สังคม

บริษัทรับทำเสื้อเกราะ แจง ไม่มีเสื้อเกราะไม้อัดในไทย คาดมีเจตนาทำให้สังคมเข้าใจผิด

โดย parichat_p

22 ก.ค. 2567

51 views

จากกรณีที่มีเพจเฟซบุ๊กอยากดังเดี๋ยวจัดให้โพสต์ภาพเสื้อเกราะ ที่มีตราสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่แผ่นเกราะด้านในพบเป็นวัสดุคล้ายไม้อัด ล่าสุดทีมข่าวอาชญากรรมลงพื้นที่คุยกับบริษัทผลิตเสื้อเกราะ ยืนยันตั้งแต่ทำธุรกิจนี้มาไม่เคยเห็นเสื้อเกราะแบบนี้


ทีมข่าวนำภาพดังกล่าวไปให้นาย วิวรณ์ มีชูธน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโวสตาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยุทธภัณฑ์รายใหญ่ของไทย ดูเพื่อขอความเห็น ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า น่าจะเป็นภาพที่จงใจทำขึ้น อาจมีเจตนาทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนหรือทำให้สังคมเข้าใจผิด เพราะเสื้อเกราะโดยปกติจะเป็นทรงเหลี่ยม และมีแผ่นกันกระสุนติดแน่นอยู่ด้านใน แต่เสื้อที่นำมาโชว์นี้คาดว่าน่าจะหมดอายุ แล้วถูกจำหน่ายออกจากสารระบบไปแล้วนานแล้ว เพราะเลขล็อตระบุวันที่ 31 สิงหาคม 2011 หรือ 2554


คนที่ทำอาจจะเลาะแผ่นกันกระสุนออกแล้วใส่ไม้อัดแทน และตัดช่วงไหล่ออก เพื่อให้ใส่ได้คล่องตัวขึ้น บริเวณขอบก็ไม่มีการหุ้ม แตกต่างกับของที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติใช้ แสดงให้เห็นว่ามีคนตัดออกไป ที่สำคัญวัสดุไม้ที่เห็นในภาพ น่าจะเป็นวัสดุแบบเดียวกับพื้นไม้โต๊ะที่วางเกราะอยู่ด้วย ส่วนตัวเชื่อว่าผู้ที่ทำต้องมีฝีมือและความเชี่ยวชาญ และเชื่อว่าอาจจะจงใจทำเพื่อสร้างความเข้าใจผิดในสังคม


เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นไปได้ไหมที่จะดัดแปลงเกราะโดยใช้ไม้อัดใส่แทน เพื่อขายให้กับหน่วยงานราชการ นาย วิวรณ์ บอกว่าการตรวจรับของหน่วยงานราชการเข้มงวดมาก มีกรรมการตรวจรับและสุ่มทดสอบ


นอกจากนี้ได้อธิบายถึงแผ่นเกราะที่มีความแตกต่างกัน คือ หากเป็นแผ่นเกราะแบบ Stand alone เฉพาะแผ่นเกราะอย่างเดียวต้องสามารถป้องกันอาวุธสงครามได้ตามมาตรฐาน คือ ต้องยิงไม่ทะลุ รอยยุบตัวบนพื้นผิวเกราะที่เกิดขึ้นจากแรงอาวุธต้องไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งแผ่นนี้สามารถใส่เข้าไปในเสื้อเกราะเพื่อเพิ่มการป้องกันได้


ส่วนแผ่นเกราะอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า in-conjunction ที่นำมาสวมกับเสื้อเกราะที่มีแผ่นเกราะอ่อนอยู่รอบตัวก็จะสามารถป้องกัน สะเก็ดระเบิดได้ แต่แผ่นเกราะหรือเสื้อเกราะที่มักขายทั่วไปในโซเชียลมักไม่ได้มาตรฐาน กันกระสุนได้จริงบ้างไม่ได้บ้าง ผ่านการทดสอบบ้างหรือบางอย่างก็ไม่ได้รับการทดสอบ


นายวิวรณ์กล่าวอีกว่า ปกติราคาแผ่นเกราะแข็งที่จำหน่ายให้กับหน่วยงานรัฐ จะมีราคาตั้งแต่ 20,000 ถึง 40,000 บาทขึ้นอยู่กับมาตรฐานและประสิทธิภาพการป้องกันภัยคุกคาม ส่วนเกราะขายทั่วไปในโซเชียลมีเดีย ราคาตั้งแต่ 4,000-10,000 แต่ถ้าเป็นกรณีมีคนเลาะไปขายราคาจะอยู่ที่แผ่นละ 4,000-6,000 บาท



รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/8WWvP8GwrpU

คุณอาจสนใจ

Related News