เลือกตั้งและการเมือง

นิด้าโพล ‘เศรษฐา’ คะแนนขยับขึ้นเร็ว ‘อุ๊งอิ๊ง’ ยังนำอันดับ 1

โดย attayuth_b

16 เม.ย. 2566

137 views

การเมืองวันนี้ มีผลสำรวจของนิด้าโพล เรื่อง "ศึกเลือกตั้ง 2566 ครั้งที่ 2" เป็นการสำรวจคะแนนนิยมจากประชาชน กลุ่มตัวอย่าง 2,000 คน พบว่า บุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 ยังเป็น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 35.70 รองลงมาคือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล ร้อยละ 20.25 อันดับ 3 ยังเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 13.60 ส่วนอันดับ4 ร้อยละ 6.10 ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ขณะที่ อันดับ 5 ร้อยละ 6.05 คือ นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทย


สำหรับนายเศรษฐา ถือว่ามีคะแนนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด จากผลสำรวจครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม ตอนนั้นนายเศรษฐา อยู่ในอันดับล่างๆ ไม่ติดอยู่ใน10อันดับ แต่หลังมีการประกาศตัวเป็นแคนดิเดตอย่างเป็นทางการ ผลสำรวจก็เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล มีคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น ครั้งนี้ได้ ร้อยละ 20.25 จากผลสำรวจครั้งที่ 1 ได้ร้อยละ 15.75 ขณะที่ น.ส.แพทองธาร แม้ว่ายังรั้งอันดับ 1 แต่คะแนนนิยมกลับลดลง ครั้งนี้ได้ ร้อยละ 35.70 จาก ครั้งที่1 ได้ ร้อยละ 38.20 ส่วนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คะแนนนิยมครั้งนี้ ก็ลดลงต่อเนื่อง ได้ ร้อยละ13.60 จากผลสำรวจครั้งที่1 ได้ ร้อยละ 15.65


ขณะที่คะแนนนิยม ส.ส.ของแต่ละพรรค ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับหนึ่งยังคงเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ2 พรรคก้าวไกล อันดับ 3พรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 พรรคประชาธิปัตย์ และอันดับ5 พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเมื่อเทียบกับผลสำรวจครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม พบว่า พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิใจไทย มีคะแนนนิยม เพิ่มขึ้น ในขณะที่พรรคอื่นๆลดลง


นายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงผลโพลที่ ออกมาในช่วงนี้ว่า อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่ ผลโพลไม่ใช่ผลการเลือกตั้ง ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าคะแนนพลิกกันในชั่วข้ามคืน ถ้ายังจำกันได้ เรื่องความสงบ จบที่ลุงตู่ครั้งนั้นครั้งนั้นสร้างปรากฎการณ์ที่คนตัดสินใจในเวลาไม่นานมาเลือกให้ลุงตู่ เป็นนายกฯ ฉะนั้นอย่าประมาท


ส่วนพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่คะแนนนิยมลดลงเช่นกัน วันนี้ก็พูดถึงผลโพลที่ออกมา ว่าไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร กลับกันจะยิ่งกระตุ้นให้พรรคเร่งทำงานมากขึ้น เพราะ ผลโพลบ่งชี้ความต้องการของประชาชนได้เพียงระดับหนึ่ง แต่ของจริงคือการลงพื้นที่ ทั้ง 400 เขตทั่วประเทศ เชื่อว่าจะได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน


ผู้สื่อรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้ประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตทั่วประเทศ จำนวน 4,781 คน รวม 70 พรรค นอกจากนี้ กกต.ยังได้ประกาศผู้สมัคร ที่ขาดคุณสมบัติ 31 จังหวัด จำนวน 71 คน ทำให้เหลือผู้สมัครทั้งสิ้น 4,710 คน


สำหรับผู้สมัครที่ถูกประกาศว่าขาดคุณสมบัติ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ประกาศรายชื่อ

คุณอาจสนใจ

Related News