เลือกตั้งและการเมือง

ถอดบทเรียน เลือกสว.ระดับอำเภอ หวังสร้างความโปร่งใส-เท่าเทียม สู่การเลือกระดับจังหวัด

โดย panwilai_c

11 มิ.ย. 2567

71 views

ก่อนจะมีการเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับจังหวัดในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ผู้สมัคร สว.ที่ตกรอบ ออกมาสะท้อนปัญหาเพื่อถอดบทเรียนให้การเลือกในระดับจังหวัดโปร่งใส รวมถึงเครือข่าย Senate 67 และนักวิชาการ ขอให้ร่วมกันตรวจสอบเพื่อป้องกันการล้มกระดานเลือกสมาชิกวุฒิสภาชุดใหม่



เครือข่าย Senate 67 จัดเวทีฟังประสบการณ์จากผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาที่ตกรอบในระดับอำเภอ โดย นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw เปิดเผยว่า พบปัญหาในการเลือกระดับอำเภออยู่มาก จึงอยากให้ผู้สมัครมาถ่ายทอดบทเรียนด้วยตัวเอง



โดย นายสากล พูนกลาง ผู้สมัคร สว.กลุ่มอิสระ อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ตั้งข้อสังเกตถึงพฤติการณ์ที่อาจเข้าข่ายการฮั้วและจัดตั้ง เนื่องจากมีข้อมูลพบว่าผู้สมัครส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม อสม. สตรี และประกอบอาชีพเกษตรกรรม บางคนรู้จักกันมาก่อน และมีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำว่าให้สมัครกลุ่มไหน



นางสาวพนิดา บุญเทพ ผู้สมัคร สว.กลุ่มประชาสังคม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พบว่าผู้สมัครมีการมากันเป็นกลุ่ม และในการแนะนำตัว ไม่คุยกับคนอื่น มีการเลือกกันเองจนผ่านเข้ารอบ เช่นเดียวกับ นางสาวพัชรี พาบัว ผู้สมัคร สว.กลุ่มประชาสังคม อ.เมือง จ.ลพบุรี พบว่าผู้สมัครบางคนคุณสมบัติไม่ตรงกับใบสมัคร



ด้าน นางสาวณัฏฐธิดา มีวังปลา ผู้สมัคร สว.กลุ่มสาธารณสุข อ.เมือง จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า เนื่องจากเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง ทำให้ถูกตรวจสอบอย่างน่าสงสัย



ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มองว่าระบบการเลือก สว.และการปฏิบัติของ กกต.ทำให้การเลือก สว.มีความยุ่งยาก รวมถึงกรณีที่ กกต.ตัดสิทธิผู้สมัครโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 38 ราย แต่ต่อมาศาลฎีกาให้คืนสิทธิกับผู้สมัครเหล่านี้ จึงหวังว่าในการเลือกระดับจังหวัดจะสร้างความเท่าเทียมอย่างแท้จริง ต้องให้การเลือกมีคุณภาพชนะการเลือกฮั้วให้ได้



รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ยอมรับว่าการเลือก สว.ครั้งนี้มีการฮั้วจริง แต่ไม่ใช่ทุกพื้นที่ พื้นที่ที่ฮั้วมากคือพื้นที่ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลเครือข่ายนักการเมืองเก่า ลัทธิศาสนา กลุ่มทุนผูกขาด และ กอ.รมน. แต่ประชาชนมีสิทธิตรวจสอบการเลือก สว.เพื่อให้ กกต.ปรับปรุง แม้มีบางกลุ่มที่พยายามอาศัยข้อบกพร่องของการเลือกเพื่อล้มการเลือก สว.



ดร.ปุรวิชญ์ วัฒนสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คาดหวังว่า กกต.ต้องให้ประชาชนเข้าไปสังเกตการณ์ได้มากที่สุด และอยากให้มีมาตรฐานเดียวกันมากที่สุด

คุณอาจสนใจ

Related News