เลือกตั้งและการเมือง

โปรดรับฟังเสียงสาธารณชน! อ.ปริญญา ขอ ‘ศาล รธน.’ อธิบายเหตุผลคดี ‘ธรรมนัส’ให้คนสิ้นสงสัย

โดย JitrarutP

11 พ.ค. 2564

427 views

จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ชี้ว่าคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส. และรัฐมนตรี ของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ที่เคยต้องโทษคดียาเสพติด เมื่อปี 2537 ในประเทศออสเตรเลีย ยังสามารถดำรงตำแหน่งได้ต่อไปได้เพราะไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย นั้น ประเด็นนี้อาจสวนทางกับความร็สึกขิงใครหลายคน เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ของไทย กำหนดลักษณะต้องห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาในคดียาเสพติดสามารถตำแหน่งทางการเมืองได้




คำวินิจฉัยไม่สอดคล้องกฎหมายอาญา


ในมุมมองทางกฎหมาย “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองประเด็นที่ศาลชี้ว่าการต้องคำพิพากษาซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงแหน่งทางการเมืองนั้น ไม่รวมถึงการต้องคำพากษาของศาลต่างประเทศ ถือเป็นประเด็นที่ยังมีเหตุผลไม่สอดคล้องกับระบบกฎหมายอาญาของไทย ที่มีหลักการเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดในต่างประเทศอยู่แล้ว


เห็นได้จากการกำหนดว่าหากคนไทยทำผิดในต่างประเทศและถูกศาลต่างประเทศพิพากษาลงโทษในต่างประเทศแล้วเมื่อพ้นโทษจะไม่ต้องมารับผิดในประเทศไทยอีก ในทางกลับกัน หากทำผิดแต่ยังไม่ได้รับการลงโทษในต่างประเทศก็อาจถูกลงโทษในประเทศไทยได้


ปัญหาอยู่ที่เหตุและผล


ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวว่าจากคำวินิจฉัย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า “ร.อ.ธรรมนัส” ต้องพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ แต่ปัญหาอยู่ที่เหตุผลที่ศาลให้มานั้นยังไม่สิ้นสงสัย ไม่เพียงแต่ประชาชนเท่านั้นแม้แต่คนในวงการกฎหมายเองยังรู้สึกคาใจ


โดยเฉพาะประเด็นที่ศาลบอกว่าไม่สามารถเอาคำพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้ได้เพราะความผิดในประเทศอื่นอาจไม่เป็นผิดในประเทศไทย ทั้งที่ข้อเท็จจริงความผิดฐานยาเสพติดนั้นมีความผิดกับทั้งสองประเทศ ประกอบกับ ในมาตรา 5 ของพ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 2534 ยังกำหนดชัดว่า “ผู้ใดกระทําความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแม้จะกระทําในต่างประเทศผู้นั้นจะต้องรับโทษในไทยด้วย” ดังนั้นเหตุผลที่ศาลระบุมาจึงยังฟังไม่ขึ้น


ศาลสามารถตรวจสอบข้อมูลศาลออสซี่ได้


ส่วนประเด็นที่ศาลชี้ว่าหากนำคำพิพากษาของศาลต่างประเทศมาใช้แล้วจะไม่สามารถตรวจสอบหลักนิติธรรมของกระบวนการพิจารณาของศาลได้ ผศ.ดร.ปริญญา มองว่าจริงๆแล้วศาลรัฐธรรมนูญสามารถตรวจสอบขอข้อมูลไปยังศาลออสเตรเลียได้โดยตรงแต่เข้าใจว่าศาลคงไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นหน้าที่ของศาลทั้งๆที่ศาลรัฐธรรมนูญของไทยมีอำนาจมากและคดีนี้เป็นคดีสาธารณชน กลับให้เป็นเรื่องของผู้ร้องและกระทรวงการต่างประเทศราวกับเป็นคดีแพ่ง




ผศ.ดร.ปริญญา มองว่าปัญหาสำคัญตอนนี้คือทำอย่างไรให้คนมองว่าสิ่งที่ตัดสินมายุติธรรมแล้ว เพราะมีหลักวิชากฎหมายที่สอนกันทั่วโลก ว่า “ความยุติธรรมนั้นไม่เพียงแต่ต้องทำให้เกิดขึ้นมา แต่ต้องทำให้คนเขาเห็นด้วยว่าสิ่งที่ทำไปนั้นมันคือความยุติธรรม” และที่ผ่านมาไม่เคยมีความเห็นต่างของประชาชนที่มีต่อศาลได้มากเท่านี้มาก่อน เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญหากศาลคิดว่ายุติธรรมแล้ว แต่ถ้าคนไม่เชื่อว่ายุติธรรมคนก็จะไม่เชื่อถือศาล ทำให้กระทบต่อหลักการการอยู่ร่วมกันในสังคมได้


ดังนั้นศาลอย่าคิดว่ายุติธรรมอย่างเดียวแต่ต้องดูสังคมด้วยแม้กระแสสังคมอาจจะผิดแต่ก็ไม่ควรปฏิเสธการรับฟังสาธารณะทั้งหมด เพราะอำนาจรัฐทุกอำนาจต้องรับผิดชอบต่อสาธารณชนและสังคม


ผศ.ดร.ปริญญา ยืนยันว่าส่วนตัวไม่ขอก้าวล่วงดุลยพินิจที่ศาลใช้ในการวินิจฉัย แต่สิ่งที่กำลังท้วงติงเป็นเรื่องของเหตุผลที่ศาลให้มา และคาดหวังว่าศาลจะให้รายละเอียดในคำวินิจฉัยฉบับเต็มได้ชัดเจนมากขึ้น อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังสะท้อนในมุมบวกที่ทำให้เห็นความตื่นตัวของประชาชนแสดงออกในสิ่งที่ไม่เห็นด้วยได้อย่างชัดเจนและเชื่อว่าศาลเองก็ควรรับฟัง เพราะศาลไม่ได้หลุดพ้นไปจากการตรวจสอบของสาธารณะ


(คอลัมน์ “ใต้เตียงการเมือง” by ARMdhiravath)



คุณอาจสนใจ

Related News