เลือกตั้งและการเมือง

‘ศรีสุวรรณ’ จี้ กกต.เร่งนำคำวินิจฉัยศาล รธน. สอบ ‘ภูมิใจไทย’ ต้องยุบพรรคหรือไม่

โดย chutikan_o

24 ม.ค. 2567

41 views

‘ศรีสุวรรณ’ จี้ กกต.เร่งนำคำวินิจฉัยศาล รธน. สอบพรรคภูมิใจไทยต้องยุบพรรคหรือไม่ เหตุรับเงินจาก หจก.ที่ ‘ศักดิ์สยาม’ เป็นหุ้นส่วน และเงินมีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย


วันนี้ (24 ม.ค.67) เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อให้เร่งตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 17 ม.ค.67 มาไต่สวนว่าการรับเงินบริจาคจากบริษัทที่เป็นนอมินีของนายศักดิ์สยาม เลขาธิการพรรค โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้าข่ายฝ่าฝืน ม.72 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองหรือไม่


ทั้งนี้ สืบเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ 7 ต่อ 1 วินิจฉัยให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รมว.คมนาคม พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเนื่องจากซุกหุ้น หรือฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ม.187 ประกอบ พ.ร.บ.การจัดการหุ้นส่วน และหุ้นส่วนของรัฐมนตรี 2543 มาตรา 4(1) ทำให้ตำแหน่งรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ ม.170 วรรค 1 (5) แล้วนั้น




แต่เนื่องจาก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ ม.211 วรรคสี่ ประกอบ ม.5 ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่า ช่วงเวลาภายหลังนายศักดิ์สยามโอนหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ให้นายศุภวัฒน์ถือครองแทนนั้น หจก.ดังกล่าวมีการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินให้กับพรรคภูมิใจไทย ที่มีนายศักดิ์สยามดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคหลายต่อหลายครั้ง


ในยุคที่นายศักดิ์สยาม เป็น รมว.คมนาคม อยู่นั้น หจก.บุรีเจริญฯ ก็รับประมูลงานของกระทรวงระหว่างปี 2562-2564 รวม 104 โครงการมูลค่า 1,568 ล้านบาท จะถือเป็นการได้ประโยชน์จากการก่อสร้าง หรือประมูลงานจากรัฐ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาดังกล่าว อาจถือได้ว่าต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม.184 และ ม.185 และหรือ ม.186 อันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อาจเข้าข่ายต้องห้ามตาม ม.66 วรรคสอง รวมทั้งฝ่าฝืน ม.72 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ที่ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า กรณีดังกล่าวจะถือว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่


กรณีดังกล่าว จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมืองและ กกต.ที่จะต้องเร่งดำเนินการไต่สวนหรือสอบสวนให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว และหากวินิจฉัยว่าฝ่าฝืนให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งลงโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปีและเป็นเหตุให้พรรคดังกล่าวถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคได้ ตาม ม.92(3) ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560

คุณอาจสนใจ

Related News