เลือกตั้งและการเมือง

ซักฟอกวันสุดท้ายเดือด! รมต.ดาหน้าโต้ทุกประเด็น ด้าน 'ประยุทธ์' ลั่นไม่ลาออก

โดย panwilai_c

18 ก.พ. 2565

47 views

การอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติวันที่ 2 พรรคร่วมฝ่ายค้านลงรายละเอียดในการอภิปรายความล้มเหลวของรัฐบาล ที่บรรดารัฐมนตรี ต่างออกมาชี้แจง ทั้งการจัดการโควิด การต่อสัมปทานรถไฟฟ้า โรคระบาดเอเอสเอฟ ราคาหมูแพง และข้อพิพาทเหมืองทองอัครา ที่นายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่ลาออก และล่าสุดถือว่าเข้มข้นกรณีการจัดการการค้ามนุษย์กับการซื้อขายตำแหน่งตั๋วช้าง แต่นายกรัฐมนตรีไม่ตอบ จนทำให้นายรังสิมันต์ โรม ต้องวอล์คเอ้าท์ ออกจากห้องประชุมสภา



นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกล เดินออกจากห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภา ในฐานะประธานที่ประชุมวินิจฉัยให้ออกนอกห้องประชุม หลังทำผิดข้อบังคับไม่ถอนคำพูดว่า อำมหิต จากการอภิปราย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรฐมนตรี



ซึ่งนายรังสิมันต์ อภิปรายชำแหละขบวนการค้ามนุษย์ ตั้งแต่รัฐบาล คสช.ถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถยกระดับไทยออกจากทิปรีพอร์ตได้ โดยเฉพาะการค้ามนุษย์ ชาวโรฮิงญา ที่ทำให้ พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 8 ที่ทำคดีนี้จนมีผู้องหาเกือบร้อยคนเกี่ยวข้องทั้งนักการเมืองท้องถิ่น ตำรวจและทหาร นำโดย พลโท มนัส คงแป้น แต่สุดท้ายต้องขอลี้ภัยไปต่างประเทศ เพราะถูกโยกย้ายให้ไปจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีข้อเสนอที่ พลตำรวจตรีปวีณ กลัวว่าจะได้รับอันตรายถึงชีวิต ในขณะที่คดีค้ามนุษย์ ที่พลโทมนัส พยานปากสำคัญเสียชีวิตในเรือนจำก็อาจมีพิรุธ



ประเด็นเรื่องการปกปิดข้อมูลการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายในสภา แต่นายกรัฐมนตรีไม่ยอมรับถึงการระบาดทั้งๆที่มีหลักฐานที่ได้มาจากนักวิชาการ สัตวแพทย์ และเจ้าของฟาร์มมาเรื่อยๆ ทำให้พรรคก้าวไกล เตรียมดำเนินการกับข้าราชการที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ไม่ประกาศโรคระบาด ดำเนินคดีมตรา 172 กฎหมายปปช.กับรัฐมนตรี ที่ละเลยปฏิบัติหน้าที่ และยื่นเรื่องต่อปปช. กรณีรัฐปกปิดโรค และจะให้ประชาชนที่เสียหายได้ฟ้องทางแพ่งกับ พลเอกประยุทย์ นายจุรินทร์ ลัษณวิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์



นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่มีการปกปิดโรค ASF อย่างแน่นอน เพราะโรคนี้เกิดข้นมา 101 ปีแล้ว และเริ่มระบาดในจีนเมื่อปลายปี 61 ใช้เวลา 6 เดือน ทำลายหมูไป 300-500 ล้านตัวในจีน djvoเกิดที่เวียดนาม ทำลายหมูไป 10 ล้านตัวเศษใน 3 เดือน จนลามมาในประเทศไทย ที่มีมาตรการป้องกันมาได้ 3 ปี จนได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่ป้องกัน ASF ได้ดีที่สุดในอาเซียน ซึ่งเกษตรกรรายย่อยทราบดี และรัฐบาลได้ชดเชยอย่างเต็มที่



นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่ารัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาหมูแพงได้ดีขึ้น ภายใน 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งการเร่งผลิตหมูเข้าสู่ระบบตลาด เดือนละ 3 แสนตัว อาจใช้เวลา 5 เดือน - 1 ปี ก็สุดแล้วแต่ คาดว่าราคาจะเข้าสู่ดุลยภาพมากขึ้น ขณะที่ธกส.จัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขพิเศษ ให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยหันกลับมาเลี้ยงหมูด้วยเงินกู้วงเงิน 3,000,000 บาท และกระทรวงพาณิชย์ ห้ามส่งออกหมู 3 เดือน ตั้งแต่ 6 ม.ค. - 5 เม.ย. เพื่อให้หมู 1,000,000 ตัว/ปี กลับเข้าสู่ระบบ



อีกประเด็นร้อนที่เรียกได้ว่าพรรคเพื่อไทยนำมาอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นครั้งที่ 4 แล้วคือข้อพิพาทกรณีเหมืองทองอัครา น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามถึงนายกรัฐมนตรีกรณีที่ไทยมีโอกาสแพ้คดีสูงมาก จนทำให้ไทยต้องเสียค่าโง่จำนวนกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการเลื่อนชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการถึง 3 ครั้ง ท่ามกลางการได้รับสิทธิประโยชน์ที่ส่งสัยว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ยอมความหรือไม่ เช่น การให้บริษัทคิงส์เกต นำผงเงิน ผงทองคำที่ถูกอายัดไปขาย และการให้สิทธิสำรวจแร่อีกกว่า 4 แสนไร่ และให้สิทธิต่อประทานบัตรอีก 4 แปลง และในที่สุดหากไทยแพ้คดี ใครจะเป็นคนต้องรับผิดชอบระหว่างประยุทธ์ หรือ ประเทศ



พลเอกประยุทธ์ จึงต้องมาชี้แจงยืนยันว่า การออกใบอนุญาตเพิ่มให้ บริษัทอัครา เป็นไปตามกฏหมาย พ.ร.บ.เหมืองแร่ ปี 2560 รวมถึงการต่อใบอนุญาต เป็นไปตามกรอบสัมปทานที่มีอยู่ ไม่ได้เป็นการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลทั้งสิ้น ซึ่งการฟ้องร้องของคิงส์เกตมาจากความ เข้าใจผิดว่า รัฐจะยึดเหมืองเป็นของประเทศ จะยึดกิจการเป็นของรัฐ จึงคิดว่าไม่เป็นธรรม และถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น คงไม่ใช่ตนเองคนเดียวที่ต้องรับผิดชอบเพราะต้องย้อนกลับไปถามว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นในรัฐบาลไหน พร้อมย้ำว่าแม้จะมีการยื่นใบลาออกให้กลางสภา แต่ยืนยันไม่ลาออกอย่างแน่นอน



ขณะที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า การให้สัมปทานบริษัทเหมืองทองอัครา เกิดขึ้นในรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 และการอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ไม่ได้แลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องคดี รวมถึงการเลื่อนชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ก็เพราะสถานการณ์โควิดและข้อตกลงของสองฝ่าย ที่ยืนยันว่าไทยจะไม่เสียผลประโยชน์อย่างแน่นอน

คุณอาจสนใจ

Related News