เลือกตั้งและการเมือง

‘ก้าวไกล’ ตั้งกระทู้ถามสดนายกฯ จี้ปัญหาเด็กใส่เครื่องแบบขายนมเปรี้ยวกลางสี่แยก

โดย chutikan_o

19 ต.ค. 2566

127 views

‘ณัฐวุฒิ’ ตั้งกระทู้ถามสดนายกฯ จี้ปัญหาเด็กใส่เครื่องแบบขายนมเปรี้ยวกลางสี่แยก ถามทำได้หรือไม่ ดักทางนานาชาติจับตา ‘วราวุธ’ ตอบแทน ทำไม่ได้ ย้ำกำชับ พม.ทำงานเชิงรุก บูรณาการร่วมหลายหน่วยงาน ยินดีฝ่ายค้านเสนอทางออก

วันนี้ (19 ต.ค. 2566) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระกระทู้ถามสด นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นตั้งประทู้ถามสดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยมีนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นผู้ตอบแทน

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ตั้งใจจะถามนายกรัฐมนตรี เพราะนั่งเป็นประธานบอร์ดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แห่งชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ก็ต้องขอขอบคุณ เขาได้ส่งคนไปดูตามสี่แยกจังหวัดต่างๆ พบว่ามีการขายที่หลากหลาย ทั้งพวงมาลัย กล้วยแขก รวมไปถึงบริการเช็ดกระจก แต่ประเด็นที่กังวลได้ที่สุด คือเรื่องการขายนมเปรี้ยว ซึ่งเกิดขึ้นตามบริเวณถนนถึงสี่แยก ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่ดั้งเดิม แต่เพิ่งเกิดขึ้นหลังสถานการณ์โควิด พบว่ามีความสัมพันธ์กับความยากจน เรื่องการที่เด็กๆ จะต้องไปโรงเรียน เรื่องความปลอดภัยอื่นๆ ของผู้ใช้ถนน

“การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เด็กทำด้วยตัวเอง หรือมีบุคคลอื่นเป็นผู้จ้างวาน หรือให้เด็กเป็นคนกระทำ เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามว่าเราใช้แรงงานเด็ก นานาอารยประเทศเขาก็จับตาดูว่าสถานะของประเทศไทยอยู่ในเทียร์ไหน” นายณัฐวุฒิกล่าว

นายณัฐวุฒิ ยกตัวอย่างบ้านตนเองที่จังหวัดอ่างทองที่เด็กที่มาขายนมเปรี้ยว โดยใช้เวลาปิดเทอมมาขาย เนื่องจากเป็นหัวหน้าครอบครัว คำถามคือเด็กและเยาวชนสามารถขายได้หรือไม่ สามารถใส่เครื่องแบบนักเรียนมาขายได้หรือไม่ สรุปเป็นการมาโดยสมัครใจ หรือมีบริษัท 4-5 บริษัท ตัวแทนจำหน่ายที่อยู่ในระดับภูมิภาคหรือจังหวัดใช้หรือจ้างวานให้มาขายหรือไม่

“รัฐมนตรีมีลูก ผมเองก็มีลูกเล็ก สิ่งที่อยากให้ลูกเราได้รับคือการเข้าศึกษา แต่เห็นหรือไม่ว่าเด็กจำนวนไม่น้อยในประเทศไทย ต้องเข้าสู่การทำงานเร็ว… เราจะไปตอบประเด็นเรื่องแรงงานเด็กเรื่องการค้ามนุษย์ได้อย่างไร” นายณัฐวุฒิ กล่าว

จากนั้น นายวราวุธ กล่าวว่า อัตราเด็กเกิดใหม่น้อยลง ทำให้ประเทศไทยในวันนี้กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ต้องเรียกว่าปัญหาที่ได้กล่าวมานั้น ทราบดีว่านายณัฐวุฒิทำประเด็นเรื่องเด็กและเยาวชนมาเนิ่นนานพอสมควร ซึ่งคงทราบว่ากระทรวงรับทราบถึงปัญหาที่มีขึ้น ในขณะนี้ มีการดำเนินการถึงมาตรการหลายส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรมกิจการเด็กและเยาวชน เป็นหน่วยงานเชิงนโยบาย และได้กำชับให้ทำงานเชิงรุก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในสังกัดใดต้องไปดูการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

นายวราวุธ กล่าวว่า มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายบนพื้นที่การจราจรอยู่ 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กปี 2546 และ พ.ร.บ.การจราจรทางบกปี 2522 ซึ่งการเรี่ยไรค้าขายบนผิวจราจรถือว่าไม่สามารถทำได้ ในระยะสั้นเขาเพิ่งเข้ามาทำงานก็ได้กำชับให้ไปดูที่จังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนพื้นที่อื่นกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้ประสานงานกับทุกหน่วยงานและบริษัทนมเปรี้ยวแล้ว เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งบางบริษัทก็ต้องประชุม เพราะบริษัทนั้นมีแนวทางในการกระจายขายโดยที่ไม่ได้ใช้เด็กอยู่แล้ว

ที่ผ่านมาทางกระทรวงได้จัดหาพื้นที่ให้กับเด็กและเยาวชนได้หารายได้เสริม 33 จังหวัด 127 แห่ง นอกจากนี้ ยังได้มีบริษัทนมเปรี้ยวรายใหญ่ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังตัวแทนการขายของบริษัทตนเอง ย้ำว่าขอให้ยกเลิกการใช้เด็กและเยาวชนเป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ซึ่งหากฝ่าฝืนก็จะมีอยู่ในเงื่อนไขว่าบริษัทจะลงโทษโดยลดปริมาณสินค้าหรือยกเลิกตัวแทนการขาย นอกจากนี้ยังจัดให้ความรู้กับผู้ปกครองเรื่องกฎหมายคุ้มครองเด็กเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กถูกบังคับใช้แรงงาน หรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทุกรูปแบบ

นายวราวุธ กล่าวต่อว่า ส่วนในระยะยาว เสนอให้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ให้มีเงื่อนไขให้เหมาะสม ตามสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น เช่น การว่าจ้างเด็ก แม้จะเป็นพ่อแม่ก็ไม่ควร หรือแม้แต่จะต้องมีการหาประโยชน์ใดๆจากเด็กนั้น พ่อแม่เองจะต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย ในการเฝ้าดู ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพิจารณา

จากนั้นนายณัฐวุฒิ ถามต่อว่า ตอนนี้ยกร่าง พ.ร.บ.เด็กเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยากให้ส่งร่าง พ.ร.บ.เด็กที่เสร็จเรียบร้อยแล้วประเดิมสภาก่อนจะประชุมสมัยหน้า เอา พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กมาพิจารณาเป็นฉบับแรก เพราะแก้เสร็จแล้ว ซึ่งคำถามที่ 2 คือ 77 จังหวัดทั่วประเทศยังมีการขายอยู่ ซึ่งส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของเด็ก เรื่องนี้เป็นบทสะท้อนความยากจน ซึ่งตามสถิติเรามีผู้ว่างงานเป็นจำนวนมาก และมีเด็กอยู่ในครอบครัวของผู้ว่างงาน ถือเป็นความยากจนทับซ้อน ทำให้เด็กหยุดขายไม่ได้ ระบบคุ้มครองเด็กหายไปไหน ไม่จำเป็นต้องรอวงเวียนชีวิตหรือคนมาแจ้ง รวมถึงต้องรอเงินอุดหนุนเด็ก วันนี้ระบบที่ผ่านชุมชน ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น หายไปไหน ในเมื่อรัฐมนตรีมีเจตจำนง ข้าราชการพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ และสภาก็มีเจตจำนงเช่นเดียวกัน ขอถามว่าถ้าเช่นนั้นรัฐบาลเองจะมีนโยบายมีแผนให้เห็นเป็นรูปธรรม รวมถึงแนวทางมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาไม่ให้เด็กเหล่านี้ไปขายสินค้าหรือบริการต่างๆ บริเวณสี่แยกหรือท้องถนนได้อย่างไร เพราะเด็กรอไม่ได้แม้แต่วันเดียว

นายวราวุธ ลุกขึ้นชี้แจงว่า ในส่วนของกระทรวง ได้ใช้สารสนเทศมาช่วยแล้ว โดยจัดตั้งเป็นศูนย์ ที่ผ่านมาได้คัดกรองกลุ่มเสี่ยงแล้ว หากไม่ดีควรจะรีบกลับมาปรับปรุงแต่หากดีเราอยากให้ทำงานเพิ่มเราก็ยินดี เราจะจัดให้มีสวัสดิการเด็กและเยาวชนสำหรับครอบครัวยากจน รวมถึงค่าเลี้ยงดูบุตรสำหรับครอบครัวอุปถัมภ์ที่รับเด็กไปเลี้ยง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับหัวหน้าครอบครัว รวมถึงการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ หรือครอบครัวบุญธรรมที่เหมาะสม และจัดสวัสดิการให้สถานรับรองเด็ก

นายวราวุธ กล่าวว่า ส่วนในระยะยาวจัดให้กระทรวงตั้งคณะกรรมการเพื่อมาศึกษาเกี่ยวกับสารอาหาร มีการติดต่อไปยังสำนักงบประมาณ ส่วนการทำงานเชิงรุกที่เป็นรูปธรรม เมื่อวานได้ไปเห็นชุมชนรถไฟ ได้เห็นปัญหาหลายอย่างก็จะนำหลายหน่วยงานมาบูรณาการร่วมกัน

พร้อมย้ำว่าจะมีการส่งเสริมกิจกรรมในครอบครัวให้มากขึ้น รวมถึงระบบคุ้มครองเด็กให้มีความพร้อมในการทำงานเชิงรุก และมีการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ทำให้กระทรวงจะมีการจัดตั้งศูนย์เด้งและสวัสดิการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.)

ส่วนเรื่องร่าง พ.ร.บ.เด็ก ก็ยินดีหากมีการเสนอ คิดว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี หากได้รับคำเสนอแนะจากฝ่ายค้าน เพื่อให้ พ.ร.บ.นี้สมบูรณ์ที่สุดและเร่งเสนอต่อสภาในสมัยการประชุมหน้า

คุณอาจสนใจ

Related News