เลือกตั้งและการเมือง
‘อัครนันท์’ หนุนงบฯ “ซอร์ฟพาวเวอร์” โดยเฉพาะด้านหนัง-ซีรีย์ ชี้ สร้างรายได้มหาศาล
โดย attayuth_b
4 ม.ค. 2567
51 views
วันนี้ (4 ม.ค.)นายอัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ ส.ส.กาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 67 ว่า ถ้าวันนี้งบแผ่นดินเปรียบเหมือนค่าใช้จ่ายที่คงที่ ในการจ้างบุคลากร มันก็คงจะลดมากกว่านี้ไม่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ เราจะบริหาร คน และ งบตัวนี้ยังไงเพื่อให้เศรษฐกิจโตขึ้น งบใช้จ่ายยังไงให้รายได้มากขึ้น หนึ่งในวิธีการใช้งบประมาณที่มีศักยภาพของรัฐบาลคือ นโยบาย Soft Power ซึ่งมองว่าสำคัญและเป็นประโยชน์แน่นอน “Soft power” คำนี้อาจจะใหม่สำหรับใครบางคน และหลายคนก็ดูไม่ค่อยเข้าใจกับคำนี้ และก็พยายามโจมตีว่า เป็นงบแค่เพียงจัดอีเว้นท์ เหมือนเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ซึ่งตนมองต่าง เพราะงบฯนโยบาย Soft Power แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. OFOS หนึ่งครอบครัวหนึ่งศักยภาพซ่อนเร้น Reskill Upskill หรือพูดง่ายๆ คือ งบนี้เอาไว้พัฒนาคน และ 2. THACCA พัฒนา อุตสาหกรรม 11 สาขา ซึ่งวันนี้ตนขออภิปรายสนับสนุนงบ Soft Power โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งบที่สนับสนุน อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ หากวันนี้ท่านเปิดดู Netflix ใน top 10 TV show คือ หนังและซีรีส์ของเกาหลี นี้คือหลักฐานง่ายๆ ที่บ่งบอกว่า เกาหลีประสบความสำเร็จในการนำวิถีชีวิต และวัฒนธรรมเกาหลีส่งออกไปสู่สายตาได้อย่างแนบเนียน รวมถึงอุตสาหกรรมเพลงและดนตรีเกาหลีด้วย ทั้งที่เขาเองใช้ภาษาเกาหลี ซึ่งไม่ใช่ภาษาหลักของโลกใบนี้ แต่เขาถึงกลายเป็น “Global influencer” ระดับโลกแบบนี้ได้ เพราะรัฐบาลเกาหลีให้การสนับสนุน
นายอัครนันท์ กล่าวว่า ทราบหรือไม่ว่า การสร้างซีรีส์ดีๆ เรื่องหนึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น Pre Production, Production และ Post Production ล้วนต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตก็ไม่มีทุนมากในการสร้าง ขณะที่บ้านเราทุกวันนี้ขนาดเอกชนต่อสู้กันลำพัง มูลค่าตลาดภาพยนตร์ยังสูง ถึง 34,075 ล้านบาท ส่วนมูลค่าตลาดละคร ซีรีส์ และโฆษณา ยังมากถึง 226,832 ล้านบาท ท่ามกลางการแข่งขัน content ที่สูง เพราะเราต้องแข่งกับอีกหลายประเทศในเอเชีย หากรัฐบาลยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพวกเขา เราจะไปได้ไกลกันอีกแค่ไหน ดังนั้น ตนคิดว่างบประมาณที่ใช้สนับสนุน Soft Power นอกจากการส่งออกแล้ว ประเทศเรายังพึ่งการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ท่องเที่ยวอย่างไรให้คนที่มาเที่ยวใช้เงินให้มากขึ้นจากเดิม นี่คือคำถามที่เราต้องหาคำตอบให้ ซึ่งตนเห็นว่า สังคมปัจจุบัน LGBTQ เข้ามามีบทบาทอย่างมากในอุตสาหกรรมบันเทิง และซีรีส์วายกลายเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ทำเงินมูลค่าหลาย 10,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ตนขอยกตัวอย่างซีรีส์วายของไทยเรื่อง “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ที่ใช้ Location ถ่ายทำ ใน จ.ภูเก็ต ทำให้แฟนซีรีส์ตามรอยเดินทางไปท่องเที่ยวยังที่เหล่านั้นจำนวนมาก ทั้งยังมีการสอดแทรก ขนมหวานที่ชื่อว่า ”โอ้เอ๋ว” เข้าไปในซีรีส์ และในฐานะที่ตนเป็น ส.ส. กาญจนบุรี จังหวัดที่เป็นเมืองรอง ตนก็อยากให้ซีรีส์วายไปถ่ายทำที่เมืองกาญจนบุรี เพื่อหวังว่า จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับพี่น้องคนเมืองกาญจน์ จะได้ค้าขายดีเช่นกัน
“ผมคิดว่า งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ กว่า 500 ล้านบาทสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์รวมไปถึง งบประมาณ Soft Power อีก 10 สาขา ไม่เยอะเกินไปเลย หากเทียบกับสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับจากขายของ ส่งออกสินค้าและบริการ และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และต่อให้หลายคนติงว่า งบฯ Soft Power เน้นการจัด Event ตนก็ไม่เห็นว่าจะเสียหายตรงไหน เพราะการจัด Event ก็คือกิจกรรมส่งเสริมการขายรูปแบบหนึ่ง เป็นกลยุทธ์การตลาดในการเอาของดีบ้านเราส่งถือมือลูกค้า ต่อให้คุณมีสินค้าดี แล้วไม่โปรโมท แล้วเราจะขายของได้ไงครับ สุดท้ายนี้ Soft Power คือ วิถีอันทรงพลังที่ทำให้ชาวโลกหลงใหลในเสน่ห์ของบ้านเรา จนยอมซื้อสินค้า และมาเที่ยวบ้านเรา โดยไม่ต้องบังคับ Soft Power จึงเป็นนโยบายที่ส่งเสริม ให้คน “สร้างเงิน จากสมอง และสองมือ” ครับ” นายอัครนันท์ กล่าว
แท็กที่เกี่ยวข้อง ซอร์ฟพาวเวอร์ ,สร้างรายได้ ,อัครนันท์กัณณ์กิตตินันท์