมือ ที่ให้คู่ภาคีจัดสรรทรัพยากร รวมทั้งงบประมาณ มาใช้ในการดำเนินความร่วมมือเท่าที่ทรัพยากร และระเบียบของแต่ละฝ่ายจะอำนวย และการดำเนินความร่วมมือด้านการพัฒนาในประเทศที่สาม รวมถึงการกำหนดกรอบการดำเนินงานของคณะกรรมการร่วม ที่กำหนดรูปแบบ และกลไกที่จะจัดตั้งเพื่อติดตามความร่วมมือในแต่ละสาขา

ส่วนรูปแบบความร่วมมือภายใต้กรอบความตกลง PCA นั้น นายมาริษ ชี้แจงว่า มีการแบ่งเป็นการปรึกษาหารือ และการหารือด้านนโยบาย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน, การแบ่งปันองค์ความรู้ และการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ โดยอาจเป็นการจัดทำโครงการ กิจกรรมสัมมนา Work Shop ต่าง ๆ ร่วมกันในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ และความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา และการเพิ่มขีดความสามารถซึ่งหน่วยงานไทย ทั้งภาครัฐ และเอกชนสามารถใช้ประโยชน์ได้

นายมาริษ ยังกล่าวถึงประโยชน์ของกรอบตกลง PCA ที่ไทยจะได้รับจากกรอบความตกลงนี้ว่า ประเทศไทย จะได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และประเทศสมาชิก โดยฝ่ายสหภาพยุโรป จะจัดสรรบุคลากร เวลา และงบประมาณในการดำเนินความร่วมมือกับประเทศไทยในลักษณะต่างตามที่ระบุข้างต้น โดยจะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ความสัมพันธ์ทางการเมือง และเศรษฐกิจ ตลอดจนมาตรฐานการบริหารและจัดการในด้านต่าง ๆ ของไทยไปอีกระดับ เช่น ''ด้านการเมือง และความมั่นคง'' กรอบความตกลงนี้ จะช่วยให้ไทยพร้อมรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับสหภาพยุโรป เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ เช่น การหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยหน่วยงานไทยด้านความมั่นคง จะสามารถเข้าถึงทรัพยากร และแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและฐานข้อมูลภายใต้โครงการต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป เช่น ESIWA หรือ Enchancing security cooperation in and with ASIA และ CRIMARIO หรือ Critical Maritime Routes Indo-Pacific ระยะที่ 2 ซึ่งเน้นการแบ่งปันข้อมูล และฝึกฝนบุคลากร เพื่อรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้

ส่วนด้านเศรษฐกิจการค้า และการลงทุนนั้น นายมาริษ ยืนยันว่า จะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อม และมาตรการด้านการค้า การค้าดิจิทัล การส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ลดอุปสรรคการค้า เพื่อรองรับการเจรจาความตกลง FTA หรือ ความตกลงว่าด้วยการเปิดเสรีการค้า ระหว่างไทย และยุโรป รวมถึงยังเตรียมพร้อมประเทศไทย สำหรับการปรับตัวในมาตรฐานสิ่งแวดล้อม การบูรณาการด้านเศรษฐกิจ และอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนทั้ง 2 ฝ่าย ในการดำเนินธุรกิจระหว่างกัน

ส่วนด้านสังคม วิทยาศาสตร์และทรัพยากรมนุษย์นั้น นายมาริษ ระบุว่า กรอบความตกลง PCA นี้ จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมระหว่างกัน รวมถึงทำให้ประเทศไทย เข้าถึงแหล่งเงินสนับสนุนภายใต้โครงการต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป อาทิ โครงการ Global Gateway เพื่อนำมาใช้พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และโครงการ European Community Action Scheme for the Mobility of University Students Plus หรือ ERASMUS plus เพื่อพัฒนาศักยภาพ และขีดความสามารถเยาวชนไทย

นายมาริษ ยังยืนยันอีกว่า กรอบความตกลง PCA นี้ ยังจะเปิดช่องทางให้มีการจัดการหารือเชิงนโยบายในมิติต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นโอกาสให้ประเทศไทย สามารถผลักดันประเด็นที่ไทยต้องการการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เช่น การขอยกเว้นวีซ่า, การเจรจาการค้าเสรี FTA ระหว่างไทยและยุโรป และการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีในประเด็นที่ไทยมีบทบาทนำ เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถ้วนหน้า, การปกป้องสิทธิสตรีและเด็กหญิง เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของไทยบนเวทีระหว่างประเทศ

นายมาริษ ยังย้ำอีกว่า จากสาระสำคัญและประโยน์ความร่วมมือที่ไทยจะได้รับจากสหภาพยุโรป กรอบความตกลง PCA นี้ จึงเป็นการบูรณาการการทำงานและความสำเร็จของภาคราชการทุกกระทรวง และหน่วยงานในการร่วมกันเจรจา และกำหนดท่าทีของไทย สำหรับการเจรจาความตกลงที่ยาวนานมากว่า 20 ปี พร้อมทั้งกรอบความร่วมมือนี้ ถือเป็นความตกลงของคนไทยทุกคน และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะส่งเสริมความร่วมมือ และเรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ และเพิ่มโอกาสในการถ่ายทอดองค์ความรู้จากสหภาพยุโรปในประเด็นที่สหภาพยุโรป รวมทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีความเเชี่ยวชาญ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของคนไทย ระบบจัดการในประเทศไทยให้ประเทศไทยมีความทันสมัย และเป็นประโยชน์แก่ประเทศ และประชาชนไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม  

นายมาริษ ย้ำว่า การลงนามร่างกรอบความตกลง PCA ครั้งนี้ ได้ดำเนินการมาอย่างยาวนานแล้ว และดำเนินการอย่างรอบคอบ ซึ่งการที่สหภาพยุโรป ต้องการมีความร่วมมือกับประเทศไทยครั้งนี้ สะท้อนว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับประเทศไทย และเห็นคุณค่าในการมีความร่วมมือกับสหภาพยุโรปเป็นการเฉพาะ เพราะแม้อาเซียน มีความร่วมมือกับยุโรป แต่ก็ไม่ใช่ในรูปแบบ PCA และยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน รวมถึงสหภาพยุโรปเอง ก็ไม่ได้ต้องการให้ประเทศสมาชิกในอาเซียน หรือทุกประเทศในโลกทำความตกลง PCA กับยุโรป ดังนั้น จึงยืนยันว่า กรอบความตกลง PCA ฉบับนี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับประเทศไทย และต้องยกระดับความร่วมมือกับประเทศไทยให้สูงมากยิ่งขึ้น เป็นยุทธศาสตร์ร่วมกันระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป

ส่วนข้อกังวลจะเกิดการกีดกันทางการค้าหากไทยไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีอยู่นั้น นายมาริษ ชี้แจงว่า แม้จะไม่มีกรอบความร่วมมือ PCA สหภาพยุโรป ก็สามารถใช้มาตรการฝ่ายเดียว บีบบังคับประเทศไทยได้ แต่กรอบความร่วมมือ PCA จะกำหนดให้ไทย และสหภาพยุโรป มีองค์กรร่วม หรือ Joint Committee เพื่อหาทางออกเมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีข้อจำกัด หรือปัญญาหาเกิด ซึ่งเป็นการนำความเห็นต่างที่เกิดขึ้นทั้งหมด มาสู่การเจรจา เพื่อทำความเข้าใจ และลดแรงกดดันที่ประเทศไทยจะถูกสหภาพยุโรปกดดัน ซึ่งกลไกลคณะกรรมการร่วมนี้ จะเป็นช่องทางสื่อสารสำคัญในประเด็นที่มีความห่วงกังวล หรือประเด็นความขัดแย้ง เพื่อหาทางออกสำหรับ 2 ฝ่าย นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรม และศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับสหภาพยุโรป

ส่วนความห่วงกังวลต่อร่างกรอบความร่วมมือ PCA ต่อประเด็นการประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU นั้น นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า กลไก PCA นี้ไม่ได้สร้างเงื่อนไขให้ประเทศไทยให้มากขึ้น แต่จะเป็นกลไกที่ช่วยสนับสนุนระหว่างไทย กับสหภาพยุโรป ในการบริหาร และอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และเป็นเวทีที่ทำให้ประเทศไทย ได้สื่อสารกับสหภาพยุโรปได้มากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจ และลดความห่วงกังวลระหว่างกันได้

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับปฏิญญาร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางกฎหมาย ที่จะไม่มีโทษประหารชีวิต หรือการขออภัยโทษโทษประหารชีวิตนั้น ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่า นโยบายในแง่ภาพรวม ประเทศไทยได้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การยุติโทษประหารชีวิตเป็นลำดับ ตามแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สำหรับความผิดที่ไม่เข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรงที่สุด

โดยสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่ต่างอภิปรายให้การสนับสนุนร่างกรอบความตกลง PCA ฉบับนี้ เพราะจะเป็นการกอบกู้เกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีของประเทศ และการสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปนี้ ถือเป็นความสัมพันธ์พิเศษในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และเป็นโอกาสของภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะโอกาสการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และจะทำให้ประเทศไทย ต้องมีการปรับกฎหมายต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย ซึ่งประชาชนได้ผลพวงจากการค้าการลงทุนที่มากขึ้น เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ พร้อมยังสนับสนุนให้ประเทศไทย ลงนามในร่างกรอบความตกลง PCA ฉบับนี้ เนื่องจาก 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้ลงนามกรอบความร่วมมือกับยุโรปไปแล้ว ทั้งฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเซีย ดังนั้น กรอบความร่วมมือ PCA ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชน และประเทศไทยในระยะยาว เพราะถือเป็นการลงนามในสัญญาเพียงฉบับเดียว แต่สามารถยกระดับความสัมพันธ์ และความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในยุโรปได้ถึง 27 ประเทศ และจะเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้ประเทศไทย สามารถสร้างดุลยภาพทางภูมิรัฐศาสตร์บนเวทีโลกได้ จากการแบ่งขั้วของมหาอำนาจ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ-การเมือง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ รวมทั้งจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การเจรจาระหว่างไทย-ยุโรป บรรลุผลราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น หลังชะงักมากว่า 10 ปี และยังมั่นใจว่า ร่างกรอบความตกลง PCA ฉบับนี้ จะช่วยให้ประเทศไทย มีกฎหมายที่แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงานข้ามชาติ ป้องกันไม่ให้บุคคลสูญหาย และทำให้ประเทศไทย มีความคืบหน้าด้านสิทธิมนุษยชน ขจัดการเลือกปฏิบัติกับสตรี รวมถึงจะทำให้ประเทศไทย ได้รับประโยชน์ทั้งด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนส่วนรวม โดยขอให้รัฐบาลได้ระมัดระวังปัญหาที่จะติดตามมาในการปฏิบัติ เช่น การกำหนดเงื่อนไขสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องไม่มีการละเมิดกรอบความตกลง ที่มีเงื่อนไข 4 ข้อที่เมื่อ PCA มีผลใช้บังคับแล้ว ประเทศไทย จะต้องไม่มีการละเมิดหลักการการเคารพประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการไม่เปิดเผยอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง เพราะมิเช่นนั้น สหภาพยุโรป อาจระงับการบังคับใช้กรอบความตกลง PCA ฉบับนี้ได้  





คุณอาจสนใจ

Related News