เลือกตั้งและการเมือง

ดรามา! กว่าจะถึงงาน รำลึก 30 ปี “พฤษภาทมิฬ” ปมร้อน เชิญ “บิ๊กป้อม” มองต่างมุม หรือ ไม่เคารพเจตนารมณ์

โดย thichaphat_d

16 พ.ค. 2565

83 views

ดรามากว่าจะถึงงาน รำลึก 30 ปี “พฤษภาทมิฬ” ปมร้อน เชิญ “บิ๊กป้อม” มองต่างมุม หรือ ไม่เคารพเจตนารมณ์



การเคลื่อนไหวของประชาชนผู้ต่อต้านการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (รสช.) นำไปสู่เหตุการณ์การปราบปรามผู้ชุมนุม 17 – 21 พฤษภาคม 2535 เหตุการณ์ความรุนแรง ที่มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหายจำนวนมาก เป็นการสูญเสียที่นำมาซึ่งความเป็นประชาธิปไตย

ในวาระครบรอบ 30 ปี มูลนิธิพฤษภาคมประชาธรรม ร่วมกับคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และเครือข่ายประชาธิปไตยหลายภาคส่วน จัดงาน “30 ปี พฤษภาประชาธรรม” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ และร่วมทบทวนบทเรียนจากความสูญเสีย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาประชาธิปไตย และหยุดยั้งการรัฐประหาร ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย


ดราม่าบังเกิด เปิดชื่อเชิญ “บิ๊กป้อม – อภิสิทธิ์”

จากวัตถุประสงค์ที่ว่ามา ก็ดูเหมือนกิจกรรมดังกล่าวจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา หลังจากที่มีการแถลงข่าวการจัดงานรำลึกดังกล่าว และมีการเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่จะเชิญมาร่วมงาน ในวันที่ 17 พฤษภาคม และเมื่อปรากฎชื่อของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าร่วมงาน ทำให้มีบางส่วนไม่พอใจ และแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการเชิญดังกล่าว


“สมัชชาคนจน” นำทีมค้าน

หนึ่งในนั้นคือ “กลุ่มสมัชชาคนจน” โดย นายบารมี ชัยรัตน์ ได้เผยแพร่แถลงการณ์ ประณามการบิดเบือนเจตนารมณ์ ของวีรชนเดือนพฤษภาฯ 35 โดยเนื้อหาระบุถึงการไม่เห็นด้วยต่อการเชิญ บุคคล ที่เป็นหนึ่งในรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจจากการรัฐประหาร 2557 และมีส่วนในการปราบปรามประชาชนคนเสื้อแดงที่เรียกร้องประชาธิปไตย โดยมองว่า หากทั้งสองมาร่วมงาน ก็ถือเป็นการไม่ให้เกียรติคุณค่า ความเสียสละชีวิตของวีรชน ทั้งนี้ มีบุคคลจากแวดวงต่าง ๆ ร่วมลงนามท้ายแถลงการณ์ 88 ราย และมีผู้แสดงความประสงค์ร่วมลงชื่ออย่างต่อเนื่อง

ด้าน “เครือข่ายประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ก็ได้เชิญชวนให้ร่วมลงชื่อ เพื่อเรียกร้องให้ นักวิชาการจากต่างชาติ งดเข้าร่วมการรำลึกวีรชนพฤษภาฯ 35 และงดร่วมกิจกรรมในเวทีดังกล่าว โดยแจ้งไปยังเพื่อนนักกิจกรรม นักต่อสู้ และนักวิชาการ ว่าผิดหวัง และจำเป็นที่ต้องขอร้องให้งดการเข้าร่วมกิจกรรมในวันดังกล่าว เนื่องจากมีผู้ร่วมงานบางท่าน มีจุดยืนต่อต้านประชาธิปไตย และหลายคนมีส่วนร่วมในการสังหารประชาชนในการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2553

หลังจากมีแถลงการณ์ และข้อเรียกร้องต่าง ๆ ออกมา ทำให้นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวบางส่วน ขอถอนตัวจากการร่วมงาน รำลึกครบรอบ “30 ปี พฤษภาประชาธรรม” เนื่องจากมองว่า การเชิญผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งในการปราบปรามประชาชน และโค่นล้มระบอบประชาธิปไตย เป็นพฤติกรรมการเมืองที่เลวร้าย และบิดเบือนเจตนารมณ์ของผู้สูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว


คณะกรรมการจัดงานยอมถอดชื่อ “บิ๊กป้อม”

นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องเข้าใจผิด จากข้อมูลฉบับร่าง เป็นระบุรายชื่อบุคคลที่จะเชิญมาตามโครงสร้างของงาน โดยความคิดแรกในการเชิญพลเอกประวิตรมา เนื่องจาก คุณอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 มองว่า ไม่ควรเชิญพลเอกประยุทธ์ นายกโดยตำแหน่งมาร่วมงาน เนื่องจากประชาชนออกมาขับไล่จำนวนมาก จึงมีการปรับเปลี่ยนเป็นพลเอกประวิตร

“ตั้งแต่ปี 2546 ที่มีการจัดงาน “พฤษภาประชาธรรม” ได้เชิญทุกฝ่ายมารำลึก สรุปบทเรียนความขัดแย้งร่วมกัน มีตัวแทนจากกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาร่วมทุกปี แต่ปีนี้ หลังจากมีกระแสต่อต้าน ก็ได้มีการปรับกำหนดการล่าสุด ให้ไม่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ แล้ว และก็ไม่ทราบว่าจะมีใครมาแทน เนื่องจากทุกปี ฝั่งรัฐบาลเองก็แทบจะไม่มีใครมาอยู่แล้ว”

“ส่วนที่มีรายชื่อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ยังคงยึดตามเดิม เนื่องจากเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 เช่นเดียวกันกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ คุณจตุรงค์ ฉายแสง คุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ หรือ คุณจตุพร พรหมพันธุ์ เหล่านี้ก็ล้วนแต่มาร่วมงานด้วยเกือบทุกปี” นายเมธา กล่าว

นายเมธา กล่าวถึงประเด็นที่มีการกดดันวิทยากรจากต่างประเทศ ทำให้หลายส่วนถอดใจ ว่า มีการปรับให้ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานได้ เข้าร่วมเสวนาในรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบโปรแกรม Zoom ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ ยังไม่เปิดเผยรายชื่อของวิทยากรต่างประเทศ เนื่องจากเกรงว่า จะถูกรัฐบาลไทยปิดกั้นการเดินทางเข้ามาเสวนาเรื่องการเมืองและประชาธิปไตย แต่ในตอนนี้ ได้มีการเปิดเผยรายชื่อผู้เข้าร่วมเสวนา ที่หน้าเพจเฟซบุ๊ก Black May 1992 People's Uprising in Thailand แล้ว ถึงกระนั้น ก็ยังต้องคอยอัปเดตข้อมูลรายชื่ออยู่ทุกวัน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ


แจงต้องการให้ทุกฝ่ายร่วมสรุปบทเรียน

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สร้างความตกใจให้ญาติของวีรชนอยู่ไม่น้อย เนื่องจากต้องการให้ทุกฝ่ายทั้งไทยและต่างประเทศมาร่วมสรุปบทเรียน บางคนถึงกับพูดว่า เขาจะมาปิดกั้น การที่ทุกคนจะได้เรียนรู้เหตุการณ์พฤษภาฯ 35 หรือมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สำคัญแบบนี้ได้อย่างไร เพราะคนที่ตกนรกทั้งเป็น และผู้ที่ได้รับบาดแผลจากเหตุการณ์ ส่วนใหญ่ล้วนเป็นญาติของวีรชนที่ครอบครัวเสียชีวิต และสูญหายทั้งสิ้น แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะเกิดจากความเข้าใจผิด และเราได้มีการชี้แจงไปแล้ว”

ตามมติครมเมื่อ 30 ธันวาคม 2546 ได้ประกาศให้วันที่ 17 พฤษภาคมเป็น วันพฤษภาคมประชาธรรม หมายความว่ารัฐบาลต้องจัดงานรำลึกเหตุการณ์ พฤษภาฯ 35 ทุกปี และจัดเป็นรัฐพิธี แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ารัฐเอง โยนความรับผิดชอบนี้ให้กับทางกรุงเทพฯ ให้เป็นฝ่ายจัดงาน ร่วมกับมูลนิธิพฤษภาและญาติวีรชน และกลายเป็นว่าทางคณะกรรมการ ต้องเป็นฝ่ายไปเชิญตัวแทนรัฐบาลให้มาร่วมงาน


“พิภพ ธงไชย” ย้ำ 30 ปี ผ่านไป ยังไร้การเหลียวแล

นายพิภพ ธงไชย ประธานที่ปรึกษากรรมการญาติวีรชน ย้ำว่า ในการจัดงานทุก ปีจะต้องมีการเชิญนายกรัฐมนตรีมาร่วมด้วย ซึ่งเชิญมาตลอดระยะเวลา 30 ปีที่จัดงานมา เนื่องจากเป็นการเชิญในตำแหน่งและหน้าที่ ส่วนจะมอบให้ใครมาก็อีกเรื่อง แต่ปกติแล้วนายกรัฐมนตรีก็ไม่เคยมา และมักจะมอบให้คนอื่นมาอยู่เสมอ

ประธานที่ปรึกษากรรมการญาติวีรชน กล่าวถึงการที่มีบางส่วน ออกมาเรียกร้อง ไม่เห็นด้วยกับการเชิญผู้ร่วมงานอย่าง พลเอกประวิตร และนายอภิสิทธิ์ ว่า การเคลื่อนไหวในครั้งนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่คนรุ่นใหม่จะแสดงความรู้สึกไม่เห็นด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ที่จะแสดงความรู้สึกออกมา แต่ขอชี้แจงว่าไม่ได้เชิญคุณประวิตร มาในฐานะส่วนตัว เราเชิญนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่อยู่ จึงเชิญคุณประวิตร ที่เป็นรักษาการแทนนายกรัฐมนตรีตามตำแหน่งมา และได้ย้ำว่า “ไม่มีอะไรอย่าไปคิดมาก”

“การที่มองว่าการเชิญพลเอกประวิตรมา เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของวีรชนนั้น เราต้องแยกแยะกันก่อน ระหว่างหลักการทางการเมือง และงานตามตำแหน่ง มูลนิธิญาติวีรชนเอง ต่อต้านรัฐประหารมาตลอด 30 ปี เราทำงานโดยคำนึงถึงวีรชนที่เสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ ผมเข้าใจความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เห็นด้วย และจะต้องมีท่าทีเป็นกบฏแบบนี้ มันเป็นสิทธิและเสรีภาพของเขา แต่คนรุ่นใหม่ รวมถึงสังคมไทย ก็ควรเข้าใจเราด้วย”

“เราควรจะรู้สึกกับรัฐบาลทหาร รวมทั้งรัฐบาลประชาธิปไตย ว่าที่ผ่านมา ไม่เคยเหลียวแล ญาติวีรชนพฤษภาฯ 35 หรือญาติวีรชน 14 ตุลาฯ เลย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากฝั่งไหนก็ล้วนแต่เป็นคนใจจืดใจดำไม่ได้สนใจประชาชนที่เสียชีวิต บาดเจ็บล้มตายในการต่อสู้ ตรงนี้ต้องร่วมกันเข้าใจ และคนรุ่นใหม่ก็ต้องมาร่วมกันต่อสู้ด้วย” นายพิภพ กล่าว

เมื่อถามถึงแนวทางการจัดงาน “รำลึก พฤษภาฯ 35” ว่า จะทำอย่างไร ให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับเหตุการณ์นี้มากขึ้น พิภพธงไชย เปิดใจกับเราว่า ที่ผ่านมา ในการจัดงานพฤษภา 35 แทบทุกปี มีคนมาร่วมงานไม่กี่ร้อยคน แตกต่างจากงานรำลึกเหตุการกวางจู ที่ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ผู้คนให้ความสำคัญร่วมเดินขบวนจำนวนมาก มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ และมีประธานาธิบดีเข้าร่วมงาน แต่ในไทย เมื่อรัฐบาลไม่ให้ความสำคัญ ก็เป็นไปได้ยากที่จะทำให้งานออกมายิ่งใหญ่

“ขอถามหน่อยว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่เราจัดงานพฤษภาฯ 35 ในบางครั้งทำไมคนมาร่วมงานไม่ถึงร้อย ก็ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหน ก็ไม่เคยให้ความสนใจกับเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 เลย ถ้าถามว่าจะทำอย่างไรให้งานยิ่งใหญ่ ในเมื่อเราไม่เคยให้สถานีโทรทัศน์ถ่ายทอดสด แล้วจะไปยิ่งใหญ่ได้อย่างไร แม้แต่การเชิญนายกรัฐมนตรีมาร่วมงาน เราเชิญไปทุกปี แต่ก็ส่งแค่ตัวแทนมา พูดแล้วก็ปวดใจ”

30 ปีที่ผ่าน เหตุการณ์ทวงคืนประชาธิปไตยจากอำนาจรัฐเผด็จการ พฤษภาฯ 35 ความกล้าหาญ และความสูญเสีย ยังคงชัดเจน สำหรับคนเดือนพฤษภาฯ และญาติวีรชน แต่สำหรับสังคมไทย ดูเหมือนจะเลือนรางลงไปทุกที หากรัฐยังเพิกเฉย และไม่ให้ความสำคัญ สักวันคนคงลืมเรื่องนี้ไป ไม่รู้ว่าเป็นความเลินเล่อของรัฐ หรือความตั้งใจ เพื่อให้เหตุการณ์ถูกลืมเลือน

คุณอาจสนใจ

Related News