เลือกตั้งและการเมือง

สภาฯ พิจารณาญัตติด่วน ปม 'อุดม' เย้ยยุบพรรค ผิดจริยธรรมผู้พิพากษาหรือไม่

โดย panwilai_c

22 ส.ค. 2567

23 views

วันนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติ ตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณของ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่มีการบรรยายในพื้นที่สาธารณะแล้วเกี่ยวข้องกับการยุบพรรคก้าวไกล ว่าเป็นไปตามจรรยาบรรณและจริยธรรมของผู้พิพากษาหรือไม่



ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ได้เสนอญัตติด่วนด้วยวาจา เรื่องขอให้สภาพิจารณาเกี่ยวกับการแสดงออกของผู้ดำรงตำแหน่งขององค์กรตุลาการในเวทีสาธารณะ และการปฎิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระ เพื่อให้ส่งข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาดำเนินการต่อไป



โดยนายณัฐพงษ์ อภิปรายหลักการในการเสนอญัตติว่า สืบเนื่องจากข่าวเมื่อวานนี้ ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคม กรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง ขึ้นไปบรรยายเวทีสาธารณะที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการแสดงความคิดเห็นถึงพรรคประชาชนโดยตรงว่า ต้องขอบคุณท่านที่ยุบพรรคก้าวไกล จนนำมาสู่การที่พรรคประชาชนได้รับเงินบริจาคสูงถึง 20 ล้านบาท



โดยนายณัฐพงษ์ ได้อ่านมาตรฐานทางจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 2 ว่าด้วยจริยธรรมอันเป็นค่านิยม ว่า ข้อที่ 13 บัญญัติไว้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรมเป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ และข้อ 17 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่ทำการใดๆให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์และการดำรงตำแหน่ง



ขณะที่นายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาเรื่องเดียวกัน เสนอหลักการว่า Balance of Power นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ถ่วงดุลกัน เรากำลังทำหน้าที่ถ่วงดุลกับฝ่ายตุลาการ เรามีคดีความ ท่านตัดสินยุบพรรค ประหารชีวิตนายกรัฐมนตรี 5:4 คนหนึ่งเอียงไปทางไหน คนนั้นชนะ วันนี้จะต้องหาทางร่วมกันในการแก้รัฐธรรมนูญ และวิธีพิจารณาความตามอำนาจหน้าที่ของท่านต่อไป



นายอดิศร ยังระบุว่าอยากให้ตุลาการนิติบัญญัติและบริหารทำหน้าที่ของตัวเอง อย่ายกตนข่มท่าน ยืนยันว่าไม่ได้มีข้อขัดแย้งกับตุลาการทั้งหมดมีเรื่องแค่เฉพาะบุคคล วันนี้สภาทรงเกียรติไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลเราเป็นฝ่ายนิติบัญญัติด้วยกัน เป็นผู้เสียหายร่วมกัน จะต้องปกปักรักษา



หลังการออภิปรายเสร็จสิ้น นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าจากการอภิปรายเห็นตรงกันว่าจะส่งเรื่องและข้อสังเกตไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อดำเนินการต่อไป และสั่งปิดการประชุม



ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ข้อความผ่านสื่อสังคมออนไลน์กรณี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ถูกร้องเรียนเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ตามข้อกฎหมายต้องร้องเรียนไปที่ ปปช.และหากมีความผิดร้ายแรงต้องส่งให้ศาลฎีกาตัดสิน



ส่วนที่มาของกรณีนี้มาจากการเผยแพร่คลิปที่นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บรรยายเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา จนทำให้ถูกตั้งคำถามเรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หมวดจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อ 17 ระบุว่าต้อง "ไม่กระทำการใด ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง และ ข้อ 23 ต้อง "ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเต็มใจ โปร่งใส ปราศจากอคติและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คุณอาจสนใจ

Related News