เลือกตั้งและการเมือง
'ส.ว.กิตติศักดิ์' ย้ำจุดยืนไม่โหวต 'พิธา' เป็นนายกฯ ล้านเปอร์เซ็นต์ - 'วันชัย' เผยตอนนี้ส.ว. แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
โดย parichat_p
23 พ.ค. 2566
96 views
ต้อนรับเข้าสู่เวลาข่าวของท่านกับข่าว 3 มิติ วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม วันนี้มีการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1 แต่ สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความเห็นถึงการเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ และนายวันชัย สอนศิริ ที่ยังยืนยันจุดยืนเดิม และเปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.ว.มีการแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ด้านแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จัดเสวนา เรียกร้องจุดยืนส.ว.ในการเคารพมติของประชาชน
นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา ยังคงยืนยันจุดยืนในการไม่เลือก นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ล้านเปอร์เซ็นต์ เพราะนายพิธา และพรรคก้าวไกล จะแก้ไขมาตรา 112 ที่จะนำมาสู่ความขัดแย้งของคนไทย แม้จะไม่อยู่ในบันทึกความเข้าใจหรือ MOU พรรคร่วมรัฐบาล
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ขณะนี้ ส.ว.แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก ส.ว.ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะเลือก หรือไม่เลือก ซึ่งมีไม่มากนัก กลุ่มที่ 2 ส.ว.กลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจรอเวลา และกลุ่มที่ 3 ส.ว.อยู่ระหว่างการพิจาณาและตัดสินใจในวันโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งกลุ่ม 2-3 มีจำนวนมาก เป็นกลุ่มที่สงวนท่าที และดูสถานการณ์ก่อนจึงค่อยตัดสินใจ
ส่วนพรรคก้าวไกลจะต้องมาทำความเข้าใจกับ ส.ว.หรือไม่ คงเป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องหาวิธีการ เชื่อว่าจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนจนตกลงกันได้ ส่วนตัวตัดสินใจมาตั้งแต่ต้นว่าจะโหวตให้ผู้ที่รวบรวมเสียงข้างมากได้ ไม่เปลี่ยนแปลง
น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มราษฎร เปิดเผยก่อนที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม จะมาจัดเวทีเสวนาที่หน้าอาคารรัฐสภา มองว่า กิจกรรมวันนี้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในวันที่มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อเป็นการเรียกร้องให้ ส.ว.ร่วมโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับที่ 1 ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้กดดันสมาชิกวุฒิสภาแต่อย่างใด ซึ่งหากนายพิธา ไม่ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนจะออกมาชุมนุมหรือไม่ นางสาวภัสราวลี มองว่า เป็นสิทธิในการแสดงออกของประชาชน
สำหรับการเสวนาของ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม มีการพูดคุยในหัวข้อ " ส.ว. ต้องไม่สวนมติประชาชน" โดยนักวิชาการมาร่วมด้วย เช่น รศ.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ อุเชนทร์ เชียงเสน ย้ำถึงที่มาของ ส.ว. แม้จะมาตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่เป็นผลพวงจากการสืบทอดอำนาจ และยังมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย หาก ส.ว.จะเลือกนายกรัฐมนตรีมาจากเสียงข้างมาก จะถือเป็นการไถ่บาปให้กับ ส.ว.ที่ผ่านมาได้ จึงอยากให้เคารพเสียงของประชาชน
แท็กที่เกี่ยวข้อง ส.ว.กิตติศักดิ์ ,พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ,นายกรัฐมนตรี ,วุฒิสภา