สังคม

จับตาทางออก คอนโดแอชตัน-อโศก ทุบทิ้งหรือไปต่อ หลังศาลขีดเส้นจบปัญหาใน 180 วัน

โดย panwilai_c

25 พ.ย. 2565

1.6K views

ความคืบหน้ากรณีคอนโดมีเนียมใจกลางกรุงเทพชื่อแอชตัน อโศก มูลค่ารวม 6 พันล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ศาลปกครองมีคำพิพากษา ตามที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เป็นโจทก์ฟ้อง ให้เพิกถอนใบอนุญาตอาคารนี้ ที่ก่อสร้างผิด พรบ.ควบคุมอาคาร เพราะคอนโดไม่มีทางเข้าออกที่กว้างตามที่กฎหมายกำหนด แต่ไปใช้ทางร่วมกับ รฟม. ซึ่งกรณนี้ สยามสมาคม ที่เป็นคู่กรณี ก็ยื่นฟ้องให้ทุบคอนโดนี้



แต่ล่าสุด ศาลปกครองกลางพิพากษาว่าให้ผู้ถูกฟ้องร่วมกันหาทางออกที่ถูกกฎหมาย ภายใน 180 วัน โดยเฉพาะหาทาง เข้าออกที่มีความกว้างตามกฎหมายกำหนด และต้องได้ถนนนั้นมาอย่างถูกระเบียบ ไม่เช่นนั้นต้องทุบอาคารจาก 51 ชั้น ให้เหลือไม่เกิน 8 ชั้น ตามที่กฎหมายจะอนุญาต ได้ ล่าสุด ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ สั่งตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อแก้ปัญหานี้แล้ว



ทีมกฎหมายของนิติบุคคลคอนโดมีเนียมแอชตัน อโศก ยอมรับว่าคำพิพากษาศาลปกครองกลางเมื่อวาน เป็นทิศทางที่ดีสำหรับเจ้าของร่วมหรือเรียกว่าลูกบ้านของอาคารนี้ ที่จะ ไม่ต้องถูกทุบอาคารในทันทีตามคำยื่นฟ้อง เพราะโดยนัยยะคือการที่ศาลเห็นความเดือดร้อนของผู้ซื้อ จึงให้ผู้ถูกฟ้องคือ กทม. สำนักงานเขตวัฒนา รวมถึง บริษัทอนันดา และรฟม.ร่วมกันหาทางออกที่ถูกกฎหมายก่อน



คำพิพากษาศาลปกครองเมื่อวาน เป็นกรณีที่สยามสมาคมซึ่งต้้งอยู่ด้านหน้าอาคารนี้ฟ้องว่าได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างหลายประการ อีกทั้งชี้ให้เห็นว่า เดิมทีเดียว คอนโดฯ ไม่มีทางเข้าออกที่มีความกว้างเกิน 12 เมตร ที่เป็นกรรมสิทธ์เป็นของตัวเอง แต่ไปใช้ถนนทางเข้าลานจอดรถของ รฟม.สถานีสุขุมวิท ซึ่ง การอนุญาต ของ รฟม.อาจไม่ถูกต้อง จึงฟ้องให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างและให้ทุบอาคารนี้



อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนได้ฟ้องให้เพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษาให้ถอนใบอนุญาตไปแล้ว แต่คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด



สำหรับประเด็นทางเข้าออก สำหรับอาคารสูงเกินกว่า 8 ชั้น ที่ต้องมีทางเข้าออกเกินกว่า 12 เมตร นั้น ทีมกฎหมายของนิติบุคคลฯ ระบุว่าผู้สร้างคอนโดต้องหาทางเข้า-ออกที่ถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะซื้อเอง หรือจะเจรจากับ รฟม.ตามขั้นตอนที่ถูกระเบียบ



คำพิพากษาสั่งให้ผู้ถูกฟ้องหาทางออกที่ถูกกฎหมายภายใน 180 วัน ซึ่งจะนับเวลาดังกล่าวก็ต่อเมื่อคดีถึงที่สุด และหากหาทาเข้าออกตามข้อกำหนดไม่ได้ ก็ต้องรื้อถอน ตั้งแต่ชั้นที่ 9 ขึ้นไปถึงชั้น 51 เพื่อให้เหลือไม่เกิน 8 ชั้น ตามที่พ.ร.บ.ควบคุมอาคารกำหนดไว้อย่างไรก็ตาม เฉพาะอาคารจอดรถตึกนี้ก็สูง 9 ชั้น แล้ว



ล่าสุดนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ มอบให้นายวิษณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่ากมท. เชิญประชุมร่วมระหว่างสำนักการโยธา กรุงเทพฯ สำนักงานเขตวัฒนา เพื่อจะประชุมร่มกับ รฟม. เจ้าของพื้นที่สถานีสุขุมวิท รวมถึงบริษัทอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ผู้ก่อสร้างคอนโด และตัวแทนผู้ซื้อ เพื่อหาทางออกร่วมกัน



กรณีนี้ถูกจับตามอง ไม่ใช่เพราะเป็นโครงการใหญ่ที่มีมูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท แต่เพราะมีโครงการลักษณนี้อีกอย่างน้อย 14 โครงการที่ใช้ทางเข้าออก ร่วมกับพื้นที่ของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะเกิดขึ้นตามแนวคิดเมืองที่เติบโตตามแนวระบบราง หรือ TOD การแก้ปัญหานี้ จึงมีผลต่อทิศทางของโครงการอื่นๆด้วย

คุณอาจสนใจ