เลือกตั้งและการเมือง

เพื่อนเฉลย “วันเฉลิม” ถ่ายภาพ “ชัชชาติ” หิ้วถุงแกง ยังหวัง พ.ร.บ.อุ้มหาย เป็นหนทางสู่ความยุติธรรม

โดย pattraporn_a

4 มิ.ย. 2565

235 views

ครบรอบ 2 ปี วันเฉลิมถูกอุ้มหาย พร้อมชูเป็นสัญญลักษณ์การต่อสู้ทางการเมือง ครอบครัวเปิดเผยยังไม่มีความคืบหน้าทางคดี กลุ่มเพื่อนเผยเสียดายวันเฉลิมเป็นนักกิจกรรมสร้างสรรค์เจ้าของภาพถ่ายมีมในตำนานของชัชชาติ ขณะที่ยังหวัง พ.ร.บ.อุ้มหาย เป็นหนทางสู่ความยุติธรรม 


กลุ่มเพื่อนตาร์ ร่วมกับจุดเทียนเพื่อแสดงเจตนารมณ์ถึงการเรียกร้องความยุติธรรม ทวงคืนสิทธิมนุษยชนให้กับนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกอุ้มหายจากหน้าที่พักกลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ผ่านมา 2 ปี นางสาวสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาว เปิดเผยว่า นอกจากไม่รู้ชะตากรรม ไม่มีความคืบหน้าทางคดีทั้งจากศาลกัมพูชา และทางอัยการ รวมถึงดีเอสไอของไทย กลับพบว่า วันเฉลิมถูกทำให้หายซ้ำ จากการถูกลบเฟสบุ๊ค ไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา


นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เห็นว่าเฟสบุ๊คของวันเฉลิมเป็นพยานหลักฐานสำคัญที่ยืนยันความมีตัวตนของวันเฉลิมในกัมพูชา จึงเรียกร้องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและหาคำตอบเรื่องนี้ และตั้งคำถามไปถึงพยานหลักฐานที่ยื่นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ถูกนำมาเปิดเผยหรือขยายผลกลายการบังคับให้สูญหายแม้กระทั่งหลักฐาน


ในขณะที่วงเสวนา 2 ปีการหายไปของวันเฉลิม มีกลุ่มเพื่อนที่เคยเป็นนักกิจกรรมมาร่วมพูดถึงวันเฉลิมตั้งแต่ทำงานด้านเยาวชน และมาแสดงความเห็นทางการเมือง เช่นนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ร่วมทำงานก่อนการรัฐประหาร มองว่า วันเฉลิม เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีอารมณ์ขัน มีความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่ใช้บุคคลอันตราย แต่การถูกบังคับให้สูญหายของวันเฉลิม กลับจุดประกายสังคมไทยให้ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา


และเมื่อทราบจากกลุ่มเพื่อนว่า วันเฉลิม เป็นคนถ่ายภาพ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถือถุงแกง จนกลายเป็นภาพมีมในตำนานรัฐมนตรีที่แข็งแกร่งในปฐพี ยิ่งตอกย้ำถึงการสูญเสียนักคิดสร้างสรรค์คนหนึ่ง แต่กลายเป็นภาพสะท้อนกลับว่ามาถึงวันนี้ วันเฉลิมก็กลายเป็นมีมของการเรียกร้องไม่ให้ถูกอุ้มหาย


เช่นเดียวกับ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่เคยพบวันเฉลิมที่ประเทศกัมพูชา ยืนยันว่าในปี 2560 วันเฉลิมเคยพาเขาและเพื่อนเที่ยวในกัมพูชา และในปี 2563 ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ เพนกวินก็เคยพบกับวันเฉลิมที่หน้าที่พักในกรุงพนมเปญ การสูญหายของวันเฉลิมจึงเป็นสิ่งที่ทำให้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องว่าไม่ควรมีใครต้องถูกอุ้มหาย หรือเสียชีวิต หรือต้องลี้ภัยจากการเห็นต่างทางการเมือง


ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม เปิดเผยว่า เขารู้จัก วันเฉลิม ตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร เมื่อเห็นเขาต้องลี้ภัยหลังรัฐประหารปี 2557 ทำให้เป็นห่วงความปลอดภัยจนกระทั่งมาถูกอุ้มหาย ยิ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเขาใช้บทบาทการเป็น ส.ส.ร่วมผลักดัน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ที่ผ่านสภาฯไปแล้ว อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ส.ว.ที่มีการแก้ไขในสาระสำคัญที่เป็นห่วงว่าสุดท้าย กฏหมายที่รอคอยมา 15 ปี อาจะไม่สามารถผ่านความเห็นจากรัฐสภาชุดนี้


นางสาวปิยะนุตร โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ประเทศไทย คาดหวังว่ากิจกรรมวันนี้จะทำให้สังคมร่วมติดตามการหายไปของวันเฉลิม และบุคคลที่ถูกอุ้มหาย ที่ยังรอคอยความยุติธรรม เช่นเดียวกับครอบครัวที่ยังคาดหวังว่าจะได้รู้ว่าความจริงว่าใครเป็นผู้กระทำให้วันเฉลิมสูญหาย

คุณอาจสนใจ

Related News